สิงคโปร์ประเทศที่มีความมหัศจรรย์ ทางเศรษฐกิจ ดินแดนซึ่งครั้งหนึ่งมิลตัน
ฟรีดแมน (Milton Friedman) ปรมาจารย์ของสำนักเศรษฐศาสตร์เสรีนิยมขนานนามว่า
"สวรรค์ของสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก" กำลังเผชิญวิกฤติการณ์เศรษฐกิจ
ครั้งที่ร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่แยกตัวเป็นเอกราชในปี 2508 เป็นต้นมา
สิงคโปร์ถีบตัวขึ้นมาเป็นประเทศอุตสาหกรรมใหม่ (NIC) และเข้าร่วม "สโมสร
แก๊งทั้งสี่" (Gang of Four) ด้วยการดำเนิน ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก
(Export-oriented Indus-trialization) ก่อนประเทศอื่นๆ ในอาเซียตะวันออก
(ยกเว้นญี่ปุ่น) และสามารถเติบโตในอัตราสูงยิ่ง ตลอดช่วงเวลาระหว่างปี 2513-2542
สิงคโปร์เติบโตในอัตราถัวเฉลี่ยปีละ 8.0% (ดูตาราง) อัตราการเติบโตของกลุ่ม
Asian NICs (ซึ่งรวมเกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง และสิงคโปร์) ถือเป็นความมหัศจรรย์ทางเศรษฐกิจ
จนธนาคารโลกยกย่องเป็นแบบจำลองการพัฒนาเศรษฐกิจที่ประเทศอื่นๆ ในโลกที่สามควรเอาเยี่ยงอย่าง
ธนาคารโลกเชิดชู East Asian Economic Development Model เสมือนหนึ่งว่า
ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจของอาเซียตะวันออกมียุทธศาสตร์เดียว จน ได้รับการทักท้วงจากวงวิชาการ
เพราะยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ รวมทั้งการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศต่างๆ
ในกลุ่ม Asian NICs แตกต่างกัน ไต้หวันแตกต่างจากเกาหลีใต้อย่างมาก และสิงคโปร์ก็ไม่เหมือนกับไต้หวันและเกาหลีใต้
เส้นทางการพัฒนาของ Asian NICs หาได้มีเส้นทางเดียวไม่ หากต้องการให้ประเทศในโลกที่สามเลียนแบบยุทธศาสตร์
การพัฒนาของ Asian NICs จะต้องถามว่า ต้องการให้เลียนแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศใด
แม้ว่าการเลียนแบบ ยุทธศาสตร์การพัฒนาอาจทำได้ แต่การเลียนแบบบริบทแห่งการพัฒนามิอาจกระทำได้
ประเทศในโลกที่สามในทศวรรษ 2540 อยู่ในบริบทของระบบทุนนิยมโลก แตกต่างจาก
Asian NICs ในทศวรรษ 2500 มาก ในเมื่อบริบทแห่งการพัฒนาแตกต่างกัน การเลียนแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาย่อมได้ผลไม่เหมือนกัน
สิงคโปร์ได้รับการกล่าวขวัญในฐานะ "สวรรค์ของสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก"
ประดุจว่า สิงคโปร์เดินตามเส้นทางเศรษฐกิจ เสรีนิยมอย่างเคร่งครัด จริงอยู่การค้าระหว่าง
ประเทศของสิงคโปร์เดินตามนโยบายเสรีนิยม กำแพงภาษีทั้งการนำเข้าและการส่งออกเกือบไม่มีเลย
แต่ในปริมณฑลแห่งการพัฒนา เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รัฐบาลสิงคโปร์มิได้ปล่อยให้เป็นไปตามยถากรรมที่กำหนดโดยตลาดและกลไกราคา
หากแต่รัฐบาลได้เข้าไปแทรกแซงและอุ้มชูหาน้อยไม่ ฉะนี้แล้วจึงมิอาจกล่าวได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่า
ยุทธศาสตร์การพัฒนาของสิงคโปร์เป็นยุทธศาสตร์เสรีนิยมทางเศรษฐกิจขนานแท้และดั้งเดิมของสำนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิก
เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การเงินในอาเซียตะวันออกในปี 2540 สิงคโปร์สามารถฝ่ามรสุมเศรษฐกิจได้ดี
อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 8.0% ในปี 2540
แม้เมื่อวิกฤติการณ์การเงินก่อให้เกิดภาวะถดถอยและตกต่ำทางเศรษฐกิจ ในปีต่อมา
สิงคโปร์ยังคงมีอัตราการเติบโตเป็นบวก (1.5%) ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีอัตราการเติบโตติดลบในปี
2542 และ 2543 สิงคโปร์เติบโตในอัตรา 5.9% และ 9.9% ตาม ลำดับ นับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงยิ่ง
แต่แล้วสิงคโปร์กลับต้องเผชิญภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในปี 2544 อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจติดลบ
ประมาณ -3% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียตะวันออกส่วนใหญ่มีอัตราการเติบโตเป็นบวก
ภาวะเศรษฐกิจถดถอยที่เกิดขึ้นในศูนย์อำนาจของระบบทุนนิยมโลกกระทบต่อสิงคโปร์อย่างจัง
และรุนแรงกว่าที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียตะวันออกได้รับ
การค้าระหว่างประเทศเป็นจักรกลสำคัญของการจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์
มูลค่าการค้าระหว่างประเทศ (รวมการนำเข้าและการส่งออกสินค้าและบริการ) สูงถึง
250% ของ GDP ในปี 2542 อัตราส่วนดังกล่าวนี้เป็นดัชนีวัดขนาดของการเปิดประเทศ
(Degree of Openness) ด้วย การที่สิงคโปร์มีการเปิดประเทศอย่างกว้างขวางเช่นนี้
ทำให้สิงคโปร์ง่ายที่จะได้รับผลกระทบอันเกิดจากความแปรปรวนในระบบเศรษฐกิจโลก
สิงคโปร์พึ่งสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่นเป็นตลาดสินค้าออกสำคัญ สหรัฐอเมริการองรับสินค้าออกของสิงคโปร์ประมาณ
25% ของสินค้าออกทั้งหมดของสิงคโปร์ ญี่ปุ่นเคยรองรับ 10-12% ของสินค้าออกทั้งหมดของ
สิงคโปร์ เมื่อญี่ปุ่นเผชิญภาวะถดถอย อัน เป็นผลจากการแตกสลายของภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่
นับตั้งแต่ปี 2534 เป็น ต้นมา ความสำคัญของญี่ปุ่นในฐานะตลาดสินค้าออกของสิงคโปร์ลดลงแต่เพียงเล็กน้อย
เมื่อเกิดวิกฤติการณ์การเงินใน อาเซียตะวันออกในปี 2540 การค้าระหว่าง
ประเทศของสิงคโปร์ตกต่ำในปี 2540 (-1.4%) และปี 2541 (-12.6%) แม้จะฟื้นตัว
ในเวลาต่อมา แต่แล้วสิงคโปร์ต้องถูก "หางเครื่อง" ของภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกา
นับตั้งแต่กลางปี 2543 เป็นต้นมา ภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่ในสหรัฐอเมริกาเริ่มแตกสลายยังผลให้เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
สิงคโปร์มีปัญหาในการส่งออกและเศรษฐกิจเริ่มซบเซา ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐอเมริกาก่อให้เกิดภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจในสิงคโปร์
ในปี 2544 ความซบเซาทางเศรษฐกิจนำมาซึ่งปัญหาการว่างงาน อัตราการว่างงานสูงกว่า
4% และอาจถีบตัวสูงถึงระดับ 6.5%
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจของสิงคโปร์จะกระเตื้องขึ้นในปี 2545 โดยคาดว่าจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ
1.2% แต่ ผู้นำรัฐบาลสิงคโปร์เตือนว่า อัตราการว่างงานจะยังถีบตัวสูงขึ้น
ผู้ใช้แรงงานที่สูงวัยและไร้ทักษะจะเป็นกลุ่มต่อไปที่ว่างงาน
ภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2544 ทำให้ผู้นำสิงคโปร์เริ่มวาง
แผน "ผ่าตัด" ระบบเศรษฐกิจ ความจำเป็นในการผ่าตัดมิได้เป็นผลจากจุดอ่อน
ของระบบเศรษฐกิจสิงคโปร์เท่านั้น หากยังเป็นผลจากการเติบใหญ่ทางเศรษฐกิจของสาธารณรัฐประชาชนจีนอีกด้วย
ยิ่งเมื่อสาธารณรัฐประชาชนจีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกด้วยแล้ว สิงคโปร์ยิ่งรู้สึกถึงการ
"คุกคาม" ทางเศรษฐกิจของสาธารณ- รัฐประชาชนจีน
ในทัศนะของผู้นำสิงคโปร์ การปรับโครงสร้างการผลิตนับเป็นยุทธศาสตร์อันจำเป็นสำหรับการผ่าตัดระบบเศรษฐกิจสิงคโปร์
สิงคโปร์จักต้องปรับโครงสร้างสู่ระบบเศรษฐกิจบริการ (Service Economy) ก้าวกระโดดจากระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม
(Industrial Economy) เพราะสิงคโปร์กำลังสูญเสียความได้เปรียบเชิงเปรียบเทียบ
(Comparative Advantage) ในการผลิตด้านอุตสาหกรรม
แต่การปรับโครงสร้างการผลิตเป็นยุทธศาสตร์ที่กินเวลายาวนานปัญหาเฉพาะหน้าที่สิงคโปร์เผชิญอยู่
ก็คือ การขยายตลาด สินค้าออก บทเรียนที่สิงคโปร์ได้รับจากวิกฤติ การณ์การเงินในอาเซียตะวันออกปี
2540 ก็คือ สิงคโปร์มิอาจพึ่งพิงอุษาคเนย์เป็นตลาดสินค้า ออกได้ สิงคโปร์ต้องการให้มนุษยพิภพเป็นตลาดเสรีที่ใครๆ
ก็เข้าถึงตลาดได้ แต่การรอคอยให้ WTO จัดระเบียบการค้าเสรีในมนุษยพิภพนั้นกินเวลายาวนาน
อีกทั้งสิงคโปร์ ไม่สู้มีอำนาจต่อรองในการเจรจาการค้าพหุภาคีมากนัก ด้วยเหตุฉะนี้สิงคโปร์จึงหันไปใช้ยุทธวิธีการทำข้อตกลงการค้าเสรีในลักษณะทวิภาคี
(Bilateral Agreements) ละทิ้งแนวทางพหุภาคี (Multilaterism)
สิงคโปร์ทำข้อตกลงการค้าเสรีกับนิวซีแลนด์ ซึ่งมีชื่อเรียกว่า ANZSEP (=Agree-
ment Between New Zealand and Singapore on a Closer Economic Partnership)
กับญี่ปุ่น ซึ่งมีชื่อเรียกว่า JSEPA (=Japan and Singapore Economic Partnership
Agreement) และมีแผนที่จะทำข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก
ออสเตรเลีย และเขตการค้าเสรียุโรป EFTA (= European Free Trade Area) ซึ่งสมาชิกในปัจจุบันประกอบด้วยสวิตเซอร์แลนด์
นอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ และไอซ์แลนด์
สิงคโปร์เลือกเดินแนวทางทวิภาคีในการเจรจาการค้าระหว่างประเทศส่วนหนึ่งเป็น
เพราะแนวทางพหุภาคีมิอาจช่วยแก้ปัญหาให้สิงคโปร์อย่างทันการ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะ
ไม่เชื่อประสิทธิภาพในการทำข้อตกลงการค้าภูมิภาค (Regional Free Trad Agreement)
ดังเช่น APEC หรือแม้แต่ AFTA
การทำข้อตกลงการค้าเสรีทวิภาคีเป็น เพียงยุทธวิธีในระยะสั้น ในระยะยาวสิงคโปร์
ต้องการพัฒนาไปสู่ระบบเศรษฐกิจบริการ
หมายเหตุ
1. รายงานของธนาคารโลกที่เชิดชู The East Asian Model คือ The East Asian
Miracle : Economic Growth and Public Policy (Oxford University Press,
1993) โปรดอ่าน รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ "อาเซียตะวันออก-ศูนย์กลางการเติบโตทาง
เศรษฐกิจของโลก ?" Financial Day ฉบับวันที่ 20 ธันวาคม 2538 ตีพิมพ์ซ้ำใน
รังสรรค์ ธนะพรพันธุ์ สังคมเศรษฐกิจโลก : โครงสร้างและการเปลี่ยนแปลง (บริษัทสื่อเสรี
จำกัด 2540)
2. รายงานข่าวภาวะตกต่ำทางเศรษฐกิจของ สิงคโปร์ในปี 2544 ดู "Singapore
Admist Worst Ever Recession", BBC News (February 28, 2002)
3. รายงานข่าวการว่างงานในสิงคโปร์ ดู "Singa-pore Faces Jobless
Surge", BBC News (September 13, 2002)
4. รายงานข่าวการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสิงคโปร์ในปี 2545 ดู "Singapore
Returns to Growth", BBC News (July 10, 2002)
5. รายงานข่าวการวางแผนผ่าตัดระบบเศรษฐกิจ สิงคโปร์ ดู "Singapore
Economy Needs Surgery", BBC News (August 18, 2002)
6. บทวิเคราะห์นโยบายการทำสัญญาการค้าเสรีลักษณะทวิภาคีของสิงคโปร์ ดู
อาทิ Ramishen S.Rajan and Rahul Sen, Going It Alone : Rationale for and
Implications of Singapore' s New Commercial Trad Strategy Working Paper,
School of Economics, University of Adelaide (January 2002)