|

ท่องเที่ยวไทยดิ้นหนีตาย เบนเข็มรุกตลาดใกล้กรุง
ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ท่องเที่ยวไทยเจอศึกหนักรอบด้าน ทั้งจากภัยธรรมชาติอย่างน้ำท่วมในภาคเหนือ ผลกระทบระยะยาวจากคลื่นยักษ์สึนามิ น้ำมันขึ้นราคา ฯลฯ ส่งผลให้ยอดของนักท่องเที่ยวในปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้ ดังนั้นในช่วงไตรมาสสุดท้าย ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยจึงหันมาเน้นสถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาต่าง ๆ อย่างกลุ่มจังหวัดในภาคกลางขึ้นมา
“เที่ยวเมืองไทย...ใกล้กรุงเทพฯ” เป็นอีกหนึ่งโครงการที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เป็นผู้ปลุกปั้นขึ้นมา สถานที่ท่องเที่ยวหลัก ๆ ของทางภาคกลางก็หนีไม่พ้นการชมแหล่งโบราณสถานที่สำคัญในประวัติศาสตร์ ดูวิถีชีวิตของชาวบ้าน ฯลฯ
“ภาพรวมของการท่องเที่ยวในภาคกลางอย่างจังหวัดอยุธยาก็ไปได้เรื่อย ๆ ไม่ได้ลดลงอย่างที่หลายคนคาดการณ์ไว้ อย่างในปี 2547 ก็มียอดนักท่องเที่ยวถึง 3 ล้านคน ถือว่าเกินเป้าที่ตั้งไว้มาก จากแค่ 5% แต่ผลกลับได้ถึง 11.52%” บูรณศักดิ์ ฤกษ์สำรวจ ผู้ช่วยผู้อำนวย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การกอง เขต 6 เล่าให้ฟัง
ขณะเดียวกันที่ผ่านมายอดนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวต่างชาติที่เข้าเดินทางมาท่องเที่ยวในภาคกลางมีประมาณ 2 แสนคน โดยมีนักท่องเที่ยวชาวไทยสูงถึง 4 แสนกว่าคน ดังนั้นการทำการตลาดกับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เป็นชาวไทยจึงทิ้งไม่ได้ นั่นคือเหตุผลหนึ่งที่ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้คิดแพคเกจท่องเที่ยว “4 จังหวัดใกล้กรุงเทพฯ” ขึ้นมา โดยเชื่อมต่อ 4 จังหวัดที่อยู่ติดกันเข้าไว้ด้วยกัน คือ จังหวัดนนทบุรี-ปทุมธานี-พระนครศรีอยุธยา-อ่างทอง
โปรแกรมท่องเที่ยวนี้จะเหมาะสำหรับคนกรุงเทพฯ ที่ต้องการเดินทางพักผ่อนในช่วงสุดสัปดาห์ที่ไม่ต้องการเดินทางไกลและใช้เวลาในการเดินทางมาก เพราะทริปนี้ใช้เวลาท่องเที่ยวเพียงแค่ 2 วัน นอกจากนี้กลุ่มจังหวัดดังกล่าวก็ใกล้กรุงเทพมหานครด้วย ทำให้ไม่กระทบกับปัญหาราคาน้ำมันมากนัก
รายละเอียดของแพคเกจจะเน้นไปที่การชมพิพิธภัณฑ์ เที่ยวสวนสัตว์ ดูโบราณสถานที่ตั้งอยู่ใน 4 จังหวัด ดังกล่าว นอกจากนี้ยังโหนกระแสของสปาใส่เข้าไปในแพคเกจด้วย โดยร่วมมือกับทางโรงพยาบาลเซนต์คาร์ลอส เมดิคัล สปา ศูนย์ฝึกอบรมการแพทย์แผนไทย ฯลฯ เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยวในทริปนี้ด้วย
รูปแบบของการเชื่อมโยงจังหวัดต่าง ๆ เข้าด้วยกันนั้น เคยมีก่อนหน้านี้แล้วแต่ภาพมันไม่ชัดเจนและเป็นรูปธรรมเหมือนกับโครงการนี้ สำหรับข้อดีของการเชื่อมโยงจังหวัดต่าง ๆ เป็นเส้นทางท่องเที่ยวในทริปเดียวกันนี้จะให้ประโยชน์แก่บรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายที่อยู่ใน 4 จังหวัด ที่จะได้รู้จักกัน ถือเป็นการสร้างเครือข่ายขึ้นมา โอกาสที่จะพัฒนารูปแบบการท่องเที่ยวและแลกเปลี่ยนความรู้ใหม่ ๆ ระหว่างผู้ประกอบการด้วยกันก็มีมากขึ้น นอกจากนี้อาจทำให้เกิดเส้นทางท่องเที่ยว หรือสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ได้ด้วย
นับจากนี้เป็นต้นไปแคมเปญการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับกลุ่มจังหวัดทางภาคกลางจะทยอยออกมากระตุ้นการท่องเที่ยวมากขึ้น พร้อมเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวที่รูปแบบใหม่ขึ้นมาอย่าง การขี่ช้างชมโบราณสถาน, นั่ง 3 ล้อทัวร์เมือง หรือการนั่งเรือและปั่นจักรยานเที่ยวเมือง ซึ่งรูปแบบการท่องเที่ยวที่คิดขึ้นมาใหม่นี้จะช่วยเพิ่มสีสันการท่องเที่ยวที่ถูกจำกัดด้วยความหลากหลายของสถานที่ เพราะสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ ไม่ได้เกิดขึ้นทุกปี
เส้นทางไหนดี?...มีให้เลือกสองแบบ
-เส้นทางแหล่งท่องเที่ยวใกล้กรุงเทพ โดยวันแรกจะเดินทางออกจากกรุงเทพไป พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ชมภาพเขียนสีน้ำมัน 2 ล้านบาท ต่อด้วยการสัมผัสความงามที่ปราสาทนครหลวง แวะหมู่บ้านอรัญญิก หมู่บ้านที่มีชื่อเสียงในการทำมีดที่สุดในไทย และล่องเรือรับประทานอาหารชมทัศนียภาพรอบเกาะเมืองกรุงเก่า
ส่วนวันที่สอง ไปดูศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวอยุธยา ต่อด้วยไหว้พระที่วัดท่สุทธาวาส-เจดีย์หอย ชมไม้ดอกไม้ประดับที่ที่ศูนย์ท่องเที่ยวเชิงเกษตร และกลับกรุงเทพ
-เส้นทางท่องเที่ยวสบายกายและสุขใจ เส้นทางนี้จะมีส่วนของบริการสปาเข้ามาเพิ่มเติม ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวไม่ต่างจากเส้นทางแรกเท่าไหร่นัก
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|