|
สินเชื่อนอกระบบคืนชีพ ยึดช่องโหว่มาตรการรัฐ
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้ประกอบการสินเชื่อนอกระบบห้าวใช้คำเชิญชวน "สินเชื่อเพื่อประชาชน/และเคลียร์หนี้นอกระบบ" ดึงดูดใจ แถมคิดดอกเบี้ยเท่าออมสิน 12% ต่อปี ขณะที่ใบปลิวเงินด่วนอาละวาดอีกรอบ เหตุปรับโครงสร้างหนี้ประชาชนช่วยแค่ลูกค้าแบงก์ แต่สินเชื่อบุคคลของนอนแบงก์ที่คนจนพึ่งพากลับถูกปล่อยให้ผู้ประกอบการเถื่อนเชือด
หลังจากรัฐบาลออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน ซึ่งรับเฉพาะส่วนที่เป็นสินเชื่อบุคคล ที่เป็นสินเชื่อด้อยคุณภาพ(NPL) ของสถาบันการเงินที่อยู่ในระหว่างฟ้องดำเนินคดีในชั้นศาล สิ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2548 และมีมูลหนี้เงินต้น ไม่เกินรายละ 200,000 บาท ต่อสถาบันการเงิน โดยลดเงินต้นให้ 50% และดอกเบี้ยค้างชำระให้ทั้งหมด
แม้ลูกหนี้จะเป็นผู้แจ้งความประสงค์เข้าร่วมโครงการนี้ก็ตาม แต่เรื่องดังกล่าวถือเป็นสิทธิของสถาบันการเงินที่จะคัดเลือกลูกหนี้ว่าจะยอมตัดหนี้ให้กับลูกหนี้เหล่านั้นหรือไม่
ส่วนลูกหนี้ที่โชคดีก็ต้องเลือกว่าจะชำระให้หมดได้ภายใน 6 เดือนหรือไม่ หรือถ้าไม่ได้ก็มีธนาคารออมสินที่พร้อมปล่อยสินเชื่อในอัตราร้อยละ 1% ต่อเดือน และต้องมีบุคคลหรือหลักทรัพย์ค้ำประกัน กรณีที่การกู้เงินจากสถาบันการเงินเดิมให้ใช้หลักทรัพย์เดิมมาค้ำประกันร่วมด้วย และให้ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 3 ปี
เมื่อพิจารณาลูกหนี้ส่วนบุคคลตามมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชนทั้งหมดเป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงิน บริษัทเงินทุนและบริษัทบริหารสินทรัพย์ แต่ครั้งนี้ไม่ได้รวมผู้ประกอบการอย่างนอนแบงก์ ที่ถือเป็นผู้ให้บริการสินเชื่อบุคคลที่มีฐานลูกค้ามากที่สุด นั่นหมายความว่าการปรับโครงสร้างหนี้เหล่านี้จะมีผู้ได้ประโยชน์เป็นแค่ส่วนน้อยเท่านั้น
เนื่องจากลูกหนี้สินเชื่อบุคคลของสถาบันการเงินส่วนใหญ่ มักมีการกำหนดรายได้ขั้นต่ำไว้ที่ 10,000 บาทเป็นหลัก ซึ่งผู้ที่มีรายได้ระดับนี้ย่อมมีศักยภาพในการชำระหนี้ได้ดีกว่าลูกค้าของกลุ่มนอนแบงก์ที่มีรายได้ระหว่าง 4,500-7,000 บาท ซึ่งไม่ได้สิทธิเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
เลียนแบบนโยบายรัฐ
ช่องว่างที่เกิดขึ้น ทำให้บริการเงินด่วนเริ่มออกมาให้บริการกันอีกครั้ง จากที่สงบไปพักหนึ่งหลังจากคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ออกมาแฉในเรื่องดังกล่าว ไม่นานนักรัฐบาลก็ออกมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชนออกมา
ขณะนี้ใบปลิวบริการเงินด่วน ดอกเบี้ยต่ำเพื่อโปะหนี้หรือใช้จ่ายอื่น ๆ วงเงินระหว่าง 5,000-100,000 บาท เริ่มออกแปะตามสะพานลอยกันอีกครั้ง ซึ่งการให้บริการยังคงเป็นรูปแบบที่ผู้ต้องการใช้บริการต้องไปซื้อสินค้า(เทียม) เพื่อเอาเงินสดออกมาเหมือนเดิม ที่เหนือไปกว่านั้น มีผู้บริการบางรายทำใบปลิวแนะนำบริการด้วยถ้อยคำว่า "สินเชื่อเพื่อประชาชน/และเคลียร์หนี้นอกระบบ" ทำให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐตามโครงการปรับโครงสร้างหนี้ภาคประชาชน
ใบปลิวดังกล่าวเชิญชวนด้วยข้อความที่ว่า ดอกเบี้ยต่ำ ผ่อนชำระได้นานตั้งแต่ 6-36 งวด สามารถชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส หรือธนาคารได้ทั่วประเทศ ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน ไม่มีการเดินซื้อสินค้า กู้ได้ไม่ยุ่งยาก อนุมัติทันใจ รับเงินสดทันที พร้อมทั้งให้รางวัลสำหรับการพาเพื่อนมาใช้บริการด้วย
"เราให้บริการเป็นเงินสด คิดดอกเบี้ยร้อยละ 1% ต่อเดือน ให้วงเงิน 5 เท่าของรายได้ กรณีได้รับการอนุมัติ วงเงิน 25,000 บาทจะต้องชำระเงินประมาณ 2,333 บาทต่อเดือน หลักฐานการขอสินเชื่อมีใบรับรองเงินเดือน ทะเบียนบ้านและบัตรประชาชน" เจ้าหน้าที่รายหนึ่งตอบ
พร้อมทั้งสอบถามว่า ถือบัตรเครดิตอื่น ๆ หรือไม่ เหลือวงเงินอีกเท่าไหร่ ถูกแบล็กลิตส์หือไม่ ถ้ามีรายชื่อเป็นแบล็กลิตส์ก็ยากหน่อย เพราะทางบริษัทต้องตรวจสอบข้อมูลกับเครดิตบูโรก่อนอนุมัติสินเชื่อ แต่จากการตรวจสอบกลับไปอีกครั้งแล้วแจ้งว่าติดแบล็กลิสต์กลับได้รับคำแนะนำว่าขอสินเชื่อได้ แต่ต้องมาเจรจาเรื่องรายละเอียดกันก่อน
เมื่อสอบถามถึงค่าใช้จ่ายอื่น ๆ รวมถึงวงเงินขอกู้กับวงเงินที่จะได้รับจริง ผู้ให้บริการรายนี้พยายามหลีกเลี่ยง ไม่ยอมเปิดเผยในเรื่องค่าธรรมเนียมในการให้บริการ ได้แต่บ่ายเบี่ยงว่าต้องให้เข้าไปคุยรายละเอียดที่สำนักงานเท่านั้น
หนุนให้ถูกเชือด
ผู้ประกอบการนอนแบงก์รายหนึ่งกล่าวว่า มาตรการของรัฐนั้นเป็นการช่วยลูกค้าของแบงก์เป็นหลัก ซึ่งไม่ใช่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริง เพราะที่ผ่านมานโยบายของรัฐบาลกระตุ้นให้คนจับจ่ายใช้สอย ส่งเสริมให้นำเงินในอนาคตมาใช้ก่อน กลุ่มคนที่มีรายได้น้อยก็ใช้จ่ายมากขึ้นแม้จะต้องกู้หนี้ยืมสิน ส่วนหนึ่งพวกเขายังมีช่องทางกู้เงินง่ายขึ้นจากนโยบายกองทุนหมู่บ้าน
เมื่อรัฐเปลี่ยนนโยบายจากการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกำลังซื้อของผู้บริโภค มาเป็นการลงทุนภาครัฐด้วยโครงการเมกกะโปรเจกท์ และเข้มงวดในเรื่องสินเชื่อบุคคลและบัตรเครดิต ประกอบกับค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบราคาน้ำมัน ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลง จนเกิดปัญหาการค้างชำระ
เมื่อไม่สามารถพึ่งพาผู้ให้บริการสินเชื่อในระบบได้ ก็กลายเป็นช่องว่างให้ผู้ประกอบการนอกระบบสวมรอยเข้ามาให้บริการ เช่น บริการเงินด่วนที่ต้องทำทีเป็นซื้อสินค้า เมื่อได้วงเงินมาก็จะถูกหักไว้จำนวนหนึ่ง แต่ผู้ใช้บริการต้องชำระเงินต้นและดอกเบี้ยเต็มตามจำนวนวงเงินที่ได้รับอนุมัติ
หรือกรณีของผู้ให้บริการที่ใช้ข้อความว่า "สินเชื่อเพื่อประชาชน/และเคลียร์หนี้นอกระบบ" เขาสามารถทำได้ทั้งให้ซื้อสินค้าสมมติ หรือมีแหล่งเงินเพื่อการปล่อยกู้โดยเฉพาะ ซึ่งผู้ใช้บริการต้องผ่อนชำระกับผู้ให้บริการรายนั้นเอง แต่เป็นไปไม่ได้ที่บริษัทเอกชนอย่างนี้จะคิดดอกเบี้ยแค่ 12%
ดอกเบี้ย 28% ที่แบงก์ชาติกำหนดเพดานให้ผู้ประกอบการสินเชื่อส่วนบุคคลในระบบเรียกเก็บนั้น ก็ยังไม่คุ้มค่ามากนัก ดังนั้น 12% ตามคำอวดอ้างนั้นคงไม่จริง แน่นอนว่าคงต้องมีการหักวงเงินส่วนหนึ่งไว้และให้ผู้ใช้บริการผ่อนชำระเต็มจำนวนที่อัตรา 12% คิดดอกเบี้ยแบบคงที่ หากคำนวณเงินส่วนที่หักไปรวมกับดอกเบี้ยที่ได้รับถือเป็นการปล่อยกู้ที่ได้ดอกเบี้ยที่สูงมาก
ไม่เข้าใจว่าปัญหานี้ทำไมรัฐบาลมองไม่เห็น ทั้ง ๆ ที่วงเงินในการให้สินเชื่อสูงกว่ากลุ่มธนาคารพาณิชย์มาก ถามว่าเราจะปล่อยกู้ได้อย่างได้เพราะมีกฎเกณฑ์ควบคุม และการปล่อยก็ต้องระมัดระวังในเรื่องความเสี่ยง สุดท้ายลูกค้าเหล่านี้ที่มีรายได้น้อยก็ต้องหันไปพึ่งพาผู้ให้บริการนอกระบบเหล่านี้ เหมือนกับรัฐช่วยหาลูกค้าให้กับผู้ประกอบการเถื่อนไปในตัว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|