"วิชัย"โขกหุ้นม.รังสิตแลกรพ.พญาไท


ผู้จัดการรายวัน(7 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"อาทิตย์"แฉกลุ่ม"วิชัย ทองแตง"ขอแลกหุ้น ม.รังสิต กับรพ.พญาไท ที่เหลืออยู่ 5% สุดช้ำเจอโขกราคาหุ้น ม.รังสิต 600 บาท สูงจากบุ๊คกว่าเท่าตัว แต่ให้ขายรพ.พญาไทหุ้นละบาทเดียว รอความหวังสุดท้ายศาลฎีกา 15 พ.ย.นี้ ขอเปลี่ยนผู้บริหารแผนฯ หากผลเหมือนเดิมอาจขายทิ้งหุ้นรพ.พญาไท แต่ถ้าพลิกล็อกพร้อมกลับมาสู้-เจรจาเจ้าหนี้อีกครั้ง เผยเบื้องหลังฮุบรพ.พญาไท แปลงหนี้เป็นทุน-กู้เงินคืนหนี้-ลดทุนจากพาร์ 10บาทเหลือ 1 บาท กุมหุ้นใหญ่ไม่ต้องใช้เงินมากทำเทนเดอร์ฯ 37ส.ต. ด้าน"วิชัย" เผยผู้หวังดีตัวแทน 2 ฝ่ายเจรจากันเอง

นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หลังจากที่นายวิชัย ทองแตง ทนายคดีซุกหุ้น เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.ประสิทธิ์พัฒนา (PYT) หรือโรงพยาบาลพญาไท และเนื่องจาก รพ.พญาไท ถือหุ้นในบริษัท ประสิทธิรัตน์ จำกัด หรือ มหาวิทยาลัยรังสิต (ม.รังสิต) ในสัดส่วน 33% ทำให้ในช่วงที่ผ่านมาตัวแทนของนายวิชัย ได้เข้ามาติดต่อ ยื่นข้อเสนอให้แลกหุ้นระหว่าง ม.รังสิต ที่ รพ.พญาไทถืออยู่ดังกล่าวกับหุ้น รพ.พญาไท ที่กลุ่มตนเองถืออยู่ 5%

ทั้งนี้ การเข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน รพ.พญาไทของนายวิชัย เท่ากับว่าได้ครอบครองหุ้นใหญ่ใน ม.รังสิต 33% ผ่าน รพ.พญาไท ซึ่ง ม.รังสิต ถือเป็นธุรกิจด้านการศึกษาที่กลุ่มนายอาทิตย์ อุไรรัตน์ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 66% และมีควบคุมอำนาจบริหารอยู่ในปัจจุบัน

ในการเข้าเจรจาขอแลกหุ้นตัวแทนนายวิชัยเสนอขอแลกหุ้น พิจารณามูลค่าตามบัญชีของหุ้น ม.รังสิต ซึ่งประเมินอยู่ที่หุ้นละ 300 บาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 100 บาท แต่จะเสนอขายให้ในราคาหุ้นละ 600 บาท ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ได้ว่าจ้างบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาตให้มาเป็นที่ปรึกษาประเมินราคาซึ่งได้ในราคาหุ้นละ 248 บาท

ส่วนหุ้น รพ.พญาไทของกลุ่มตนถืออยู่ 5% นั้นตัวแทนนายวิชัยจะเสนอซื้อในราคาเพียงหุ้นละ 1 บาท ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ไม่สามารถรับได้ เพราะเป็นข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรม และถ้าจะแลกหุ้นกันจริงกลุ่มตนก็จะต้องใส่เงินเพิ่มอีก การขอแลกหุ้นดังกล่าวคงไม่สามารถทำได้เพราะไม่มีเงินจำนวนมาก

“ข้อเสนอแลกหุ้นของนายวิชัยผมทำใจไม่ได้ เพราะเขาจะขายหุ้น ม.ลัยรังสิตให้ผมหุ้นละ 600 บาท แต่จะให้ผมขายหุ้นโรงพญาไทในราคาหุ้นละ 1 บาท ” นายอาทิตย์ กล่าว

ปัจจุบันนายวิชัยอยู่ระหว่างจัดทำคำเสนอซื้อ (เทนเดอร์ออฟเฟอร์) หุ้น รพ.พญาไท จากประชาชนทั่วไปหลังจากได้เข้ามาถือหุ้น จำนวน 442,302,312 หุ้น หรือ 25.54 % ซึ่งก่อนหน้านี้ตนเคยมีความคิดว่าจะทำคำเสนอซื้อแข่งกับนายวิชัย แต่เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าคงจะสู้ไม่ได้ เนื่องจากอาจจะต้องใช้เงินจำนวน 300-400 ล้านบาท ซึ่งตนเองไม่มีเงินมากเพียงพอ จึงตัดสินใจไม่ดำเนินการดังกล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวต่อว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอฟังคำพิจารณาของศาลฎีกา หลังจากที่ตนเคยยื่นขอเข้าไปเป็นผู้บริหารแผนโรงพยาบาลพญาไท ซึ่งจะศาลจะอ่านคำพิพากษาภายในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ซึ่งหากศาลพิจารณาตามคำตัดสินเดิมตนก็ยอมรับและอาจจะตัดสินใจขายหุ้นโรงพยาบาลพญาไท ที่ถืออยู่ 5% ให้กับนายวิชัยก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม หากศาลฎีกาตัดสินให้ตนเองเข้ามาเป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู ก็พร้อมที่จะเข้ามาดำเนินการฟื้นฟูธุรกิจ รพ.พญาไท โดยพร้อมที่จะเข้าไปเจรจากับธนาคารเจ้าหนี้ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นของโรงพยาบาลพญาไท

“ขณะนี้ผมก็รอศาลตัดสินในวันที่ 15 พ.ย.นี้ ซึ่งก็เชื่อมั่นในความเป็นธรรมของศาลหากคำตัดสินออมาเป็นอย่างไรก็พร้อมที่จะรับคำตัดสินนั้นโดยดี” นายอาทิตย์ กล่าว

สำหรับ รพ.พญาไทประสบปัญหาทางการเงิน ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 โดยบริษัทได้กู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินจำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อที่จะขยายธุรกิจ แต่เกิดการลดค่าเงินบาท ส่งผลให้หนี้จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นและเมื่อรวมกับดอกเบี้ยมีจำนวนหนี้สินทั้งสิ้น 12,000 ล้านบาท จึงส่งผลทำให้บริษัทต้องมีการปรับโครงสร้างหนี้

ในการปรับโครงสร้างหนี้บริษัทได้ว่าจ้าง ไพร์วอเตอร์ เฮ้าส์ คูเปอร์ส เข้ามาจัดโครงสร้างหนี้และจัดทำแผน ซึ่งขณะนั้นตนดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์ โดยในช่วงแรกๆ ไพร์วอเตอร์ เฮาส์ จะคอยรายงานให้ทราบถึงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเวลาผ่านไปการรายงานเริ่มน้อยลง และมีการปกปิดข้อมูล ซึ่งเป็นช่วงที่ตนได้พ้นจากการเป็น รมว.วิทยาศาสตร์แล้ว ที่สำคัญไพร์วอเตอร์ เฮาส์ ได้แอบเสนอตัวเป็นผู้บริหารแผนเสียเอง ทั้งๆที่ไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจโรงพยาบาล

ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วเมื่อมีการทำแผนเสร็จ ก็จะต้องส่งคืนให้กับทางเจ้าของไปดำเนินการต่อ เช่น เดียวกับกรณีของโรงพยาบาลกรุงเทพ ที่มีการปรับโครงสร้างหนี้ และไม่มีปัญหาแต่อย่างไร

การดำเนินการไพร์วอเตอร์ เฮาส์ ในฐานะผู้บริหารแผนนั้น ปรากฎว่า ในช่วง 6-7 เดือน ที่มีการบริหารแผนใช้เงิน 140 ล้านบาท ขณะที่ตนรู้เรื่องดังกล่าวก็ได้มีการเสนอตัวเป็นผู้บริหารแผน โดยจะไม่คิดค่าบริหารแผน ซึ่งจะทำให้ไพร์วอเตอร์ เฮาส์ ได้มีการปรับคิดค่าบริหารใหม่ โดยเสนอเป็นเหมาจ่ายในอัตราเดือนละ 1-2 ล้านบาท ทำให้ทางเจ้าหนี้ที่มีความเชื่อถือในชื่อเสียงของ ไพร์วอเตอร์ เฮาส์ ได้มอบหมายให้เป็นผู้บริหาร ซึ่งก็ปรากฏว่า ทางไพร์วอเตอร์ เฮาส์ ก็มีการใช้เงินด้านต่างๆ ในการบริหารแผนเป็นจำนวนมาก เช่น ค่าที่ปรึกษาทางกฏหมาย คิดเกือบ 200 ล้านบาท แผนที่เสนอไปในช่วง 6-7 เดือน ก็ไม่มีความคืบหน้า

นอกจากนี้ทางไพร์วอเตอร์ เฮาส์ ก็ได้มีการจัดซื้อ เครื่องคอมพิวเตอร์ เช้ามาใช้ในโรงพยาบาลอีก 700 เครื่อง คิดเป็นเงิน 100 ล้านบาท และได้มีการซื้อระบบซอฟแวร์จากต่างประเทศอีกจำนวน 80 ล้านบาท ปรากฏว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมาดังกล่าวนำไปติดตั้งที่โรงพญาไท 1 ซึ่งก็ใช้ได้เพียง 1 ปี จากนั้นก็ใช้ไม่ได้ และโรงพญาไท 2 ก็ไม่มีการนำไปใช้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไป ก็ส่งผลให้เครื่องดังกล่าวล้าสมัย

“ในความเป็นจริงการการจัดซื้อจัดจ้างเครื่องคอมพิวเตอร์นั้นจะต้องให้คนเข้ามาดูระบบก่อน ว่าจะใช้ระบบอะไรที่จะเหมาะสมไม่ใช่เป็นการซื้อครั้งเดียวจำนวนมากอย่างที่ไพร์วอเตอร์ เฮ้าส์ ดำเนินการ และพบว่า คนที่ซื้อคอมพิวเตอร์ในครั้งนี้มีความสัมพันธ์กับผู้ขายคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจึงทำให้เกิดผลเสียต่อโรงพยาบาล”

ในปี 2546 ได้ยื่นต่อศาลเพื่อจะเป็นผู้บริหารแผนและเข้าไปตรวจสอบการดำเนินงานของไพร์วอเตอร์ เฮ้าส์ฯ ขณะเดียวกันพ่อของตน ซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ รพ.พญาไท ได้ยื่นหนังสือขอลาออก แต่ไม่ยื่นผ่านคณะกรรมการบริษัท โดยยื่นต่อผู้อำนวยการบริหารของแต่ละโรงพยาบาลในเครือ รพ.พญาไท เมื่อตนและคณะกรรมการบริษัททราบเรื่อง ก็ได้ขอเรียกคืนใบลาออกดังกล่าวกลับคืนมา ซึ่ง รพ.ก็ส่งคืนกลับมาให้ ยกเว้น รพ.พญาไท 2 ที่ไม่ยอมคืนมา ซึ่งต่อมา ทางไพร์วอเตอร์ เฮ้าส์ฯ ก็ได้นำใบลาออกของ รพ.พญาไท 2 มายื่นต่อศาล โดยอ้างว่าได้ลาออกไปแล้ว จึงไม่มีอำนาจในการเข้ามาดำเนินการ

นอกจากนี้ทางไพร์วอเตอร์ เฮ้าส์ฯ ได้ยื่นต่อศาลเสนอชื่อนายวิชัย ทองแตง และนายชนินท์ เย็นสุขใจ เข้ามาเป็นกรรมการ ซึ่งนายวิชัย ถือว่าเป็นผู้บริหารของโรงพยาบาลเปาโล ดังนั้นจึงแปลกใจว่ากลุ่มนายวิชัย เข้ามาเป็นผู้บริหารในโรงพยาบาลพญาไทได้อย่างไร ซึ่งศาลก็อนุมัติให้กลุ่มดังกล่าวเข้าบริหาร

นายอาทิตย์ กล่าวว่า หลังจากที่นายวิชัยเข้ามาบริหารแผนฟื้นฟูของ รพ.พญาไท ก็ได้มีการจัดโครงสร้างหนี้ออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งส่วนแรก ได้มีการแปลงหนี้เป็นทุน 4,300 ล้านบาท ส่วนที่ 2 ซึ่งมีหนี้อยู่ 4,700 ล้านบาท ก็ปรากฎว่า กลุ่มนายวิชัยได้มีการไปขอกู้จากธนาคารกรุงไทยทั้งจำนวน เพื่อที่จะชำระคืนให้กับเจ้าหนี้ และบริษัทได้มีการลดทุน จากพาร์ 10 บาท เหลือ 1 บาท โดยอ้างว่าเป็นการลดขาดทุนของบริษัท แต่ก็ส่งผลกระทบต่อผู้ถือหุ้นเดิม โดยกลุ่มของตนเองจากเดิมที่ถืออยู่ 12% ปัจจุบันก็เหลือเพียง 5% และจากที่มีการลดทุนดังกล่าว ทางกลุ่มนายวิชัยก็ได้มีการขอทำเทนเดอร์ฯในราคาหุ้นละ 0.375 บาท ซึ่งถือว่าใช้เงินไม่มากในการซื้อหุ้นครั้งนี้

ทั้งนี้นายวิชัย ประกาศทำเทนเดอร์ฯจำนวน 1,289,745,208 หุ้น ในราคาหุ้นละ 0.375 บาท คิดเป็นมูลค่าเสนอซื้อ 483,654,453 บาท

“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ รพ.พญาไทนั้น ยอมรับว่าเกิดจากความไร้เดียงสาในการทำธุรกิจของผมและไปเชื่อในชื่อเสียงของไพร์วอเตอร์ เฮ้าส์ฯ มากเกินไป ที่ว่าฝรั่งเข้ามาหากินกับซากศพช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจนั้น ผลก็เห็นแล้วว่าเป็นความจริง และผมเป็นคนที่ไม่มีอำนาจทางการเงิน ทางกฎหมาย และอำนาจรัฐ คงจะไปสู้เขาไม่ได้ พวกที่เข้ามาใน รพ.พญาไทนั้นมีการเตรียมความพร้อม โดยการรวมกลุ่มทุนที่มีเงินเข้ามา จึงเหลือเพียงรอความเป็นธรรมจากศาลฎีกา ว่าจะตัดสินใจอย่างไร”

นายวิชัย ทองแตง ผู้ถือหุ้นใหญ่และประธานกรรมการบริษัทประสิทธิพัฒนา (PYT) หรือโรงพยาบาลพญาไท กล่าวว่า ทราบว่าตัวแทนของ 2 ฝ่ายเจรจากันมาประมาณ 1 เดือนแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องของกลุ่มผู้หวังดีทั้งสองฝ่ายได้เจรจากันแต่ยังไม่มีข้อยุติ "ผมยังไม่เคยเจรจากับคุณอาทิตย์เลย และอาจจะไม่มีการซื้อขายเกิดขึ้นก็ได้หากสุดท้ายผมหรือคุณอาทิตย์ไม่ตกลงตามที่ได้เจรจากันมา"


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.