TMWเตรียมกู้เงินร่วมทุน2บริษัท ลดต้นทุนความเสี่ยงขยายตลาด


ผู้จัดการรายวัน(9 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

TMW เตรียมใช้กำไรหรือกู้สถาบันการเงิน เพื่อลงทุนใน "มิตซูวา วินาพลาส" ในเวียดนามด้วยสัดส่วน 37.5% เชื่อมีศักยภาพการเติบโต กระจายความเสี่ยงและรองรับลูกค้าในประเทศดังกล่าว พร้อมลงทุนกับ "ซาเชน" ในไทย สัดส่วน 20% ทำธุรกิจแม่พิมพ์เพื่อให้บริการลูกค้าครบวงจร ลดต้นทุน การผลิตแม่พิมพ์และขยายตลาด

นายพชร แก้วนุกูล กรรมการ และผู้จัดการฝ่ายบัญชี บริษัท ไทยมิตซูวา จำกัด (มหาชน) (TMW) แจ้ง มติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 8/2005 เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2548 ว่าบอร์ดอนุมัติให้ร่วมทุนที่ประเทศเวียดนาม ในบริษัท มิตซูวา วินาพลาส จำกัด มีมูลค่าการลงทุน 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 82 ล้านบาท

โดยมีสัดส่วนการลงทุนคือบริษัท มิตซูวาอิเล็กทริค อินดัสตรี จำกัด(บริษัทแม่) ลงทุน 37.5% TMW ถือหุ้น 37.5% และบริษัท มิตซุยแอนด์คัมปนี (ไทยแลนด์) จำกัด ลงทุน 25%

การเข้าร่วมทุนครั้งนี้ เนื่องจาก มองว่าเวียดนามมีศักยภาพในการเติบโต เช่น เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นฐานการผลิตสำหรับลูกค้าในประเทศเวียดนาม และเป็นการกระจายความเสี่ยงไปในประเทศที่ศักยภาพและขยายฐานลูกค้าในเวียดนาม

ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของ บริษัทแม่ กับ TMW คือ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ TMW 22.62 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 56.69% ของทุนที่จดทะเบียนและชำระเต็มมูลค่าแล้ว 199.50 ล้านบาท ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2548 ใน TMW และขนาดของรายการ ที่ใช้ในการพิจารณา 4.49% โดยใช้เกณฑ์มูลค่ารวมของสิ่งตอบแทนและสินทรัพย์รวมสิ้นไตรมาส 2

การลงทุนในเวียดนาม เพื่อรองรับลูกค้าที่ย้ายฐานการผลิตไปที่ประเทศเวียดนาม และ TMW จะได้รับส่วนแบ่งกำไรและรายรับค่าเทคนิค 2% ของยอดขาย ขณะที่บริษัท มิตซูวา อิเล็กทริค อินดัสตรี จำกัด จะได้รับส่วนแบ่งกำไรและค่าการตลาด 3% ของยอดขาย โดย TMW จะใช้เงินลงทุนโดยเครื่องจักรที่มีอายุมากกว่า 5 ปี มูลค่า 30.75 ล้านบาท

โดยการลงทุนดังกล่าว เป็นไปตามนโยบายการลงทุนในต่างประเทศของบริษัท ว่าจะลงทุนในบริษัทร่วมและบริษัทย่อย โดยบริษัทฯ จะลงทุนในต่างประเทศร่วมกับบริษัทแม่ ซึ่ง TMW จะสนับสนุนด้านเทคนิค และได้รับค่าบริการทางเทคนิค 2% ของยอดขาย ขณะที่บริษัทแม่จะสนับสนุนด้านการตลาด และการบริหารและได้รับค่าการตลาด 3% ของ ยอดขาย

ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าว TMW สามารถลงทุนด้วยเครื่องจักรเก่า หรือ เงินทุน โดยจัดหาเงินทุนโดยการกู้ยืม หรือกระแสเงินสดภายในบริษัทฯ ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินของบริษัทฯ และสัดส่วนการลงทุนระหว่าง TMW กับบริษัทแม่ ขึ้นอยู่กับฐานะทางการเงินและผลประโยชน์สูงสุดของทั้งสองบริษัท และเพื่อขจัดความขัดแย้งทางผลประโยชน์จะต้องลงทุนในบริษัทที่จัดตั้งใหม่น้อยกว่า 10% เว้นแต่แสดงได้ว่าการจัดโครงสร้างสร้างการถือหุ้นดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ

โดยบริษัทที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะทำการผลิต เพื่อรองรับลูกค้าในประเทศนั้นๆ เป็นหลัก ซึ่งบริษัทแม่ จะตัดสินใจในเรื่องโครงสร้างบริษัทและเปอร์เซ็นต์ของค่าธรรมเนียม ส่วน TMW จะดำเนินการให้ขอสัตยาบันในการประชุมผู้ถือหุ้น

นอกจากนี้ บอร์ดยังอนุมัติโครงการลงทุนบริษัทร่วมในประเทศไทย เพื่อทำธุรกิจแม่พิมพ์ เนื่องจาก TMW มีนโยบายการให้บริการลูกค้าแบบครบวงจรและต้องการลดต้นทุนการผลิตแม่พิมพ์ ดังนั้น จึงร่วมลงทุนกับ บริษัท ซาเชน จำกัด ซึ่งเป็น ผู้นำในการผลิตแม่พิมพ์ในประเทศไต้หวัน

มูลค่าการลงทุน 3 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 123 ล้านบาท) มีสัดส่วนการลงทุนคือ TMW ลงทุน 20% เป็นเงินประมาณ 24.6 ล้านบาท และบริษัท ซาเชน จำกัด ลงทุน 80% เป็นเงินประมาณ 98.4 ล้านบาท(บริษัท ซาเชน จำกัด ผู้ถือหุ้นเป็นชาวไต้หวัน ไม่มีกรรมการหรือผู้ถือหุ้นหรือผู้มีอำนาจควบคุมจาก TMW)

ขนาดของรายการที่ใช้ในการพิจารณา 3.59% โดยใช้เกณฑ์มูลค่า รวมของสิ่งตอบแทนและสินทรัพย์รวม ณ 30 มิถุนายน 2548 ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนผลิตแม่พิมพ์ลดลง ขยายตลาด แม่พิมพ์ในประเทศไทย และบริษัทจะใช้เงินในส่วนของกำไรสุทธิหรือกู้ยืมจากสถาบันการเงิน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.