|
ชี้ขาดดุลเกิน$2.7พันล้าน
ผู้จัดการรายวัน(7 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"หม่อมอุ๋ย" ระบุดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยปีนี้เกิน 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐแน่ เพราะ 9 เดือนที่ผ่านมาขาดดุล ทะลุ 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ จับตาปริมาณสินค้านำเข้า และรัฐ เพิ่มวงเงินลงทุนโครงการ "เมกะโปรเจกต์" มีผลดุลบัญชีเดินสะพัด ขาดดุลเพิ่มหรือไม่
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยถึงกรณีที่ธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ประมาณการดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยทั้งปี 2548 ว่าจะขาดดุล 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐนั้น เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากหากรวมดุลบัญชีเดินสะพัดในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาจะพบว่าขาดดุลไปแล้วถึง 5.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ดังนั้นหากจะให้ได้ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามที่ธนาคารโลกระบุ ไทยก็จะต้องทำเกินดุลถึง 2.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 3 เดือนที่เหลือของ ปี 2548 นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมาก
นอกจากนี้ยังกล่าวถึง กรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้การขยายวงเงินที่ใช้ลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของรัฐบาล (เมกะโปรเจกต์) จากเดิม 1.7 ล้านล้านบาท เป็น 1.8 ล้านล้านบาท นั้น ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะส่งผลกระทบต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยด้านอื่นประกอบด้วย เช่น สัดส่วน วัตถุดิบที่ใช้ในการลงทุนว่ามีการนำเข้าจากต่างประเทศมากน้อยเพียงใด
"ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าการเพิ่มวงเงินลงทุนอีก 1 แสนล้านบาท จะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลมากขึ้นไปอีกหรือไม่ คงต้องดูปริมาณนำเข้าสินค้า (อิมพอร์ตคอนเทนต์) ด้วย ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นรายละเอียดดังกล่าว" ผู้ว่าการ ธปท. กล่าว
ส่วนการที่กระทรวงพาณิชย์ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปโดยเฉลี่ยในปี 2548 จะไม่ถึง 4.5% นั้น ธปท.เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อยังน่าจะอยู่ 4.5-5% ซึ่งไม่ใช้ตัวเลขที่สูงเกินไป เนื่องจากหากคำนวณแล้ว 4 เดือนสุดท้ายของปีน่าจะอยู่ประมาณเดือนละ 6% กว่า เมื่อไปคำนวณกับเงิน เฟ้อที่ผ่านมาน่าจะเกินระดับ 4.5% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขดังกล่าวเป็นการประเมินตามข้อเท็จจริง ไม่ใช่เป็นการประเมินเกินความเป็นจริงแต่อย่างไร
ทั้งนี้ เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในปี 2549 จะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปีไปจนถึงปีปลายปีในระดับใกล้เคียงกัน แต่ที่เห็นว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจในช่วงกลางปีและปลายปี 2549 ลดน้อยลงนั้นไม่ได้หมายความ ว่าการขยายตัวลดลง แต่มาจากการที่ฐานการคำนวณช่วงกลางปีและปลายปีนี้ค่อนข้างสูงจึงทำให้ตัวเลขในปีหน้าอยู่ในระดับต่ำ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม มีโอกาสสูงกว่าตัวเลขในเดือนตุลาคมที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศที่ระดับ 6.2 % ได้อีก ส่วนจะขึ้นไปเท่าไรนั้นคาดเดาได้ยาก ซึ่ง คาดว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 4 และจะสูงกว่า 6% ดังนั้น ในช่วงก่อนหน้านี้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)จึงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% ติดต่อกัน 2 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นไปอีก และเชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อจะทยอยปรับลดลงในไตรมาสแรกของปี 2549 โดยจะลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาส 2
สำหรับภาวะเศรษฐกิจไทยของเดือนกันยายนปีนี้ ดัชนีการส่งออกขยายตัวได้ 23.8% ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัว 25.5% ขณะที่ การนำเข้าขยายตัวเพียง 19.9% เพราะความต้องการซื้อวัตถุดิบในประเทศเริ่มลดลง ซึ่งเป็น การลดลงของการนำเข้าสินค้าทุน สินค้าวัตถุดิบและสินค้าฟุ่มเฟือย ทำให้ดุลการค้าเกินดุล 818.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเป็นการเกินดุลครั้งแรกนักจากต้นปีนี้ ส่งผลให้ดุลบริการเกินดุล 58.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 876.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ หากพิจารณาเป็นรายไตรมาส จะพบว่าดุลการค้าของไตรมาสที่ 3 เกินดุล 203.5 ล้านเหรียญสหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1,152.7 ล้านเหรียญสหรัฐ และดุลการชำระเงินเกินดุล 1,764.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ 9 เดือนแรกของปีดุลการค้าขาดดุล 8,260.5 ล้านเหรียญสหรัฐ และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 5,056.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|