|

ล้มดีลไอทีวี VS กันตนา & ไตรภพ ใครทิ้งใคร ?
ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
-ปิดฉากการร่วมหุ้นในในไอทีวีของไตรภพ และกันตนา หลังยืดเยื้อมานานกว่าขวบปี
-เกิดอะไรขึ้นกับเหล่าพันธมิตรทั้ง 3 และเหตุผลของการล้มดีลมีเงื่อนงำใดซ่อนอยู่
-งานนี้จบด้วยความชื่นมื่นกันทั่วหน้า หรือด้วยความกล้ำกลืนของบางฝ่าย
1 พ.ย. 2548
อาคารชินวัตร 3 ถนนวิภาวดีรังสิต ที่ทำการสถานีไอทีวี นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ประธานกรรมการบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) , ไตรภพ ลิมปพัทธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บอร์น แอนด์ แอสโซซิเอท และจาฤก กัลย์จาฤก บริษัทกันตนากรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมแถลงข่าวถึงการตัดสินใจไม่ขอซื้อหุ้นจากสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นจำนวนเงิน 3,000 ล้านบาท ฝ่ายละ 1,500 ล้านบาท โดยมีทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการผู้จัดการไอทีวี นั่งฟังการแถลงข่าวอยู่เบื้องล่าง
ไตรภพให้เหตุผลถึงเรื่องนี้ว่า มันไม่ใช่เรื่องเงิน มันเป็นเรื่องของอนาคตที่จะทำงานต่อไป หรือคิดอะไรจึงจะวิน วิน ....โอกาสในการลงทุนมันเป็นธรรมดาที่ทั้งสองฝ่ายจะต้องมองเห็นพ้องกันว่าถ้าข้อหนึ่งไม่ผ่าน ข้ออื่นไม่ต้องคุยแล้ว แต่นี่ข้อหนึ่งมันผ่านหมดแล้ว แต่ข้อต่อไปต่างหาก ถึงได้บอกไงว่าสัญญามันมาถึงซะก่อนเมื่อวานนี้ (31 ต.ค.) แล้วเรายังคุยไม่จบคำว่าอนาคตของเรา 3 คน มันเป็นตัวเดียวกันหรือเปล่า
เป็นเรื่องที่แปลกมากที่ทั้งหมดใช้เวลาในการคุยกันเกือบ 2 ปี แต่ไม่สามารถสรุปข้อตกลง และทิศทางกันได้ (ไอทีวีได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าตามที่ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ครั้งที่ 1/2547 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2547 ได้มีมติเพิ่มทุนจดทะเบียนหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น และอนุมัติจัดสรรเสนอขายพันธมิตรร่วมทุนเป็นการเฉพาะเจาะจงแก่ไตรภพ และบริษัทกันตนากรุ๊ป รายละ 150 ล้านหุ้น)
หรือความต้องการ และความคาดหวังของไอทีวีที่มีต่อพันธมิตรทั้ง 2 หรือความคาดหวัง และความต้องการของพันธมิตรทั้ง 2 ที่มีต่อไอทีวีมีมากกว่าที่คุยกันไว้ในเบื้องแรก
สัญญาณไม่ซื้อหุ้นไอทีวีของไตรภพ และกันตนา มีออกมาให้เห็นโดยตลอด เพราะตามหลักการเดิมนั้นไอทีวีให้สิทธิ์ซื้อหุ้นแก่พันธมิตรดังกล่าวภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2547 ก่อนจะขยายระยะเวลามาถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ขณะเดียวกันก็มีข่าวลือ และข่าวความขัดแย้งระหว่างพันธมิตรก็แว่วออกมาเป็นระยะๆ ทั้งที่ในช่วงแรกของการร่วมมือนั้น ไตรภพแสดงท่าทีสนใจอย่างมาก เนื่องจากได้ทั้งหุ้นราคาพาร์ 10 บาท และได้อำนาจบริหารในไอทีวีด้วย
ข่าวเบื้องลึกเกี่ยวกับกรณีนี้ มีการวิเคราะห์กันว่า ทั้งไอทีวี กลุ่มไตรภาพ และกันตนา เริ่มห่างเหินกันมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันไอทีวีเริ่มปั้นตัวเลขกำไรได้มากขึ้น มีเงินหมุนเวียนเลี้ยงตัวเองได้ ดังนั้นสถานการณ์ด้านการเงินปัจจุบันของไอทีวี จึงไม่มีความจำเป็นต้องพึ่งแหล่งเงินจากภายนอก ซึ่งในที่นี้คงหมายถึงเงินจากผู้ร่วมทุนทั้งไตรภพและกันตนา
เห็นได้จากการให้สัมภาษณ์ผ่านสื่อมวลชนของ นิวัฒน์ธำรง เมื่อเดือนกรกฏาคมที่ผ่านมาว่า ไอทีวีคงไม่ขายหุ้นให้ใครในช่วงนี้ เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการเงิน
แม้ว่าช่วงที่ผ่านมา กลุ่มไตรภพ และกันตนาจะช่วยสร้างความน่าสนใจ และดึงเรตติ้งให้กับสถานีจนเติบโตได้ดีขึ้นในระดับหนึ่ง แต่เมื่อวันนี้ไอทีวีมีเงินทุนเพียงพอ ทำให้มีทางเลือกที่จะจ้างผู้ผลิตรายการทั้งรายย่อย หรือผู้ผลิตหน้าใหม่ที่มีไอเดียตรงกัน ป้อนรายการได้โดยไม่ต้องพึ่งพันธมิตรที่มีอยู่เท่าใดนัก
ขณะที่ในความรู้สึกของไตรภพเองก็มีความไม่มั่นใจ ในสิ่งที่ไอทีวี ให้ไว้ช่วงก่อนทำสัญญาร่วมทุน เนื่องจากเวลาไพรม์ไทม์ที่ต้องการจากไอทีวี จนถึงวันนี้ปรากฏว่าได้มาเพียงเล็กน้อย ขณะที่รายการของกลุ่มไตรภพ เช่นรายการของนองชายไตรภพมีการปรับผังใหม่ ทำให้กลุ่มนี้ไม่มั่นใจว่า ในอนาคตไอทีวียังจะรักษาสัญญาที่ให้เวลาไพรม์ไทม์ได้หรือไม่
การโบกมือลาจากกันจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ส่วนกันตนานั้น ปัญหาเดียวที่เจอคือ แผนการนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ เนื่องจากหุ้นในกลุ่มบันเทิงไม่น่าสนใจในช่วงนี้ ทำให้กลุ่มนี้ไม่สามารถหาเงินมาซื้อหุ้นได้ ครั้งจะควักกระเป๋าตนเองซื้อ มูลค่าหุ้นก็สูงมาก แต่ผลตอบแทนการลงทุนจากผลประกอบการก็ดูจะนานเกินไป ทำให้กันตนาต้องยอมถอย และในที่สุดก็จะเป็นเพียงพันธมิตรที่ผลิตรายการป้อนไอทีวีเท่านั้นเอง
จากกันครั้งนี้แฮปปี้ทุกฝ่าย
ในมุมมองของคนในวงการโทรทัศน์เชื่อว่า การล้มดีลการซื้อหุ้นไอทีวีนี้ น่าจะเกิดจากความต้องการของทั้งฝ่ายไอทีวี และฝ่ายนายไตรภพ ลิมปพัทธ์ กับ กันตนา กรุ๊ป หลังจากร่วมงานมาได้เกือบ 2 ปี พบว่า เป้าหมายที่ต่างฝ่ายต่างต้องการสร้างโอกาสจากศักยภาพของอีกฝ่าย ไม่เป็นไปตามเป้า
ไอทีวี ดึง ไตรภพ และกันตนา กรุ๊ป เข้ามาในช่วงต้นปี 2547 โดยไตรภพ ลิมปพัทธ์ นอกจากเข้ามานั่งเก้าอี้ผู้บริหาร ดูผังรายการ และดูการตลาดแล้ว ยังมีการย้ายรายการที่ได้รับความนิยมจากช่อง 3 อาทิ เกมเศรษฐี ทไวไลท์โชว์ จุ๊กบ็อกซ์ เกมส์ ฯลฯ มาสร้างเรตติ้งให้กับไอทีวี ซึ่งการทำได้ช่วงเวลาหนึ่ง แต่ไม่นานรายการต่าง ๆ ของไตรภพ ซึ่งดูเดิม ๆ ไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่จะมารีเฟรซเพื่อตรึงคนดู ก็เริ่มเสื่อมลง
ช่วงนี้เป็นช่วงทอล์กโชว์ เสื่อม ไม่ใช่แค่ ทไวไลท์ โชว์ แม้แต่รายการดังอย่างเจาะใจ ก็ถอยลงจนต้องปรับเปลี่ยนรายการด้วยการเสริมเรียลลิตี้เข้ามาเพื่อให้เข้ากับกระแสความนิยมของผู้ชมด้วย ซึ่งทางเจเอสแอลพยายามหารูปแบบรายการใหม่ ๆ มานำเสนอ แต่ทไวไลท์ โชว์ ยังคงนำเสนอรูปแบบเดิม และบางครั้งดูไม่ค่อยทันเหตุการณ์ เช่นกรณีล่าสุด ทไวไลท์ โชว์ น่าจะเป็นรายการทอล์กโชว์รายการสุดท้ายที่นำศิลปินอะคาเดมี แฟนทาเซีย มาออกรายการ ทั้งที่ไอทีวี เป็นช่องพันธมิตรที่เผยแพร่เทปของโครงการนี้
เช่นเดียวกับกันตนา กรุ๊ป ละครเด็ก วัยซนคนมหัศจรรย์ ที่ทางสถานีพยายามโปรโมตก็เป็นเพียงกลุ่มผู้ชมแคบ ๆ ส่วนรายการช่วงค่ำที่กันตนาเคยนำเรียลลิตี้ โชว์ บิ๊ก บราเธอร์ส มานำเสนอ และต่อด้วยเทปอะคาเดมี แฟนทาเซีย ถึงวันนี้เมื่อทั้งสองรายการลาจอไป เหลือเพียงรายการเกมโชว์ชวนแหวะ เฟียร์ แฟคเตอร์ ออกอากาศยาวหลายวัน ก็ไม่ใช่รายการแม่เหล็กแต่อย่างไร เหมือนกันตนาจะหยุดหาอะไรใหม่ ๆ ให้ไอทีวีแล้ว
เมื่อไอทีวีให้โอกาสไตรภพ และกันตนาแล้ว แต่เหมือนทั้ง 2 รายนี้จะไม่เล่นด้วย ดีลที่ล้มลงครั้งนี้ จะช่วยให้ไอทีวี สามารถมองหาผู้จัดรายการอื่น ๆ เข้ามาร่วมทัพได้ ไม่ว่าจะเป็นเวิร์คพอยท์ หรือเจเอสแอล รวมถึงผู้ผลิตละครที่จะมาช่วยทำละครสร้างเรตติ้งให้ใกล้เคียงวิกหนองแขม หรือวิกหมอชิต
ปัญญา นิรันด์กุล คือคนที่ไอทีวีอยากดึงมาร่วมงานมากที่สุด
ทางด้านไตรภพ ลิมปพันธ์ เอง ก็มีความตั้งใจจะล้มดีลนี้เช่นกัน
ด้วยประสบการณ์ในการทำรายการโทรทัศน์กว่าครึ่งชีวิตของไตรภพ การจะได้มีโอกาสขึ้นนั่งในตำแหน่งบริหารสถานีโทรทัศน์ก็น่าจะเป็นงานที่ท้าทาย แต่เมื่อได้มีโอกาสลงไปคลุกคลีปีกว่า ไตรภพคงพบว่าไม่ใช่บทบาทที่ตัวเองถนัด
“ไอทีวีก็มีลูกหม้ออยู่เต็มไปหมด มีฝักมีฝ่ายเยอะแยะ การจะเข้าไปขยับปรับเปลี่ยนให้ได้ดั่งใจ ไม่ใช่เรื่องง่าย และยิ่งบทบาทของไตรภพที่เป็นทั้งผู้ผลิตรายการป้อนสถานี กับอีกขาเป็นผู้บริหาร วางผังรายการ ขายโฆษณา มันดูลักหลั่น” แหล่งข่าวกล่าว
ส่วนกันตนากรุ๊ป เป็นกรณีที่ทราบกัน เนื่องจากกันตนามีโครงการสร้างเมกะโปรเจกต์ มูฟวี่ทาวน์ เมืองภาพยนตร์ มูลค่าลงทุน 1.2 พันล้านบาท อีกทั้งการเกิดของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ(กสช.) ที่กันตนาก็รอดูท่าทีเงื่อนไขการเปิดเสรีสถานีโทรทัศน์ที่ กสช.จะกำหนด ถึงตอนนั้น กันตนาฝันเป็นเจ้าของสถานีโทรทัศน์เป็นของตัวเอง ดีกว่าร่วมหุ้นในไอทีวี ซึ่งไม่มีวันที่จะได้เป็นเจ้าของ
จริง ๆ ดีลนี้ก็เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดไว้ คือไม่มีทางเกิดขึ้น แต่เมื่อถึงวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งเป็นเส้นตายของการตัดสินใจซื้อหุ้น ก็จำเป็นที่ต้องประกาศออกมา
ที่น่าจับตามองคือ เส้นทางต่อไปของไตรภพ ลิมปพันธ์ เมื่อไม่มีการผูกมัดใด ๆ กับไอทีวี ก็มีโอกาสที่จะเห็นเขา ไปปรากฏตัวในช่องอื่น ๆ ผู้เชี่ยวชาญในวงการทีวีไทย ให้ทัศนะว่า
ขอให้จับตาดูโมเดิร์นไนน์ การปรับผังรายการหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมาของ มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ยังไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร จำเป็นต้องหามืออาชีพเข้ามาช่วยทั้งละคร และทอล์คโชว์ น่าจะเป็นโอกาสเหมาะถ้าไตรภพ ลิมปพันธ์ และกันตนา กรุ๊ป จะเสียบเข้าไปพอดี
หรืออีกแนวทางหนึ่งก็คือ ไตรภพ หรือกันตนาคงไปเปิดสถานีโทรทัศน์ของตนเองเหมือนกับที่แกรมมี่ และปัญญา นิรันดร์กุล เคยหมายตาเอาไว้ เพราะใช้เงินน้อยกว่าลงทุนในไอทีวีหลายเท่านัก
ส่วนบางคนที่อยู่ในแวดวงผลิตรายการโทรทัศน์ก็มองว่า น่าจะเป็นการตีจากไปเองของ 2 พันธมิตร เพราะถ้ามองในเชิงของคนทำธุรกิจแล้วการที่หุ้นไอทีวีมีราคาลดต่ำลงเรื่อยๆจากปีที่ผ่านมาซึ่งมีราคาสูงสุดแตะ 30 กว่าบาท แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียง 11 บาทเท่านั้น ที่สำคัญหุ้นของไอทีวีเคยหล่นลงไปแตะที่ 9.95 บาทในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แม้ราคาหุ้นไอทีวีล่าสุดในตลาดจะสูงกว่าราคาที่เสนอขายให้กับไตรภพและกันตนาที่ราคาหุ้นละ 10 บาท แต่แนวโน้มราคาหุ้นไม่สู้ดีนัก อีกทั้งตัวสัญญาถ้ามีการผูกมัดให้ต้องถือหุ้นเป็นระยะเวลา 2-3 ปี อาจทำให้พันธมิตรทั้ง 2 ไม่มั่นใจว่าเมื่อถึงวันนั้นราคาหุ้นของไอทีวีจะเป็นเช่นใด
อย่างไรก็ดี ในช่วงแรกที่ 2 พันธมิตรเข้ามาร่วมงานกับไอทีวี ทำให้เกิดกระแสค่อนข้างมาก ซึ่งโดยภาพรวมของไอทีวีแล้วถือว่าดีขึ้นจากเดิมที่มีแต่รายการประเภทข่าวสารสาระพอมีบันเทิงเข้ามาก็ทำให้มีฐานคนดูมากขึ้น ทั้งในนี้มุมของกันตนาถือว่ามีความสามารถในเรื่องของการผลิตละครและรายการโทรทัศน์อยู่แล้วซึ่งไม่น่าห่วง แต่กรณีของไตรภพที่เข้ามาทำรายการให้กับไอทีวีดูเหมือนจะไม่มีรายการใหม่ๆเกิดขึ้น โดยรายการที่นำมาจากช่อง 3 ทำให้ไอทีวีดูดีขึ้น แต่ในแง่ของเรตติ้งรายการกลับลดลงเมื่อเทียบกับตอนที่รายการเหล่านั้นอยู่กับทางช่อง 3 แต่ทั้งนี้ก็ไม่ได้ทำให้ไอทีวีดีขึ้นอย่างที่หลายคนคิดเอาไว้
สำหรับกรณีที่ว่าเมื่อพันธมิตรทั้ง 2 ไม่ซื้อหุ้นจากไอทีวีแล้วจะยังสามารถดำเนินรายการต่อไปได้ยาวไกลแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่าทางไอทีวีประเมินความสำเร็จจากรายการของพันธมิตรทั้ง 2 ไว้อย่างไร ถ้าเห็นว่าดีก็อาจออกอากาศรายการเหล่านั้นต่อไป แต่ถ้าเห็นว่ามีบางรายการที่ไม่ดีก็อาจถอนออกก็เป็นได้ โดยอาจเชิญพันธมิตรรายใหม่ๆเข้ามาเพราะการมีผู้ผลิตรายการป้อนให้มากรายย่อมทำให้ไอทีวีมีโอกาสเลือกรายการที่ดีมากขึ้น แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะผู้ผลิตบางรายมีสัญญาใจผูกมัดกับบางสถานีจึงไม่สะดวกที่จะทำรายการให้ไอทีวี หรือในกรณีที่ผู้ผลิตเหล่านั้นสามารถทำรายการให้ไอทีวีได้ก็อาจไม่มั่นใจว่ามาแล้วจะล้มเหลวเมื่อกับกรณีของกันตนาและไตรภาพที่มาไอทีวีหรือไม่
ด้านทัศนะของบริษัทวางแผนซื้อสื่อ วรรณี รัตนพล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อินิทิเอทีฟ มองว่า ดีลครั้งนี้ ไตรภพ ลิมปพัทธ์ น่าจะเป็นฝ่ายตัดสินใจเคาะมากกว่าเนื่องจากมูลค่าเงินลงทุน 1.5 พันล้านไม่ใช่เรื่องเล็กๆแม้จะกู้มาได้ก็ตามแต่คงไม่คุ้มเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของรายการตัวเองที่มีอยู่ในช่องเพียงไม่กี่รายการเท่านั้น แม้จะบอกได้ว่าตัวเขาเองเป็นคีย์ แฟกเตอร์หนึ่งที่ร่วมพลิกไอทีวีให้มีภาพลักษณ์ความเป็นสถานีบันเทิงมากขึ้นจนประสบความสำเร็จมีรายได้เพิ่มอย่างต่อเนื่องขึ้นก็ตามที ในอีกด้านหนึ่งไอทีวีก็มีจุดอ่อนในเรื่องการออกอากาศในระบบยูเอชเอฟทำให้ผู้ชมที่อยู่ในชนบทบางแห่งไม่สามารถรับชมได้ส่งผลให้มีผู้รับชมไม่เต็มที่นัก
ในเรื่องเรตติ้งรายการของทั้งกันตนาและบอร์นของไตรภพนั้นก็ดีขึ้นตลอด เรตติ้งอยู่ในระดับประมาณ 3-4 ทั้งนี้เพราะการมีผู้ชมที่เป็นแฟนประจำอยู่แล้วประกอบกับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของผู้ไม่ชอบชมละครทางช่อง 3 และ 7 ซึ่งออกอากาศในเวลาเดียวกันอีกด้วย
จากการสำรวจของบริษัทเองในครั้งที่ผ่านมาซึ่งจัดทำทั่วประเทศพบว่าไตรภพยังคงเป็นพิธีกรชายมีอันดับได้รับความนิยมจากผู้ชมสูงสุดอยู่ ทั้งนี้เพราะยังมีภาพลักษณ์ด้านบวกต่อเนื่องมาจากในอดีตที่ทำรายการฝันที่เป็นจริงซึ่งประทับใจคนส่วนมาก ขณะที่อันดับสองและสามได้แก่ปัญญา นิรันดร์กุล และสัญญา คุณากร ตามลำดับ แต่ตัวพิธีกรเองก็เป็นแค่ส่วนประกอบส่วนหนึ่งเท่านั้น หลักสำคัญในการพิจารณาที่จะซื้อเวลาโฆษณาของรายการใดจะขึ้นอยู่กับความน่าสนใจของตัวรายการเองมากกว่า
โดยทั่วไปแล้วแต่ละรายการจะมีความนิยมในช่วงเวลาหนึ่งแต่หากคงรูปแบบการนำเสนอต่อไปเรื่อยๆ ความน่าสนใจที่ดึงดูดผู้ชมก็ลดน้อยลงตามลำดับ อย่างเช่นเกมทศกัณฑ์ซึ่งมีเรตติ้งลดลงจึงได้ปรับแยกรายการเป็นเกมสำหรับเด็ก-เกมผู้ใหญ่ ทั้งบอร์นและกันตนาเองก็มีการนำกลยุทธนี้มาใช้เช่นกันโดยเกมเศรษฐีมีการปรับรูปแบบหลายการรองรับผู้เข้าแข่งขันออกเป็นกลุ่มๆหรือในทางตรงข้ามกันกันตนาเองก็มีการยืดละครวัยซนคนมหัศจรรย์ออกไปอีกหลายตอนในขณะช่วงที่มีเรตติ้งโตอย่างต่อเนื่องเห็นได้จากที่มีเนื้อเรื่องของละครนั้นมีความยาวมากกว่าละครปกติ กลยุทธ์นี้จะสำเร็จมากน้อยขนาดไหนนั้นจะขึ้นอยู่กับวิธีปรับว่าจะสอดคล้องกับความต้องการของผู้ชมได้มากเพียงใด
นักวิเคราะห์ จากบริษัทหลักทรัพย์ ยูไนเต็ด ให้มุมมองกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า การปฏิเสธร่วมทุนกับ ITV ของค่ายกันตนาและไตรภพนั้น ถือว่าไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับฝ่ายใด โดยเชื่อว่าการปฏิเสธดังกล่าวเป็นความพอใจของทุกฝ่าย แม้ตามการรายงานข่าวจะกล่าวว่า กันตนาและไตรภพเป็นฝ่ายปฏิเสธการร่วมทุนครั้งนี้ก็ตาม
เป็นไปได้ว่า กันตนาและไตรภพ ในฐานะผู้จัดละคร ผู้ผลิตรายการ คงไม่ต้องการผูกมัดตนเองกับสถานีใดเพียงสถานีเดียว เนื่องจากการสามารถผลิตรายการป้อนให้สถานีหลายๆช่องจะทำให้ธุรกิจมีการเติบโตได้มากกว่าการจำกัดตนเองอยู่กับสถานี 1 – 2 แห่งเท่านั้น นอกจากนี้ จำนวนเงิน 1,500 ล้านบาท นับว่าเป็นจำนวนเงินมหาศาลอย่างมากสำหรับทั้งคู่หากจะนำมาลงทุนกับไอทีวีครั้งนี้ ประกอบกับความไม่มั่นใจเรื่องที่สำนักนายกรัฐมนตรีได้ขออุทธรณ์คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ ต่อศาลปกครองที่ให้ลดค่าสัมปทานขั้นต่ำของไอทีวีจากอัตราก้าวหน้าที่ต้องเพิ่มขึ้นปีละ 100 ล้านบาทเหลือปีละ 230 ล้านบาท แม้ว่านักลงทุนจะเห็นว่าไอทีวีมีความเป็นไปได้สูงกว่า 80% ที่จะชนะคดีดังกล่าว แต่หากผลออกมาเป็นตรงกันข้าม ไอทีวีจะต้องจ่ายค่าสัมปทานย้อนหลังพร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด ทำให้การดำเนินธุรกิจจะไม่มีทางกำไรอย่างแน่นอน และหากเป็นเช่นนั้นนักลงทุนคงตัดสินใจเทขายหุ้นไอทีวีทิ้งทั้งหมด จึงถือเป็นความเสี่ยงที่ยังไม่มีบทสรุปอย่างชัดเจน และคาดว่าจะมีความยืดเยื้อออกไปอีก
ขณะที่ไอทีวี ผู้ที่ดูเหมือนว่าจะเป็นฝ่ายถูกปฏิเสธ และน่าจะเสียผลประโยชน์อย่างน้อยก็ผู้เชี่ยวชาญในการผลิตรายการบันเทิง ทว่า หากมองในมุมเจ้าของสถานี อาจถือเป็นความโชคดีในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเปิดโอกาสให้ผู้จัด หรือผู้ลิตรายการค่ายอื่นๆเข้ามาร่วมงานมากขึ้น เช่น เวิรค์ พอยท์ , มีเดีย ออฟ มีเดีย เป็นต้น โดยมีไอทีวีเป็นผู้ตัดสินใจเพียงคนเดียว เพราะหากมีกันตนาและไตรภพร่วมเป็นผู้ตัดสินใจด้วย ย่อมเป็นไปได้ยากที่จะมีผู้ผลิตรายการรายอื่นเข้ามาร่วมงาน ซึ่งจะทำให้รูปแบบรายการอยู่ในรูปแบบเดิมๆ และแม้ว่าทั้งคู่จะไม่ร่วมลงทุนในครั้งนี้ แต่การร่วมผลิตรายการคงดำเนินต่อไป โดยกันตนา ไตรภพก็คงทำหน้าที่ผลิตรายการ ละครนำเสนอแต่ละช่องตามปกติ มากน้อยขึ้นกับเวลาที่ได้รับ
“ไอทีวีน่าจะพอใจกับผลที่ออกมาในครั้งนี้ เพราะสามารถตัดสินใจด้วยตนเองได้อย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการพิจารณาเรื่องรูปแบบรายการ ที่ไม่ทำเรตติ้งหรือไม่มีการพัฒนาก็สามารถถอดออกได้ทันที แต่ถ้ามีผู้จัดรายใดคัดค้าน เช่น ไตรภพไม่เห็นด้วยจะถอดรายการออกไป ก็คงเป็นไปได้แต่อาจจะยาก เพราะตัวเลือกจำนวนช่องที่ค่อนข้างจำกัดของไตรภพ และรูปแบบรายการที่ใช้เวลานาน คาดว่ามีโอกาสน้อยที่ช่องอื่นจะให้เวลา”
นักวิเคราะห์ กล่าวต่อว่า ในปี 2549 ไอทีวีมีแผนจะปรับผังรายการใหม่ทั้งหมด แต่ยังคงความเป็นสถานีข่าวเช่นเดิม โดยครั้งนี้อาจจะมีการปรับบุคคลหรือรายการใดออกจากออกจากผัง รวมทั้งจะมีการเพิ่มละครยาวช่วงไพร์มไทม์เช่นเดียวกับช่อง 3 , 7 จากปัจจุบันที่มีละครสั้นที่จบเป็นตอนๆของค่ายกันตนาเท่านั้น”
อย่างไรก็ตาม การปฏิเสธไม่ร่วมทุนของกันตนาและไตรภพครั้งนี้ อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อราคาหุ้นไอทีวี แม้ในช่วงแรกที่การประกาศว่าจะมีการร่วมทุนเกิดขึ้น ส่งผลให้ราคาหุ้นไอทีวีถีบตัวสูงถึง 34.50 บาท จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 4-5 บาทเท่านั้น ซึ่งถือเป็นช่วงที่สร้างมูลค่าและเม็ดเงินให้กับไอทีวีอย่างมหาศาล แม้ว่าราคาจะหล่นมาอยู่ที่ 13 – 14 บาท หลังจากที่เข้ามาร่วมทำรายการ เพียง 4 – 5 เดือนเท่านั้น แต่คาดว่าผลสรุปเรื่องสัมปทานที่อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ในชั้นศาลตอนนี้ จะมีผลต่อราคาหุ้นของไอทีวีมากที่สุด เพราะหากผลสรุปว่าแพ้นักลงทุนคงตัดสินใจเทขายหุ้นทิ้งทั้งหมด
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|