|
เวิลด์แบงก์ลดศก.ไทยเหลือ4.2%
ผู้จัดการรายวัน(4 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
"เวิลด์แบงก์" ชี้ พิษน้ำมันฉุดเศรษฐกิจไทยปีนี้หด 1% ประกาศปรับลดอัตราการเติบโตเศรษฐกิจเหลือ 4.2% จากเดิมประเมินไว้ 5.2% คาดปีหน้าเศรษฐกิจขยายตัว 5% การลงทุนภาคเอกชนหนุนเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่อง
นางสาวกิริฎา เภาพิจิตร นักเศรษฐศาสตร์ธนาคารโลกประจำประเทศไทย เปิดเผยรายงานการสำรวจภาวะเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกประจำปี 2548 ครั้งที่ 2 ซึ่งได้เปิดเผยรายงานพร้อมกับธนาคารโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาว่า ธนาคาร โลกประเมินการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี)ของไทยในปี 2548 จะขยายตัว 4.2% ลดลงจากที่เคยประมาณการไว้ 5.2% ในเดือน เมษายน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นถึง 40% และผลกระทบจากภัยแล้ง ภัยสึนามิ ซึ่งสูงกว่าที่คาด การณ์ไว้ ส่วนอัตราเงินเฟ้อในปี 2548 สูงขึ้นเป็น 4.5%
ทั้งนี้ การที่ภาครัฐได้ปล่อยลอยตัวราคาน้ำมัน ทำให้การบริโภคน้ำมันเบนซินในช่วง 8 เดือนแรกของ ปีลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนราคา น้ำมันดีเซลมีการใช้เพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง อย่างไร ก็ตาม ธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 น่าจะดีขึ้นต่อเนื่องจากการส่งออกเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3 โดยมีอัตราการขยายตัว 15% ขณะที่การนำเข้าเริ่มชะลอลง
ส่วนในปี 2549 ธนาคารโลกมองว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 5% เพราะตัวเลขการลงทุนของภาค เอกชนน่าจะขยายตัวสูงขึ้นอยู่ที่ 11% เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ที่ขยายตัวประมาณ 9% ช่องว่างการนำเข้าและส่งออกแคบลง ซึ่งการลงทุนภาคเอกชนจะเป็นตัวหลักในการสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้ขับเคลื่อนในปีหน้า แต่จะต้องเพิ่มการลงทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการภาคส่งออกควรเร่งการลงทุนเพื่อรองรับการผลิตที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง โดยคาดว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกในปีหน้าจะอยู่ที่ 56 ดอลลาร์ สหรัฐต่อบาร์เรล หรือเพิ่มขึ้น 4.5% ขณะที่ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศสูงขึ้นอีก 14%
ส่วนอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 3.5-4% และอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอยู่ในระดับต่ำประมาณ 4-5% โดยเชื่อว่าการลงทุนในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาค รัฐ (เมกะโปรเจกต์)จะผลักดันให้ตัวเลขการนำเข้าเพิ่ม ขึ้นเฉลี่ย 1.5% ของจีดีพีต่อปีในช่วงเวลาที่ก่อสร้างเมกะโปรเจกต์ 5 ปี ซึ่งจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดในปี 2549 ขาดดุลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 1.7% ของจีดีพี หรือ มีมูลค่าประมาณ 3.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับ 1.5% ของจีดีพีในปีนี้ หรือเป็นมูลค่าประมาณ 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างชาติ(เอฟดีไอ) ในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2548 เงินลงทุนโดยตรงสูงถึง 40%
การสำรวจความเห็นของนักธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่จำนวน 325 บริษัทของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) พบว่าไทยติดอันดับประเทศน่าลงทุนในอันดับ 3 ของ เอเชีย รองจากจีน และอินเดีย ส่วนเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกในปี 2548 นี้ธนาคารโลกประเมินว่าจะขยายตัว 6.2% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 7.2% นางสาวกิริฎากล่าว
สำหรับจีนที่เป็นประเทศน่าลงทุนเป็นอันดับ 1 นั้น ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของจีนในปีนี้น่าจะขยายตัวอยู่ที่ 9.3% และชะลอลงเหลือ 8.7% ในปีหน้า ซึ่งการที่เศรษฐกิจโดยรวมของจีนในช่วงผ่านมาที่เติบโตได้ดีและสภาพการดำเนินการทาง การเงินจะช่วยส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง และทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้ม ลดลง ส่วนการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลง เช่นกัน แต่อย่างไรก็ดี ทางการควรหามาตรการเพื่อลดความร้อนแรงของภาคการลงทุนที่ขยายตัวอย่างมากในขณะนี้
ด้านนายโฮมิ คาราส หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก กล่าวเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจในปี 2549 ของประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกนี้ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนก โดยทางธนาคาร โลกเห็นว่าจะต้องมีการติดตามโรคไข้หวัดนกอย่างใกล้ชิด โดยจะต้องประสานความร่วมมือกัน และเร่งพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดนกเพื่อไม่ให้กลายพันธุ์ติดต่อจากคนสู่คน
"ประเทศในภูมิภาคจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา เพราะจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ในภูมิภาค รวมทั้งต้องติดตามผลการประชุมองค์การ การค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ที่ประเทศฮ่องกงที่จะมีขึ้น ในเดือนธันวาคมนี้ ซึ่งคาดว่าประเทศในเอเชียจะได้รับประโยชน์ประมาณ 50% จากการเปิดเขตการค้าเสรี โดยเฉพาะการค้าข้าว เป็นต้น" นายโฮมิกล่าว
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|