|
โกลด์แมนแซคส์โผล่ถือหุ้นACL11% ทิสโก้ได้ดอยช์แบงก์ลูกค้าตปท.เพิ่ม
ผู้จัดการรายวัน(7 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
บล.สินเอเซีย ยื่น ก.ล.ต. ขอไลเซนส์อนุพันธ์ ขณะที่โกลดืแมนแซคส์ โผล่ถือหุ้นใหญ่ บง.สินเอเซีย ชี้ปัญหาตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ ค่าคอมมิชชันแพง ทำให้นักลงทุนต่างชาติหด ด้านทิสโก้ ได้ ดอยช์แบงก์หนุนฐานลูกค้าต่างประเทศเพิ่ม พร้อมตั้งทีมแพลทินัมจับกลุ่ม ลูกค้าวงเงิน 20 ล้านบาทขึ้น ช่วงแรกตั้งเป้า 35-50 ราย
นายวิบูลย์ เพิ่มอารยวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) สินเอเซีย จำกัด เปิดเผยว่า ขณะนี้บริษัทได้ยื่นขอใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจนายหน้าซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ (TFEX) ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตธุรกิจ การซื้อขายล่วงหน้าจะมีอัตราการเติบโตที่ดี
อย่างไรก็ตาม คาดว่าการเติบโตของธุรกิจซื้อขายล่วงหน้าจะต้องใช้เวลาอีกระยะเพื่อสร้างความ เข้าใจให้กับนักลงทุนในประเทศ เนื่องจากมีความซับซ้อนประกอบกับความไม่เข้าใจทำให้นักลงทุนไทยให้ความสนใจน้อย เช่น ในช่วง ที่ผ่านมามี บล.บางแห่งเสนอขายสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นสินค้าที่ดีมาก แต่มี นักลงทุนที่สนใจลงทุนไม่มากเพียง 800 ล้านบาทเท่านั้น
สำหรับอุปสรรคที่สำคัญอย่าง ยิ่งของตลาดทุนไทยทั้งในส่วนของตลาดหุ้น และตลาดอนุพันธ์ คือ เรื่องค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีอัตราสูงกว่าในหลาย ประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างประเทศที่แม้ว่าจะสนใจเข้ามาลงทุน ในไทย อาจจะต้องมีการซื้อผ่านกระดานต่างประเทศหรือผ่านกองทุนในต่างประเทศเพื่อจะได้เป็น การลดต้นทุนของการลงทุน
โดยอัตราธรรมเนียมในการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.25% ซึ่งหากซื้อขาย 1 ล้านบาทจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 2,500 บาท เมื่อเทียบกับการซื้อขายในตลาดอนุพันธ์ 1 สัญญา 5 แสนบาทจะต้องเสียค่าธรรมเนียม 1,000 บาท โดยในเรื่อง ดังกล่าวอาจจะเป็นแรงจูงใจให้นักลงทุนรายย่อยหันมาให้ความสำคัญ และเข้ามาศึกษาเพื่อลงทุนใน ตลาด อนุพันธ์มากขึ้นก็ได้ โดยเชื่อว่าในช่วงแรกที่มีการซื้อขายนักลงทุนรายย่อยจะเป็นกลุ่มหลักในตลาดอนุพันธ์ แต่ทั้งนี้สุดท้ายนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศจะเข้ามาเป็นกลุ่มหลักเหมือนในทุกๆประเทศที่เปิดให้มีการซื้อขาย
สำหรับในช่วงแรกบริษัทหลักทรัพย์ที่จะมีการซื้อขายน่าจะเป็นบริษัทหลักทรัพย์ต่างประเทศ หรือบริษัทหลักทรัพย์ที่มีพันธมิตรต่างชาติ ซึ่งบริษัทหลัก-ทรัพย์หลายแห่งที่ยังไม่มีพันธมิตรก็คงจะต้องหาพันธมิตรเพื่อทำธุรกิจต่อไป โดยพันธมิตรที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจดังกล่าว เช่น GOLDMAN SACHS & CO หรือ MORGAN STANLEY & CO INTERNATIONAL LIMITE เป็นต้น
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีมาร์เกตแชร์ที่ระดับ 1.3% แต่ในอนาคตจะมีการเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าสถาบันและลูกค้าต่างประเทศมากขึ้น เพราะปัจจุบันลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นลูกค้ารายย่อย
สำหรับสัดส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่บริษัทเงินทุน สินเอเซีย จำกัด (มหาชน) หรือ ACL ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบล. สินเอเซีย จำกัด ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 ต.ค. อันดับ 1. บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด ถือหุ้น 122.89% อันดับ 2. GOLDMAN SACHS & CO ถือหุ้น 10.89% อันดับ 3. SOMERS (U.K.) LIMITED ถือหุ้น 8.62% อันดับ 4. MORGAN STANLEY & CO INTERNATIONAL LIMITE ถือหุ้น 7.67% อันดับ 5. นายจรินทร์ พงศ์ไพโรจน์ ถือหุ้น 7.04%
นายไพบูลย์ นลินทรางกูล รองกรรมการผู้จัดการ บล. ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทคาดส่วนทางการตลาด (มาร์เกตแชร์) ปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 3% ลดลงจากเดิมที่คาดไว้ว่าจะอยู่ที่ 3.5% เนื่องจากภาวะตลาดหุ้นที่ไม่ค่อยดี ทำให้มูลค่าการซื้อขายปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 47 และจากที่บริษัทไม่ได้มีการเน้นลูกค้าต่างประเทศ
ทั้งนี้ในปี 49 บริษัทมีแผนที่จะรุกกลุ่มลูกค้าสถาบันต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นเป็น 30% จากปัจจุบันที่ 25% และลูกค้าระดับสูง (High Net work) เพื่อลดความเสี่ยงจากความ ผันผวนหลังจากที่ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง ซึ่งจากการที่บริษัทร่วมมือกับดอยชแบงก์จะทำให้บริษัทมีฐานลูกค้าต่างประเทศเพิ่มขึ้นได้โดยเฉพาะในปี 2549
"ความกังวลของนักลงทุนต่างชาติเรื่องภาวะเงินเฟ้อทำให้ชะลอการลงทุนบ้าง แต่หลังแก้ไขดุลบัญชีเดินสะพัดได้ก็ทำให้ความรู้สึกดีขึ้น และภาวะเงินเฟ้อนั้นมองว่าเป็นปัญหาชั่วคราวเท่านั้น" นายไพบูลย์กล่าว
อย่างไรก็ตาม บริษัทได้มีการ ตั้งทีมงานแพลทินัม (Platinum) ขึ้นมาใหม่จำนวน 6 ราย เพื่อดูแลและให้คำปรึกษาด้านการลงทุนในการซื้อขายหุ้น โดยลูกค้าระดับสูงดังกล่าวมีวงเงินจำนวน 20 ล้านบาท และตั้งเป้าที่จะมีลูกค้าจำนวน 30-50 รายซึ่งจะทำให้สัดส่วนลูกค้าบริษัทมีความสมดุลมากขึ้น
บริษัทคาดว่าจะมีกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีหน้านั้น จะเติบโตประมาณ 13% จากการที่หุ้น กลุ่มพลังงานซึ่งเป็นกลุ่มที่มีมาร์เกตแคปขนาดใหญ่จะช่วยดันกำไรสุทธิให้เติบโต ส่วนปัจจัยลบที่เข้ามากระทบภาวะตลาดหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา ทั้งเรื่องราคาน้ำมัน และอัตราดอกเบี้ยมองว่าเป็น ปัจจัยที่ได้รับผลกระทบเช่นกันหมดและก็จะคลี่คลายได้
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|