|
"เบียร์ช้าง"ฟอกสีขาว"ธุรกิจน้ำเมา" ปิดแผล"สังคมรังเกียจ-ภาครัฐโหยหา"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(4 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ทุกสายตาผู้คนในสังคมที่เฝ้ามองดูความเคลื่อนไหวทุกย่างก้าว"เบียร์ช้าง"บมจ.ไทยเบฟเวอเรจหรือ"ไทยเบฟ"จึงไม่ต่างอะไรกับ ธุรกิจที่มีแต่"ด้านมืด"นอกจาก"ฤทธิ์แอลกอฮอล์"จะมอมเมาผู้คน และเยาวชนจนสำลัก"น้ำเมา" ก็ดูเหมือนจะไม่มีแง่มุมดีๆที่จะนำมาใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้สังคมยอมรับได้เต็มปากเต็มคำ โดยเฉพาะแรงต้านการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯจาก"คลื่นมหาชน"ที่นับวันจะตั้งข้อกล่าว
หาแรงขึ้นว่าเป็นหุ้นที่ "สังคมรังเกียจ...แต่ภาครัฐกลับโหยหา..."
"เราไม่ประสงค์จะบีบรัฐ ถ้ารัฐว่ายังไงก็ว่าอย่างนั้น"เกษมสันต์ วีระกุล ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรกระบอกเสียงคนล่าสุดที่เพิ่งเข้ามาอยู่ใต้ชายคาของ"ไทยเบฟ"เพียง2 ปี ยืนยัน
ภายหลังยื่นข้อมูลแสดงรายการ(ไฟลิ่ง)ให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)พิจารณาข้อมูลก่อนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่วันที่22 กันยายน 2548 เพราะหลังจากเผชิญแรงต้านที่แข็งแกร่งไม่ยอมลดราวาศอกง่ายๆจากหลายส่วนในสังคม กระบวนการต่างๆก็หยุดชะงักลงทันทีรวมถึงการ"โรดโชว์"...หุ้น"ไทยเบฟ"จึงเหมือนโดน"แช่แข็ง"...
ทั้งๆที่ในแวดวงโบรกเกอร์ก็ช่วยกันออกแรงผลักทุกวิถีทางยกให้เป็น 1 ใน 2 หุ้นน่าสนใจ ซึ่งได้แก่"ไทยเบฟ"และ"กฟผ."ที่นักลงทุนเฝ้ารอคอยเพื่อหวังจะแต้มเสน่ห์ให้กับตลาดหุ้นไทยแต่กระแสสังคมก็ยังยกให้"ไทยเบฟ"หรือ"เบียร์ช้าง"เป็นธุรกิจที่ไม่สร้างสรรค์สังคม แถมยังทำลายและมอมเมาอีกต่างหาก เข้าทำนอง"สังคมตั้งข้อรังเกียจ"ขณะที่ ภาครัฐเฝ้าแต่ฝันจะให้หุ้นยักษ์ทั้ง 2 ตัวเป่าให้มูลค่าตลาดหรือมาร์เก็ตแคปทะยานลิ่วเพื่อให้ตลาดหุ้นไทยที่ขึ้นชื่อว่า"แคระแกรน"ในสายตานักลงทุนต่างประเทศ มีร่างกายอ้วนท้วนสมบรูณ์
ขุมพลังที่ออกมาเคลื่อนไหวให้ยกเลิกการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เมื่อเทียบกับ การนิ่งเงียบไม่ออกมาตอบโต้ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์และสไตล์ส่วนตัวของธุรกิจคนในตระกูลนี้จึงดูมีภาษีดีกว่าหากวัดจากคะแนนที่สังคมเทให้
"เราทำตามหน้าที่ แต่วันนี้เป็นหน้าที่ของภาครัฐ"เกษมสันต์ เชื่อว่า เมื่อยื่นไฟลิ่งไปแล้ว รัฐจะไม่ด่วนตัดสินใจอะไรลงไปในช่วงที่มีกระแสต้านและก็เชื่ออีกว่ารัฐจะดูด้วยเหตุผล เพราะไม่อย่างนั้นคงไม่รอมาจนป่านนี้ขณะเดียวกันรัฐก็พยายามจะให้ทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน โดยพุ่งประเด็นไปที่"ข้อมูล"ที่ทั้งสองฝ่ายมีอยู่ในมือ
"มั่นใจว่ารัฐจะให้ความเป็นธรรม"เกษมสันต์ ย้ำแทบทุกครั้งที่พยายามคลายความวิตกของสังคมข้อมูลของ"ฝ่ายธรรมะ"คงไม่มีเหตุผลใดมาโต้แย้ง แต่"ไทยเบฟ"ที่ตกเป็นฝ่าย"อธรรม"ไปแล้วกลับต้องแสดงท่าทีในทางตรงกันข้าม จากที่เคยปิดปากเงียบ เหนือสิ่งอื่นใดคือการพลิกสถานการณ์ด้วยการงัดข้อมูลใน"มุมสีขาว"ออกมาโชว์ทุกสายตา เพื่อดับดีกรีที่ร้อนแรงของฤทธิ์เดช"แอลกอฮอลล์"
เกษมสันต์บอกว่า"สไตล์ขององค์กรและผู้บริหารที่ ไทยเบฟมักจะเก็บตัวเงียบหรือถ้าเดือดร้อนก็ไม่เคยออกมาเต้นโผงผาง"แต่สไตล์การทำงานแบบนี้ก็กลายมาเป็นจุดบอด โดยเฉพาะถ้าธุรกิจจะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดหุ้นที่เป็นลักษณะของตลาด"มหาชน"
"การเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์คนย่อมสนใจอยากรู้ข้อมูลเชิงลึก ก็ต้องเปิดเผยข้อมูลมากขึ้นส่วนธุรกิจรูปแบบเดิมก็เหมาะกับแบบเดิมๆแต่การจะแต่งตัวเป็นบริษัทมหาชนก็ต้องชี้แจงมากขึ้นเป็นธรรมชาติ"
เกษมสันต์ต้องเตรียมข้อมูลเพื่อชี้แจงอย่างเป็นระบบ และเป็นกระบวนการเพราะทีมทำงานชุดนี้จะต่างจากชุดก่อนๆถึงแม้จะผสมผสานกันระหว่างคนเก่าแก่กับคนรุ่นหลังๆในไทยเบฟ สำคัญที่สุดคือการให้"ข้อมูล"ที่สามารถตอบคำถามที่สังคมยังไม่คลี่คลายข้อสงสัยได้...
...ถ้าเข้าไปแล้วคนในประเทศจะเมาจนหัวราน้ำมากขึ้นหรือเปล่า?...
...วัตถุประสงค์ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แท้จริงคืออะไร?...
...ธุรกิจน้ำเมาให้ประโยชน์อะไรกับสังคมบ้าง?...
...หรือ...ทำไม?...ไม่ไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย?...
สารพัดข้อครหาที่สังคมไม่ได้ยัดเยียดให้หากมองในมุมที่สังคมมีประสบการณ์และได้สัมผัสในด้านมืดของธุรกิจนี้แต่ก็กลายมาเป็นภารกิจมหาหินให้"เกษมสันต์"ต้องทำการบ้าน ชี้แจงข้อมูลในด้านสว่างให้กับ"ไทยเบฟ"เพื่อให้ภาพลักษณ์ใสสะอาด
หัวหน้าทีมเฉพาะกิจรับบทบาทนี้ด้วยท่าทางคล่องแคล่ว สำหรับคำตอบในทุกแง่มุม มีการยกสถิติขององค์การอนามัยโลกหรือWHOระหว่างปี2524-2544 ที่ศึกษาธุรกิจค้าเหล้า เบียร์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ในเยอรมนี กว่า30 บริษัท สหรัฐ 15 บริษัท ออสเตรเลีย 10 บริษัทและฝรั่งเศสอีก 10 บริษัทปรากฎว่าพบการบริโภคแอลกอฮอล์ที่ลดลงในทุกประเทศ
"หลายประเทศให้ข้อมูลผู้บริโภคอย่างถูกต้อง เหมาะสมก็ช่วยลดการบริโภคลงได้" ขณะที่การคลายข้อสงสัยเกี่ยวกับวัตถุประสงค์การเข้าตลาดต้องร่ายยาวเป็นพิเศษ สำคัญที่สุดคือเงินที่ได้มาจะเอาไปทำอะไรเกษมสันต์ อธิบายยาวเหยียดในประเด็นนี้ว่า หนึ่งคือ"ไทยเบฟ"อาจเป็นธุรกิจใหญ่ยักษ์ในประเทศก็จริงแต่เมื่อเทียบกับต่างประเทศ ก็ไม่ต่างจาก"หนู"ตัวเล็กๆ...
"ไทยเบฟ"อาจมียอดขายปีหนึ่งร่วมแสนล้านบาท กำไรหมื่นกว่าล้านแต่ธุรกิจในต่างประเทศที่ไซส์ใหญ่กว่ามีกำไรสูงถึงแสนกว่าล้านเทียบกันจึงเหมือน"หนู"กับ"ช้าง"
พร้อมกับเบนความสนใจไปที่ตลาดต่างประเทศ ที่ไทยเบฟ หรือ"เบียร์ช้าง"กำลังจะระดมทุนไปบุกตลาดทั้งในยุโรปและประเทศแถบเอเชียแปซิฟิคเพียงแต่การเจรจาการค้าจะบรรลุผลง่ายเข้าและสะดวกราบรื่นก็ต้องเข้าตลาดหุ้นที่ขึ้นชื่อเรื่องธรรมาภิบาลเป็น"สติกเกอร์"การันตีให้ได้เสียก่อน เหตุผลหนึ่งที่เชื่อว่าสำคัญไม่ด้อยไปกว่ากันก็คือเมื่อเข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ การออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในต่างประเทศก็จะทำให้ธุรกิจมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
"การรุกตลาดต่างประเทศ ต้องทำให้ตัวเองไซส์ใหญ่ขึ้น เหมือนนักมวย ที่เคยอยู่ในรุ่นไลฟ์เวทก็ต้องเพิ่มน้ำหนักขึ้นมาที่รุ่นเฮฟวี่เวท"
ขนาดธุรกิจที่ใหญ่อาจยังไม่พอเพราะในระยะยาว"ไทยเบฟ"จำเป็นต้องใช้ฐานผลิตในต่างประเทศให้ใกล้กับตลาดนั้นๆให้มากที่สุด เพื่อประหยัดต้นทุนค่าขนส่งและคงความสดใหม่ของเบียร์ไปด้วยในตัว
"ผู้บริโภคต้องการบริโภคเบียร์ที่มีความสดใหม่ไม่ใช่กว่าจะผลิตแล้วส่งข้ามเรือไปยังอังกฤษที่เอฟเวอร์ตันกว่าจะถึงเบียร์ก็ไม่สดแล้ว"
อย่างไรก็ตามฝ่ายคัดค้านที่นัดรวมตัวกันประท้วงเป็นครั้งคราวก็ยังไม่ชัดเจนในเม็ดเงินระดมทุนที่จะนำไปใช้เพราะหลายฝ่ายยังมองว่า เงินที่ได้อาจนำไปอัดโฆษณาอย่างหนักหน่วงเพื่อเพิ่มปริมาณการบริโภค แต่เกษมสันต์ก็งัดเอางบการเงินออกมาโต้"เรามีกระแสเงินสด1.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่งบโฆษณาอยู่ที่300 ล้านบาทต่อปี"งบแค่เล็กน้อย ขณะที่กระแสเงินสดท่วมสูงเป็นกอง การนำเงินที่ได้มาเพิ่มงบโฆษณาเหล้าเบียร์จึงน่าจะตอบคำถามสังคมได้
"ถ้าดูโฆษณาตามทีวีหรือสิ่งพิมพ์จะเห็นว่า แทบไม่มีเลยถ้ารัฐจะควบคุมการส่งเสริมการขายและโฆษณาผ่านทางสื่อของธุรกิจนี้เมื่อถูกต้องเราก็ต้องทำตาม ถ้าจะโฆษณาจริงๆ กระแสเงินสดก็มีมาอยู่แล้วคงไม่ต้องระดมทุน"
คราวนี้ก็มาถึงความคาดหวังของสังคมเพราะการบริจาคผ้าห่มกันหนาวในทุกฤดูหนาวที่ใช้เงินไปแล้วกว่า180 ล้าน ก็ยังไม่ทำให้มุมมืดเปลี่ยนไปเป็นมุมสว่าง
เกษมสันต์จึงต้องอธิบายภาระหน้าที่ที่หลายคนอาจยังไม่ล่วงรู้ ว่า"ไทยเบฟ"ต้องเสียภาษีให้รัฐปีหนึ่งๆสูงถึงปีละ5 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5%ของงบประมาณใช้จ่ายของรัฐบาลที่ใช้ในการพัฒนาสังคมและประเทศมูลค่า1.1 ล้านล้านบาท ยังไม่นับอัตราจ้างงานพนักงานกว่า2 หมื่นชีวิต ที่ต้องเสียภาษีให้รัฐบาล รวมถึงการจ้างงานทางอ้อมในอุตสาหกรรมสลากฝาและลังของพนักงานอีกกว่า 1 แสนครอบครัว
หากไม่มองเป็นการ"ทวงบุญคุณ"จนเกินไป โครงการที่เป็นประโยชน์กับสังคมที่สำคัญอย่างหนึ่งยังเหมารวมถึงการซื้อสินค้าเกษตรพวก ข้าว น้ำตาล และการรับซื้อพันธุ์ข้าวจาก"เกษตรกร"เพราะวัตถุดิบเหล่านี้จะนำไปใช้ผลิตเหล้าและเบียร์ ที่ทำให้บริษัทมียอดขายเฉียดแสนล้านบาท คิดเป็น 1%ของจีดีพีประเทศ
เกษมสันต์ บอกว่า ยังมีบริษัทในเครือคือ ไทยแอลกอฮอล์ที่ใช้ในกระบวนการผลิตเอธานอลเพื่อขายให้กับบริษัทน้ำมันเพื่อนำไปผสมเป็นแก๊ซโซฮอลที่ผลิตได้ปีละ 600 ล้านลิตรต่อปี ที่ช่วยลดการนำเข้าน้ำมันอีกด้วย
"ขอความเป็นธรรมบ้าง ถ้าบอกว่าธุรกิจเราไม่เป็นประโยชน์กับสังคมก็น่าจะหันไปดูประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศบ้าง"
อีกคำถามที่ยังค้างคาใจและรอให้ไขความลับอยู่นั้นก็คือคิดจะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดหุ้นต่างประเทศหรือไม่ถ้าตลาดหุ้นไทยปิดประตูลงกลอน...
เกษมสันต์ อ้างคำพูด"เจ้าสัว"ผู้เก็บตัวเงียบ"เจริญสิริวัฒนภักดี"เกี่ยวกับกรณีนี้ว่า"เบียร์ช้าง"ก็ไม่ต่างจากหญิงสาวที่ต้องมีชายหนุ่มมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามาจีบขณะที่หญิงสาวไม่มีเจตนาจะทำอย่างนั้น เพราะเชื่อว่าธุรกิจที่ทำอยู่เป็นประโยชน์กับสังคมและประเทศชาติเพียงแต่ทุกฝ่ายต้องเข้าใจตรงกันโดยมีสิ่งสำคัญคือ"ข้อมูล"ที่จะเป็นตัวแปรสร้างความเข้าใจระหว่างฝ่าย"ไทยเบฟ"และ"กลุ่มต่อต้าน"ให้มองไปในมุมเดียวกัน มุมที่มองว่าธุรกิจผลิตและจำหน่าย"น้ำเมา"ใสสะอาดให้ประโยชน์กับสังคมก็มีไม่น้อย ไม่ได้มีแต่"ด้านมืด"ที่คลำหาจุดดีไม่เจอเลย ไม่ว่าจะเลือกมองจากมุมไหนๆ...
แล้วคุณล่ะอยู่มุมไหน ระหว่าง"เมาไม่ขับ"หรือ"เลิกเหล้าเพื่อแม่สักครั้ง"...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|