|

ปตท.เล็งฮุบเบ็ดเสร็จจีบพันธมิตรขายTPI
ผู้จัดการรายวัน(4 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"ประเสริฐ" ลั่นพร้อมเข้าซื้อหุ้นทีพีไอจากกลุ่มพันธมิตรหลังพ้นไซเลนต์พีเรียด 2 ปี หวังเข้ายึดทีพีไอแบบเบ็ดเสร็จ คาดกำไรของทีพีไอที่จะเข้ามาในปตท.ต่ำกว่า 5% ของกำไรรวม ขณะที่ "ประชัย" หวั่น TPI ถูกชำแหละชิ้นคล้ายการบินไทย สุดท้าย TPI เป็นเศษกระดาษ เตรียมยื่นอุทธรณ์ศาลฎีกาสัปดาห์หน้า เพื่อรักษาสิทธิของคณะกรรมการบริษัทฯ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวถึงความคืบหน้าการเข้าซื้อหุ้น บมจ.อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัล ไทย (TPI) ว่า การเข้าถือหุ้นของ บมจ.ปตท. ในทีพีไอจะเป็นการลงทุนในระยะยาวเนื่องจากจะส่ง ผลดีต่อทั้ง 2 บริษัท โดยพันธมิตร ที่ร่วมซื้อหุ้น ประกอบด้วย กองทุน บำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) กองทุนรวมวายุภักษ์ และธนาคารออมสิน ในสัดส่วนรายละ 10% ซึ่งจะถือลงทุนประมาณ 2 ปีตามข้อตกลง
ทั้งนี้ หากเมื่อถึงเวลานั้นพันธมิตรรายใดจะขายหุ้นออกน่าจะหารือกับ ปตท.ก่อน ส่วนจะซื้อหุ้นในสัดส่วนนั้นหรือไม่คงต้องรอให้ถึงเวลานั้นก่อน เพราะจะต้องคุย ถึงรายละเอียดอีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตาม ปตท.ถือลงทุนะระยะยาว
ในส่วนของการแต่งตั้งบุคคล เข้าเป็นคณะกรรมการบริษัทคงต้อง มีการหารือกับพันธมิตรอีกครั้งว่าจะมีการกำหนดสัดส่วนการเข้าเป็นคณะกรรมการของบริษัทเท่าใด รวมสัดส่วนระหว่างพันธมิตร แต่จะผสมระหว่างคณะกรรมการเก่าและกรรมการใหม่
นอกจากนี้ บริษัทจะรีบหารือกับพันธมิตรและผู้บริหารแผนฟื้นฟูฯ เพื่อกำหนดทิศทางในการบริหารงานในขั้นต่อไป รวมถึงจะมีการกำหนดนัดประชุมผู้ถือหุ้นภายหลังที่ทีพีไอออกจากแผนฟื้นฟูฯ และจะมีการเรียก ประชุม ผู้ถือหุ้นเพื่อที่จะได้จัดสรร คณะกรรมการ ซึ่งศาลฯ ได้ให้ข้อแนะนำว่าการเปลี่ยน แปลงคณะกรรมการ จะต้องดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งคณะกรรมการชุดใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะมีทั้งคณะกรรมการชุดเก่า และใหม่ และการดำเนินการทุกอย่างจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนทางกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังต้องหารือช่วงเวลาที่จะมีการนำเงินเข้าไปซื้อหุ้น โดยตามหลักการแล้วการใส่เงินลงทุน ควรจะเป็นทั้งในส่วนของนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนรายใหญ่ ซึ่งรวมถึงช่วงเวลาที่จะได้หุ้นที่ลงทุน ด้วย โดยคงไม่ได้มีความสำคัญว่าใครจะเป็นคนใส่เงินลงทุนก่อนกัน โดยในเรื่องดังกล่าวจะมีการหารือกันในช่วงสัปดาห์หน้า โดยจะต้องมีการจ่ายเงิน ก่อนวันที่ 13 ธ.ค.นี้
"การที่ผู้ถือหุ้นใหญ่จ่ายเงินเพิ่มทุนเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งสร้างความมั่นใจเร็วเท่านั้น ซึ่งตามขั้นตอนแล้วผู้ถือหุ้นรายย่อยจะเพิ่มทุนกลาง ธันวาคม นี้ แต่หากผู้ถือหุ้นรายใหญ่เข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนก่อน จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่รายย่อย" นายประเสริฐกล่าว
ส่วนผลกำไรของทีพีไอ ที่จะเข้ามาลงงบของ บริษัทปตท. เมื่อเทียบกับผลกำไรสุทธิของ ปตท. คง อยู่ระดับที่ต่ำกว่า 5% ของกำไรสุทธิรวม ซึ่งจะเริ่มสามารถรับรู้ได้ในช่วงปี 2549
คาดว่ารายได้ปตท.ปีนี้ จะไม่ต่ำกว่า 8 แสนล้านบาท และจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์กำไรสุทธิประมาณ 8 หมื่นล้านบาท ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าไม่น่าจะถึง 1 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปี ปตท.มีกำไรสุทธิจากการดำเนินงาน 4.2 หมื่นล้านบาท
พล.อ.มงคล อัมพรพิสิฏฐ์ และนายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ในฐานะผู้บริหารแผน บมจ. อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกัลไทย แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ตามที่ทีพีไอได้เพิ่มทุนจดทะเบียนจากเดิม 7,848,911,211 บาท เป็น 19,500,000,000 บาท โดยการออกหุ้นสามัญใหม่จำนวน 11,651,088,789 หุ้น (พาร์ 1 บาท) เพื่อจัดสรรส่วนทุนใหม่ให้แก่ผู้ร่วมลงทุน พร้อมกับหุ้นสามัญเดิมที่เจ้าหนี้ตามแผนฯ ได้รับมาจากการแปลงหนี้เป็นทุนตามแผนฟื้นฟูฯ เพื่อนำเงินที่ได้รับจากการขายส่วนทุนใหม่และส่วนทุนเดิมดังกล่าวไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้
นอกจากนี้ บริษัทได้ทำสัญญาขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน(ส่วนของทุนใหม่) 3,900,000,000 หุ้น ให้แก่ บล.เอเซีย พลัส บล. ฟินันซ่า บล. ธนชาต และบล. ทรีนีตี้ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ซื้อเพื่อกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม เพื่อกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมและกระจายต่อให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม ยกเว้นผู้ถือหุ้นเดิมที่ถือหุ้นในส่วนที่เป็นส่วนทุนเดิม
บริษัทจะปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นของบริษัท ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2548 เพื่อพิจารณา รายชื่อผู้ถือหุ้นของที่มีสิทธิจองซื้อหุ้น ซึ่งการพิจารณา รายชื่อดังกล่าวจะยกเว้นผู้ถือหุ้นเดิมที่ถือหุ้นในส่วนที่เป็นส่วนทุนเดิม
ทั้งนี้ เป็นสิทธิของบริษัทที่จะพิจารณารายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิจองซื้อหุ้นกับผู้ซื้อเพื่อกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม และยกเว้นผู้ถือหุ้นเดิมที่ถือหุ้นในส่วนที่เป็นส่วนทุนเดิมที่จะไม่มีสิทธิในการจองซื้อหุ้นกับผู้ซื้อเพื่อกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมผู้ถือหุ้นของบริษัทที่มีสิทธิจองซื้อหุ้นกับผู้ซื้อเพื่อกระจายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมดังกล่าวมีสิทธิจองซื้อหุ้นทีพีไอในอัตราส่วน หุ้นเดิม 1 หุ้น มีสิทธิจองซื้อได้ 2 หุ้น และให้จองซื้อเกินสิทธิไปพร้อมกันได้อีก 1 หุ้น โดยกำหนดราคาจองซื้อหุ้นละ 3.30 บาทและกำหนดวันจองซื้อในวันที่ 30 พฤศจิกายนจนถึง 7 ธันวาคม 2548
นายประชัย เลี่ยวไพรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีพีไอ กล่าวถึงกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ ผู้บริหารแผนฯสามารถเรียกประชุมสามัญผู้ถือหุ้นเพื่อตั้งกรรมการใหม่ หลังจากบริษัทออกจากกระบวนการฟื้นฟูกิจการว่า ตนในฐานะผู้บริหาร ลูกหนี้ คงต้องยอมรับคำสั่งศาลฯ แต่เกิดความกังวลใจว่า ทำให้ผู้บริหารแผนฯจะก้าวก่ายอำนาจการบริหารของคณะกรรมการบริษัทได้ เพราะการการเรียกประชุมผู้ถือหุ้น ซึ่งถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ของกรรมการ ไม่ใช่ผู้บริหารแผนฯ ซึ่งถือว่าขัดกับกฎหมาย ดังนั้น ในสัปดาห์หน้าตนจะยื่นคำอุทธรณ์ ต่อศาลฎีกาคัดค้านคำสั่งศาลดังกล่าว เพื่อรักษาสิทธิของคณะกรรมการบริษัทฯ
สืบเนื่องจาก กระทรวงการคลังในฐานะผู้บริหารแผนฯตัดสินใจขายหุ้น TPI ให้บมจ.ปตท. กบข. กองทุนวายุภักษ์ ออมสิน ซึ่งคลังดูแลอยู่คิดเป็นสัดส่วน 60%ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ภายหลังการขายหุ้นให้กลุ่มพันธมิตรแล้ว คลังจะกลายเป็นผู้ถือหุ้น เท่ากับ TPI เปลี่ยนจากบริษัทเอกชนกลายเป็นรัฐวิสาหกิจ ถือว่ายึดบริษัทเอกชนมาเป็นของรัฐ ซึ่งไม่มีประเทศเสรีใดทำกันยกเว้นประเทศคอมมิวนิสต์เท่านั้น แต่หากรัฐจะทำ ก็ควรทำด้วยความเป็นธรรม และต้องออกพ.ร.บ.การยึดกิจการเอกชนมาเป็นของรัฐ หรือกฎหมายเวนคืน รวมทั้งต้องซื้อหุ้นในราคาตลาด ไม่ใช่ซื้อในราคา 3.30 บาท/หุ้น แต่ถ้ารัฐจะทำโดยไม่สนใจว่าจะขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญก็ทำไป ถือว่าขัดกับหลักธรรมาภิบาลที่ดี และเอาเปรียบประชาชน
"ทางตระกูลเลี่ยวไพรัตน์ในฐานะผู้ถือหุ้นเดิมจะใช้สิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุน TPI ตามสิทธิที่ผู้บริหารแผนฯจะเสนอขายให้ผู้ถือหุ้นเดิมในสัดส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 2 หุ้นสามัญใหม่ในราคา 3.30 บาท ครบเต็มจำนวนอย่างแน่นอน"
ส่วนการจัดหาแหล่งเงิน 2.7 พันล้านเหรียญฯเพื่อนำมาชำระหนี้วางไว้ที่ศาลเพื่อไม่ให้คลังขายหุ้น TPIนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่เชื่อว่าผู้บริหารแผนฯคงจะขัดขวาง เพราะTPI เป็นบริษัทที่แข็งแกร่ง และมีเงินสดเหลืออยู่ 2 หมื่นล้านบาท เป็นที่พึงปรารถนาของนักลงทุนทั่วไป การขายหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้ ปตท.ใส่เงินซื้อหุ้นTPI เพียง 2 หมื่นล้านบาทมาชำระหนี้ และนำเงินของTPIที่มีไปใช้ เท่ากับว่าปตท.แทบไม่ต้องใช้เงินเลย ถือว่าเป็นการจับเสือมือเปล่า
"ผมห่วงนิดเดียวว่า เขาจะทำกับ TPI เหมือนกับการบินไทย ถูกชำแหละเป็นชิ้น โดยให้พนักงาน ลาออก และเซ็นรับเงินเดือนจากบริษัทย่อย (เอาต์ซอสซิง) เพื่อหวังกำไร ทำให้หุ้น TPI ในอนาคต กลายเป็นเศษกระดาษ หากผมเป็นเจ้าของ TPI ก็ต้องการทำให้เป็นแบบครบวงจร ไม่ต้องการแยก นอกจากการอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาแล้ว เรายังจะต่อสู้ยังมีตลอดเวลา ดังนั้น TPI ยังไม่ปิดฉาก"
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|