ทหารไทยรีแบรนดิ้งครั้งใหญ่รุกเพิ่มพอร์ตสินเชื่อเป็น12%


ผู้จัดการรายวัน(8 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แบงก์ทหารไทย เปิดเกมรุกธุรกิจครบวงจรหลังรีแบรนดิ้ง เปลี่ยนโลโก้ ปรับรูปโฉมที่โดดเด่น วางจุดแข็งอยู่ที่ฐานลูกค้า สอดคล้องกับการนำเสนอผลิตภัณฑ์ การเงินรูปแบบใหม่ ประกาศปีหน้าพร้อมขยายฐานธุรกิจก้าวกระโดด เพิ่มมาร์เกตแชร์ สินเชื่อเป็น 11-12% วางกลยุทธ์เพิ่มทุนอีก 3 ปีข้างหน้า

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB กล่าวถึง การปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์องค์กร (รีแบรนดิ้ง) หลังจากการรวมกับสถาบันการเงินอีก 2 แห่ง คือ ธนาคารดีบีเอส ไทยทนุ จำกัด (มหาชน) และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่า ทำให้เกิดความพร้อมในการที่จะให้บริการทางการเงินที่ครบวงจรกับลูกค้าในทุกรูปแบบ ธนาคารจึงได้ดึงเอาจุดเด่นของแต่ละสถาบันมารวมกำหนดเป็นภาพลักษณ์ใหม่ที่เหมาะสมกับธนาคาร

"ธนาคารกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะมุ่งสู่ความเป็นเลิศ ในฐานะผู้บริการทางการเงินที่เป็นที่ยกย่องชื่นชมของภาครัฐ เอกชน กลุ่มธุรกิจขนาดต่างๆ รวมถึงลูกค้ารายย่อย รวมทั้ง ได้กำหนดจุดยืนที่จะเป็นผู้ให้บริการทางการเงิน ที่มั่นคงและฉับไว พร้อมเคียงข้างประชาชนเป็น ผู้ช่วยและสนับสนุนเสมือนผู้ร่วมคิดร่วมทำ"

พร้อมกันนี้ ธนาคารได้กำหนดแผนในระยะยาว 3 ปี ธนาคารจะมีการระดมทุนด้วยการเพิ่มทุน และการปรับตำแหน่งของธนาคาร โดยธนาคารจะอาศัยจุดแข็งหลังจากที่มีการควบ รวมกิจการคือ ฐานลูกค้าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก ถึง 4 ล้านบัญชี และผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่ง ซึ่งใน ปีหน้าธนาคารจะปรับปรุงในส่วนของสาขาให้มากขึ้น

"การรีแบรนดิ้งในครั้งนี้ เราพร้อมที่จะปรับตัว โดยเป็นตัวกลางในการบริการลูกค้า สร้างคุณค่าให้ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น ความหมายคือต้องไปด้วยกัน ครั้งนี้ไม่ใช่แค่เพิ่งเริ่ม แต่เป็นการตอกย้ำ เพราะยังมีอะไรที่ต้องทำอีกมาก โดยปีหน้าธนาคารตั้งเป้าให้ธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดด้านสินเชื่อทั่วไปที่ 11-12%" นายสุภัค กล่าว

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2548 นั้น นายสุภัค กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าอัตราการเติบโตของสินเชื่อไว้ที่ 6% หรือมูลค่ารวมประมาณ 30,000 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 6-7% หรือประมาณ 40,000 ล้านบาทในปี 2549 ซึ่งคาดว่าธุรกิจสินเชื่อที่จะโตมาก ในปี 2549 ที่จะเป็นปีแห่งการขยายฐานลูกค้า คือ สินเชื่อบุคคล สินเชื่อเคหะฯ และเอสเอ็มอี ทั้งนี้ ภายในปี 2549 ธนาคารยังมีการเพิ่มจำนวนตู้เอทีเอ็ม อีก 500 ตู้

นอกจากนี้ ธนาคารได้เปลี่ยนโลโกใหม่ที่เกิดจากแนวคิดหลักที่สะท้อนถึงการผสมผสานเป็นหนึ่ง เดียวกัน อันเกิดจากการรวมกิจการของธนาคาร โดย สัญลักษณ์ใหม่ได้สะท้อนถึงความเป็น Universal BankŽ ในระดับสากล โดยอักษร T มาจากคำว่า Team คือ ร่วมคิดร่วมทำ M คือ Mutual หมายถึง การร่วมมือร่วมก้าวไปด้วยกัน และ B คือ Benefit ผลประโยชน์สูงสุด

"ความหมายรวมคือ TMB เป็นสถาบันการเงินที่มีพลังในการทำงานร่วมกัน พร้อมสโลแกนใหม่ TMB ร่วมคิด เพื่อทุกก้าวของชีวิต โดยจุดที่เกิดขึ้นใหม่ 2 จุดนั้นแสดงถึงลักษณะคนจับมือกัน จูงมือก้าวไปด้วยกัน คือประชาชนก้าวไปพร้อมๆกับธนาคาร"

ทั้งนี้ ยังได้มีการปรับปรุงรูปแบบสาขาใหม่ทั้งหมด ดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ รวมถึงพนักงาน ที่ยิ้มแย้มแจ่มใส และมีอิเล็กทรอนิกส์แบงกิ้ง โดยภายในสิ้นปีคาดว่าธนาคารมีการปรับปรุงเสร็จสิ้นทั้งหมด 45 สาขา จากจำนวนทั้งหมด 435 สาขาทั่วประเทศ โดยการปรับปรุงสาขาดังกล่าวใช้งบในการลงทุน 1,400 ล้านบาท จากบัญชีรับรู้รายจ่าย 10 ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.