ทรูยึดUBCจัดทัพธุรกิจ


ผู้จัดการรายวัน(8 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ทรูใช้เงิน 6 พันล้านซื้อหุ้นยูบีซี จาก MIH เพื่อเป็นเจ้าของเบ็ดเสร็จ ต่อยอดบริการครบวงจร เป็นเจ้าของโครงข่าย และเนื้อหา เชื่อมโลกโทรคมนาคมกับมีเดียเป็นหนึ่งเดียว ลดปัญหาความซ้ำซ้อนของ ไอพีทีวีกับเปย์ทีวี ไม่ต้องรอว่าจะขอใบอนุญาตจาก กสช .หรือ กทช. เตรียม ถอนจากตลาดหุ้นต้นปีหน้า รับซื้อรายย่อยหุ้นละ 26.50 บาท ทุ่มอีก 400 กว่าล้านบาทซื้อเคเอสซีอินเทอร์เน็ตจากเอ็มเว็บ เผยทำให้โครงสร้างบริษัท ชัดเจน ง่ายต่อการหาพันธมิตรต่างชาติ

วานนี้ (7 พ.ย.) นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการและประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า บริษัท เค.ไอ.เอ็น.(ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ของทรูเข้าซื้อหุ้น บมจ. ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่นหรือยูบีซี จำนวน 231,121,441 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.59 จาก MIH (UBC) Holdings B.V. ในราคารวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 0.649 เหรียญสหรัฐต่อหุ้น)หรือประมาณ 6,000 ล้านบาท

สำหรับ MIH เป็นกิจการสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ในเครือ Naspers บริษัทสื่อข้ามชาติ สัญชาติแอฟริกา ใต้ที่อยู่ในตลาดหุ้น โจฮันเนสเบิร์ก และตลาดหุ้นแนสแด็ค MIH เข้ามาถือหุ้นยูบีซี ตั้งแต่ปี 2540 ในครั้งที่ ยูบีซี ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้รวมกิจการกับไอบีซี ประสบปัญหาการเงินจากวิกฤตเศรษฐกิจ MIH เข้ามาสนับสนุนด้านการเงิน และการปฏิบัติการ

การซื้อหุ้นที่MIH ถืออยู่ทั้งหมด จะทำให้ ทรู ซึ่งปัจจุบันถือหุ้นยูบีซีร้อยละ 40 เป็นผู้ถือหุ้นทั้งสิ้น 70% และจะทำคำเสนอซื้อหุ้น(เทนเดอร์ออฟเฟอร์) ยูบีซี ที่เหลือจากผู้ถือหุ้นยูบีซีรายอื่น ในราคาเสนอซื้อที่ 26.50 บาทต่อหุ้น เพื่อขอเพิกถอนหุ้นสามัญ ของยูบีซี ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) โดยแต่งตั้ง บล. ภัทร จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินของบริษัทฯ ในการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์ และ บล.เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการ เงินอิสระเพื่อการได้มาซึ่งสินทรัพย์

การซื้อหุ้นจาก MIH และผู้ถือหุ้นรายย่อยครั้งนี้ จะใช้เงินทั้งสิ้น 313 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นเงินกู้จากดอยช์แบงก์ 290 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเงินสด 40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากนั้นจะถอนยูบีซีออกจาก ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ในไตรมาสแรกปี 2549 ยูบีซีชี้แจงรายย่อย 6 ธ.ค.

นายสุภกิต เจียรวนนท์ ประธานกรรมการ บมจ. ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า จะจัดประชุมชี้แจงต่อผู้ถือหุ้นและนักลงทุนทั่วไป เพื่อให้ความเห็นเกี่ยวกับการขอเพิกถอนหุ้นสามัญของบริษัทฯ ออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเกี่ยวกับข้อเสนอของผู้ทำคำเสนอซื้อ ในวันที่ 6 ธ.ค. 2548 เวลา 15.00 น. พร้อมกันนี้มีมติให้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 2/2548 ในวันที่ 13 ธ.ค. 2548 โดยคณะ กรรมการบริษัทฯมีความเห็นว่าควรอนุมัติหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ

ทั้งนี้ จะแต่งตั้งให้บริษัทหลักทรัพย์ ซีมิโก้ จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ เพื่อให้ความเห็นต่อผู้ถือหุ้นในส่วนที่เกี่ยวกับการเพิกถอนหลักทรัพย์และการทำคำเสนอซื้อหลักทรัพย์

วานนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯได้แขวน H ห้ามซื้อขายหุ้นหนึ่งรอบของหุ้น บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบมจ. ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น ก่อนจะแขวน "SP" ห้ามซื้อขายหุ้นต่อในรอบบ่ายตามคำ ขอของบริษัทฯ เพื่อให้นักลงทุนได้มีเวลาพิจารณาข้อมูลก่อนการตัดสินใจลงทุน ซื้อหุ้นเคเอสซีจากเอ็มเว็บ

นอกจากนี้ บริษัท ทรู มัลติมีเดีย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของทรู จะซื้อหุ้นทั้งหมดในบริษัท เอ็มเคเอสซี เวิลด์ดอทคอม จำกัด ผู้ให้บริการเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเคเอสซี จาก M-WEB THAILAND HOLDINGS B.V.และ MWEB (THAILAND) LIMITED ซึ่งเป็นธุรกิจอินเทอร์เน็ตของ MIH ในประเทศไทย จำนวนทั้งสิ้น 20,000 หุ้น และรับโอนสิทธิที่บริษัทผู้ขายทั้งสองเป็นเจ้าหนี้เอ็มเคเอสซี ในราคารวมทั้งสิ้น 10,628,000 เหรียญสหรัฐ (หรือประมาณ 425,120,000 บาท เบื้องหลังซื้อยูบีซี

ปัจจุบันทรู เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายสื่อสารทั้ง ระบบสาย (โทรศัพท์บ้าน และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง)และไร้สาย (มือถือออเร้นจ์)ในขณะที่ยูบีซี อยู่ใน ธุรกิจคอนเทนต์ ด้านข่าวสาร บันเทิง และ กีฬา ให้บริการเคเบิ้ลทีวี ผ่านเครือข่ายสายโทรศัพท์ ของทรู
นายศุภชัย กล่าวว่า การซื้อหุ้นยูบีซี ครั้งนี้เป็น การสานต่อนโยบายและวิชันของกลุ่มทรูเพื่อเข้าสู่การเป็น convergence player หรือผู้ให้บริการที่ มากกว่า triple play (บริการที่รวมทั้งโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงและไอพีทีวี) และการเป็นผู้นำในการให้บริการตอบสนองไลฟ์สไตล์ โดยที่คอนเทนต์ จากยูบีซี จะเป็นจิ๊กซอว์ที่สำคัญของกลุ่มทรู

"การซื้อยูบีซีจะทำให้ synergy สูงขึ้นและconflict of interest หมดไป"

Conflict of interest ในที่นี้หมายถึงการทับซ้อนกันของบริการอย่างกรณี โทรทัศน์ผ่านอินเทอร์-เน็ตความเร็วสูง หรือบรอดแบนด์ทีวีของกลุ่มทรูและเปย์ทีวีของยูบีซี ที่ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมและด้านมีเดียกำลังผสมผสานเข้าหากัน (convergence) และเสริมซึ่งกันและกัน แต่โครงสร้างเดิมทำให้เกิดขึ้นได้ยาก

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือหากกลุ่มทรูต้องการให้ บริการบรอดแบนด์ทีวี จะต้องซื้อรายการจากผู้ผลิต ที่จะคิดราคาเท่ากับที่เก็บยูบีซี เช่น ยูบีซีจ่ายค่าราย การ 100 บาท บรอดแบนด์ทีวีก็ต้องเสีย 100 บาท รวมกันเป็น 200 บาท ในขณะที่เมื่อทรูซื้อยูบีซีจะสามารถลดค่าซื้อรายการเหลือ 120 บาท สำหรับการ แพร่ภาพผ่านสื่อหลายๆช่องทางของยูบีซี

อย่างไรก็ตาม ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่หลายรายของยูบีซี กลยุทธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้ยาก จึงเป็นเหตุผลที่ทรูตัดสินใจซื้อหุ้นยูบีซี ที่ MIH ถืออยู่ทั้งหมด เพื่อเป็นเจ้าของยูบีซีเพียงผู้เดียว ซึ่งจะทำให้กลุ่มทรูมีบริการที่ครบวงจร แยกได้เป็น 4 ประเภทคือ
1. เมนไลน์ ซึ่งไม่ใช่แค่โทรศัพท์พื้นฐานแต่ยังรวมด้านอินเทอร์เน็ตและบรอดแบนด์
2. บริการด้าน ไวร์เลสรวมทั้งโทรศัพท์มือถือ
3. บริการด้านคอนเทนต์ แอปพลิเคชันต่างๆ
และ 4. บริการเปย์ทีวี

โดยที่การซื้อยูบีซีทำให้กลุ่มทรูได้ใบอนุญาตด้านการกระจายสัญญาณทันที ทำให้บริการบรอดแบนด์ทีวี หรือไอพีทีวี ที่เป็นการกระจายสัญญาณผ่านโครงข่าย อินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจน ว่าจะอยู่ในการดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) หรือคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (กสช.) หมดปัญหาไปทันที โดยที่กลุ่มทรูขาดเพียงใบอนุญาตอีก 2 ประเภทก็จะครอบคลุมทุกอย่างคือใบอนุญาตเกตเวย์หรือวงจรต่างประเทศ และใบอนุญาตโทรศัพท์มือถือ 3G

สำหรับการซื้อหุ้นในเอ็มเคเอสซี ทำให้กลุ่มทรู ถือหุ้นประมาณ 40%ในเคเอสซี ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต เป็นเพราะเคเอสซีมีฐานการตลาดกลุ่มลูกค้าองค์กรที่แข็งแรงในภูมิภาคในขณะที่ทรู อินเทอร์เน็ต มีความเข้มแข็งในกรุงเทพฯ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กลุ่ม ทรูกำลังทำคือการรวบรวมสิทธิการให้บริการที่มีอยู่ (unified license) เพื่อให้ครอบคลุมบริการทั้งหมด โดยที่ไลเซนส์ไหนที่มีความซ้ำซ้อนจะลดให้เหลือ เพียงไลเซนส์เดียว อย่างกรณีการให้บริการอินเทอร์เน็ต

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมกล่าวว่าการซื้อ ยูบีซีทำให้โครงสร้างการถือหุ้นกลุ่มทรูมีความชัดเจน และสะท้อนมูลค่าแท้จริงของธุรกิจมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีในการหาพาร์ตเนอร์ต่างชาติ นอกจากนี้ยังช่วยลดต้นทุนในด้านคอนเทนต์จากการรวมกลุ่มกลายเป็นผู้ให้บริการที่มีช่องทางกระจายคอนเทนต์สู่ผู้บริโภคมากที่สุด และทำให้สามารถให้บริการได้ทุกประเภทโดยไม่ต้องกังวลในเรื่องการกำกับดูแลที่ยังคลุมเครือในบางบริการ รวมทั้งยังไม่ติดขัดในเรื่องเทคโนโลยีด้วย


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.