|
เคพีเอ็มจีเผยผลสำรวจการทุจริต ผู้บริหารเมินความจริงยอมรับแค่21%
ผู้จัดการรายวัน(8 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
เคพีเอ็มจี เผย การเรียกเก็บใต้โต๊ะติดอันดับหนึ่งในการทุจริตในองค์กร เผยผู้ตอบแบบสำรวจเกือบ 100% เห็นว่าการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญ แต่ไม่ยอมรับความจริงเพราะแค่ 21% กลับตอบว่าการทุจริตเป็นปัญหาสำคัญของบริษัทตน หวังผลการสำรวจจะช่วยกระตุ้นให้บริษัทเห็นความสำคัญของการทุจริต และหามาตรการป้องกัน
นางไขศรี เนื่องสิกขาเพียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มเคพีเอ็มจีภูมิไชย เปิดเผยว่า เคพีเอ็มจี ได้จัดทำแบบสำรวจความคิดเห็นไปยังบริษัทจดทะเบียนในตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย องค์กรเอกชนไทยขนาดใหญ่และองค์กรในต่างประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง และนิวซีแลนด์ เพื่อรับรู้เกี่ยวกับปัญหาการทุจริตและการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งได้เผยแพร่ร่วมกับสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย และตลาด หลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ จากผู้ตอบแบบสำรวจ 98% เห็นว่า การทุจริตเป็นปัญหาสำคัญของระบบธุรกิจไทย แต่เพียง 21% กลับตอบว่า การทุจริตเป็นปัญหา สำคัญของบริษัทตน นอกจากนี้ผู้ตอบแบบสอบถาม 61% อ้างว่าได้พบเหตุทุจริตในบริษัทของตนในช่วงสองปีที่ผ่านมา แต่ 28% ยอมรับว่าเมื่อเกิดเหตุการณ์ทุจริตขึ้นจริงผู้บริหารหรือฝ่ายบุคคลกลับเพิกเฉย ซึ่งอาจทำให้พนักงานในองค์กรเข้าใจว่า การทำทุจริตไม่ได้เป็นประเด็นที่บริษัทให้ความสำคัญ อย่างไรก็ตาม จากคำตอบที่ได้รับมีความเห็นว่า ผู้กระทำทุจริตส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุระหว่าง 26-40 ปี และเป็นผู้มีรายได้ต่ำกว่า 25,000 บาทต่อเดือน โดยผู้ที่พบเหตุการณ์ทุจริตในองค์กรของตนอ้างว่า 86% ของผู้กระทำผิดเป็นพนักงานระดับปฏิบัติการ และ 18% เป็นเจ้าหน้าที่ระดับบริหาร รองลงมาคือ ผู้ทำหน้าที่จัดซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งสิ่งดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่เป็นคนใน
ส่วนสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดการทุจริตภายในองค์กร คือ ระบบกำกับดูแลภายในองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งมีถึง 60% รองลงมาคือ การสมรู้ร่วมคิดระหว่างพนักงานและบุคคลภายนอก 44% และการขาดมาตรการส่งเสริมจริยรรมในการปฏิบัติงานจำนวน 28% โดยการเรียกเก็บค่านายหน้าและสินบนเป็นรูปแบบการทุจริตที่พบมากที่สุด รองลงมาคือ การยักยอกเงินโดยจ่าย คืนองค์กรจากการรับเงินครั้งถัดไป และการบันทึกข้อมูลเท็จทางบัญชี
อย่างไรก็ตาม จากการรวบรวม ข้อมูลของต่างประเทศพบว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการทุจริตคิดเป็นมูลค่าถึง 6% ของรายได้รวม ซึ่งการทุจริตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลกแต่องค์กรส่วนใหญ่ไม่พร้อมที่จะเปิดเผยต่อสาธารณชนเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องน่าอาย ปัญหาจึงถูกจัดการอย่างเงียบๆ จนทำให้สังคมไม่ตระหนักว่าปัญหาดังกล่าวมีผลต่อ ความมั่นคงของภาคธุรกิจมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ เชื่อว่าการเผยแพร่ ผลการสำรวจดังกล่าวจะช่วยกระตุ้น ให้บริษัทเห็นความสำคัญและช่วยกันดูแล และหามาตรการป้องกัน
ด้านม.ล.ผกาแก้ว บุญเลี้ยง กรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่าการทุจริตในองค์กรมีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพลักษณ์ของบริษัท ซึ่งหากบริษัทที่พบการทุจริตพยายามปิดบัง และแก้ไขปัญหาด้วย ตนเองเป็นการภายในก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัท ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุทุจริตขึ้นควรใช้มืออาชีพเข้าช่วยแก้ไขและวางระบบใหม่ หากมีการปฏิบัติที่ผิดกฎต้องรายงานให้คณะกรรมการ บริษัททราบ
"ที่สำคัญคือ บุคลากรภายในบริษัททุกคนต้องมีคุณธรรม และแสดงความรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยยกระดับคุณภาพของบริษัท และสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อรายได้ในการประกอบกิจการในที่สุด" ม.ล. ผกาแก้ว กล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|