กองทุนพลิกกลยุทธ์ลงทุนระยะยาว บลจ.บัวหลวงชิงเปิดตัวธนรัฐ8/50


ผู้จัดการรายวัน(9 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ดอกเบี้ยขาขึ้น บลจ.บัวหลวงพลิกกลยุทธ์เปิดตัวกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น หวังสร้างผลตอบแทนในระดับสูงคืนให้กับผู้ถือหน่วยลงทุน ล่าสุดเตรียมเปิดตัวกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 8/50 มูลค่าโครงการ 3 พันล้านบาท ลงทุนแค่ 1 ปี 9 เดือน คาดให้ผลตอบแทนไม่ต่ำกว่า 4% สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 2 ปี ของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ให้ดอกเบี้ยแค่ 2.75% ต่อปี

รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทเตรียม เปิดขายหน่วยลงทุน กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 8/50 ซึ่งเป็นกองทุนที่มี นโยบายลงทุนในตราสารหนี้ภาครัฐ เช่น ตั๋วเงินคลัง พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทย โดยกองทุนนี้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนไม่น้อยกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก โดยมีมูลค่าโครงการ 3 พันล้านบาท

โดยกองทุนจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ เป็นจำนวนเงินไม่น้อย กว่า 4.00% ต่อปีของเงินลงทุนเริ่มแรก ภายใน 3 เดือนแรก และทุก 6 เดือนถัดไป โดยไม่ต้องเสียภาษี และระยะเวลาการลงทุนเพียง 1 ปี 8 เดือน ถึง 1 ปี 9 เดือน นับตั้งแต่วันจดทะเบียน กองทุน กองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 8/50 จะเปิดขายครั้งเดียวระหว่างวันที่ 15 ถึง 21 พฤศจิกายน 2548 ที่ราคา 10 บาทต่อหน่วย โดยลงทุนขั้นต่ำเพียง 10,000 บาท

สำหรับกองทุนกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 11/49 ถือเป็นกองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล ภายใต้การบริหารงาน ของ บลจ.บัวหลวงที่มีการเปิดตัวภายในปีนี้เป็นกองที่ 3 โดยกองทุนแรกที่เปิดขายคือ กองทุนรวมบัวหลวง ธนรัฐ 10/49 ซึ่งได้รับการตอบรับจาก กลุ่มลูกค้าเงินฝาก โดยมียอดจำหน่าย สูงถึง 9,200 ล้านบาท และเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ได้ปิดยอดขายกองทุนกองทุนรวมบัวหลวงธนรัฐ 11/49 ยอดขายกว่า 5,750 ล้านบาท

รายงานข่าวกล่าวว่า สำหรับกองทุนบัวหลวงธนทวี 10/49 ที่ออกก่อนหน้านี้มีนโยบายลงทุน 1 ปี คาดการณ์ผลตอบแทนอยู่ที่ 3% ต่อปี ส่วนกองทุนบัวหลวงธนรัฐ มีนโยบายการลงทุน 1 ปี คาดการณ์ผลตอบแทนประมาณ 3.25%

"แนวโน้มการออกกองทุนตราสารหนี้ของ บลจ.ในช่วงปลายปีจนถึงกลางปีหน้าคาดว่า กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นที่มีนโยบายลงทุน ในพันธบัตรของรัฐบาล ยังคงได้รับการตอบรับจากนักลงทุน เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก แต่กลยุทธ์ของบลจ.แต่ละแห่งจะมีความแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้จัดการกองทุน แต่ในช่วงกลางปีหน้าคาดว่าการออกกองทุนตราสารหนี้จะให้น้ำหนักกับกองทุนตราสารหนี้ที่มีนโยบายลงทุนในพันธบัตรระยะยาวมากขึ้น หลังจากที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้เริ่มนิ่ง" แหล่งข่าวจากวงการกองทุนกล่าว

สำหรับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 24 เดือน ของธนาคารพาณิชย์ ขนาดใหญ่ 4 แห่งประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ที่เสนอให้กับลูกค้าในปัจจุบัน อัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.75%

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในช่วงนี้นักลงทุนยังคงลังเลที่จะตัดสินใจลงทุนในกองทุนที่มีนโยบายลงทุนในระยะยาว เนื่องจากหลายฝ่ายต่างประเมินว่า ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบาย การเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงปลายปีจนถึงกลาง ปีหน้าจะมีการพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะสั้น (อาร์/พี) 14 วัน เพิ่มขึ้นอีก โดยประเมินว่าในช่วงกลางปีหน้า อัตราดอกเบี้ยอาร์/พี 14 วันจะอยู่ที่ระดับ 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.75% และคาดว่าผล การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในช่วงปลายปี จะพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาร์/พี 14 วัน เป็น 4% เพื่อลดส่วนต่างดอกเบี้ยในประเทศกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐ

"หลังจากที่ดอกเบี้ยอาร์/พี เริ่มนิ่ง นโยบายการลงทุนของ บลจ.จะปรับรูปแบบโดยหันมาลงทุนในระยะยาวมากขึ้น จากเดิมที่เน้นการเปิดตัวกองทุนที่มีนโยบายลงทุนสั้นเพียง 6 เดือน 9 เดือน หรือ 1 ปี เพื่อตอบสนอง ความต้องการนักลงทุนที่ต้องการพักเงินฝากไว้กับกองทุนที่มีนโยบายลงทุนสั้นๆ ก่อนที่จะลงทุนในระยะยาวมากขึ้น หลังดอกเบี้ยเงินฝากเริ่มนิ่ง เพื่อไม่ให้พลาดโอกาสการลงทุน" แหล่งข่าวกล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.