|
ทราฟฟิกฯ-อาร์เอ็นทีคว้าสิทธิ์ ผลิตรายการป้อนเอ็นบีทีกรมประชาสัมพันธ์
ผู้จัดการรายวัน(8 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เปิดตัวผู้ผลิตกลุ่มแรก คว้าสิทธิ์จากกรมประชาสัมพันธ์ ผลิตรายการป้อนช่องเอ็นบีที ล้วนกลุ่มทุนเดิมที่มีสายสัมพันธ์ กับกรมประชาสัมพันธ์เป็นหลัก ทั้งอาร์เอ็นที ทราฟฟิกคอร์นเนอร์ กลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลระบุต้องชัดเจนว่าจะเก็บอัตราค่าบริการเท่าใด หวั่นปัญหาในอนาคต
แหล่งข่าวจากวงการเคเบิลทีวี กล่าวกับ "ผู้จัดการรายวัน" จากกรณีที่ทางกรมประชาสัมพันธ์มีนโยบายตั้งช่องรายการ เอ็นบีที หรือ (National Broadcasting Television) เพื่อให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีนำไปออกอากาศผ่านทางเคเบิลทีวีทั่วประเทศนั้น โดยมีแนวทางที่จะให้เอกชนเป็นผู้ผลิตรายการให้ เพื่อจุดประสงค์ที่จะให้เกิดความหลากหลายของรายการ เป็นการรับมือกับการเกิดขึ้นของ กสช. ด้วย
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีหลายรายต่างเห็นด้วยกับวิธีการนี้ แต่ติดตรงที่ต้องการที่จะให้กรมประชาสัมพันธ์เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริงว่ามีเอกชนรายใดเป็นผู้ผลิตรายการป้อนให้กับเอ็นบีทีบ้าง เพื่อ ความโปร่งใส
แหล่งข่าวกล่าวว่า รายการของช่องเอ็นบีที เริ่มออกอากาศมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมาแล้ว เช่น ช่องกีฬา ช่องข่าว ช่องวาไรตี้ เป็นต้น สำหรับกลุ่มที่คว้าสิทธิ์ในการผลิตรายการป้อนให้กับช่องเอ็นบีทีของกรมประชาสัมพันธ์ในช่วงแรกนี้มีประมาณ 5-6 ราย ที่ผลิตรายการให้ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผู้ประกอบการที่มีสายสัมพันธ์และมีธุรกรรมต่างๆ เช่น การผลิตรายการทีวี หรือการทำสื่อต่างๆ ให้กับกรมประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น ซึ่งแต่ละรายจะได้รับสิทธิ์ในการผลิตรายการประมาณ 2-3 รายการต่อราย
โดยค่ายทราฟฟิกคอร์นเนอร์ โฮลดิ้งส์ ได้ผลิตรายการ 3 ช่อง ประกอบ ด้วย ช่องกีฬา ช่องข่าว ค่ายอาร์เอ็นที ได้ 3 ช่อง เช่น ช่องข่าวและวาไรตี้ ช่องส่งเสริมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มแอล ช่องท่องเที่ยว บริษัทอะลาคาร์ทของ นางสาวอวัสดา ปกมนตรี และบริษัทที่ทำรายการสำรวจโลกผลิตรายการสารคดี
อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกนี้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีที่นำเอารายการต่างๆ เหล่านี้มาแพร่ภาพยังไม่ต้องชำระค่าบริการหรือค่าธรรมเนียม ซึ่งทางกรมประชาสัมพันธ์จะใช้ระยะเวลาในการทดลองออกอากาศประมาณ 6 เดือน หากได้รับความนิยมก็จะเรียกเก็บค่าบริการ ซึ่งทางสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ต้องการที่จะให้กรมประชาสัมพันธ์และเจ้าของผู้ผลิตรายการ เหล่านั้น ระบุออกมาชัดเจนว่าจะต้องเสียค่าธรรมเนียมค่าบริการเท่าใดกันแน่ เพื่อเป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต
เนื่องจากว่าหากรายการบางรายการได้รับความนิยมแล้วมาเรียกเก็บค่าบริการที่สูงเกินความเหมาะสม ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการเจรจา และจะกระทบกับสมาชิกของผู้ประกอบการเคเบิลทีวีด้วย ที่เมื่อจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนแล้วไม่ได้รับชมรายการตามที่กำหนดเพราะผู้ประกอบการเคเบิลไม่สามารถสรุปเรื่องอัตราค่าบริการกับผู้ผลิตรายการได้
สำหรับช่องเอ็นบีทีนี้ กรมประชาสัมพันธ์วางแผนที่จะผลิตออกมาประมาณ 9 ช่อง ประกอบด้วย 1.ช่องวาไรตี้ ช่องข่าวภาษาไทยและอังกฤษ 2.ช่องกีฬาฟุตบอล มวย 3.ช่องบันเทิง วัฒนธรรม 4.ช่องสุขภาพ 5.ช่องสารคดี 6.ช่องท่องเที่ยว 7.ช่องรัฐสภา 8.ช่องเอสเอ็มอี 9.ช่องสารคดีทั่วไป ซึ่งจะเริ่มก่อนจำนวน 5 ช่อง ในเดือนพฤศจิกายนนี้
แหล่งข่าวจากกลุ่มทราฟฟิกคอร์นเนอร์ กล่าวว่า บริษัทฯเป็นผู้ผลิตรายการ ให้กับช่องเอ็นบีที ซึ่งได้เริ่มแพร่ภาพออกอากาศแล้วจำนวน 3 ช่อง ส่วนในอนาคตจะมีเพิ่มมากกว่านี้หรือไม่ยังไม่สามารถให้คำตอบได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|