ผู้บริโภคไทยยุค Smart Age ห่วงใยสุขภาพอ่านฉลากก่อนซื้อ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เอซีนีลเส็นเผยผลสำรวจพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคในยุค Smart Age จะให้ความสำคัญกับการอ่านฉลากก่อนซื้อโดยเฉพาะผู้บริโภคชาวไทยกว่า 41% ให้ความสนใจในฉลากอาหารบนตัวผลิตภัณฑ์ซึ่งมากที่สุดในเอเชีย ทั้งนี้ผู้บริโภคชาวไทยจะมีการตรวจสอบข้อมูลบนผลิตภัณฑ์เสมอ

ในขณะที่ครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคทั่วโลกมีความเข้าใจในข้อมูลบนฉลากอาหารเพียงบางส่วน ทั้งนี้มีผู้บริโภคเพียง 20% เท่านั้นที่ตรวจฉลากอาหารทุกครั้งในขณะที่ผู้บริโภค 40% ตรวจฉลากอาหารเมื่อซื้อสินค้านั้นๆเป็นครั้งแรก และผู้บริโภคเกือบ 30% มีการตรวจฉลากเมื่อซื้ออาหารบางชนิดเท่านั้น

การสำรวจความคิดเห็นออนไลน์ของผู้บริโภคทั่วโลกโดยเอซีนีลเส็นจากผู้บริโภคกว่า 21,100 คน ใน 38 ประเทศ จากยุโรป, เอเชียแปซิฟิค,อเมริกาเหนือ, ลาตินอเมริกา และอัฟริกาใต้ โดยการสำรวจได้สอบถามผู้บริโภคทั่วโลกว่ามีความเข้าใจเกี่ยวกับฉลากอาหารบนตัวผลิตภัณฑ์มากน้อยเพียงใด ตรวจสอบฉลากอาหารเมื่อใดและตรวจสอบในเรื่องใดบ้างเมื่อซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคจากผลการสำรวจพบว่า ผู้บริโภคชาวไทยให้ความสนใจในฉลากอาหารมากที่สุดในเอเชียถึง41% โดยผู้บริโภคชาวไทยมักตรวจสอบข้อมูลบนผลิตภัณฑ์เสมอ ในขณะที่โดยทั่วไปหนึ่งในห้าของผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิค, ยุโรปและอเมริกาเหนือตรวจฉลากอาหารบนตัวผลิตภัณฑ์เป็นประจำโดยผู้บริโภคชาวลาตินอเมริกามีการตรวจฉลากมากที่สุดถึงสามในห้าของผู้บริโภค ส่วนประเทศอื่นๆในเอเชียแปซิฟิคที่อยู่ในสิบอันดับแรกของโลกที่ให้ความสนใจในการตรวจสอบฉลากอาหารได้แก่ ประเทศอินเดีย (32 %) และประเทศมาเลเซีย (29 %)

"สำหรับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหาร การนำเสนอฉลากอาหารไม่ว่าจะเป็นส่วนที่ดึงดูดความสนใจของผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าและความชัดเจนของข้อมูลบนฉลากจะเป็นตัวตัดสินในการที่ผู้บริโภคจะลองสินค้านั้นหรือไม่ ตัวผลิตภัณฑ์เอง และฉลากผลิตภัณฑ์ที่เข้าใจง่ายจะเป็นตัวตัดสินว่าผู้บริโภคจะซื้อสินค้านั้นๆหรือวางมันกลับไปบนชั้นวางสินค้า" นางจันทิรา ลือสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอซีนีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ในขณะที่ผู้บริโภคตรวจฉลากอาหารนั้นผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเข้าใจในฉลากอาหารที่พวกเขาอ่าน ครึ่งหนึ่งของผู้บริโภคทั่วโลกกล่าวว่า พวกเขาเข้าใจแค่บางส่วนของฉลากอาหาร โดย60%ของผู้ที่อาศัยอยู่แถบเอเชียแปซิฟิคเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่เข้าใจในฉลากน้อยที่สุด ตามมาด้วยชาวยุโรป (50%) และชาวลาตินอเมริกา (45%)ส่วนผู้บริโภคที่มีความเข้าใจในฉลากอาหารมากที่สุดคือชาวอเมริกัน โดย 64%อ้างว่าเข้าใจฉลากเกือบทั้งหมดจาก 13 ประเทศในแถบเอเชียแปซิฟิค สำหรับประเทศไทยอัตราส่วนของผู้บริโภคที่อ้างว่าไม่เข้าใจฉลากอาหารเลยมีไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซนต์ ในขณะที่ส่วนที่เหลืออ้างว่าพวกเขาเข้าใจในฉลากอาหารไม่ว่าจะเข้าใจเกือบทั้งหมด (40%) หรือเข้าใจเพียงบางส่วน (59%)

"มันเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับผู้ผลิตที่ต้องทำฉลากสินค้าให้ตรงประเด็นและเข้าใจง่ายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้สำหรับผู้บริโภคเพื่อที่ผู้บริโภคจะใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าถ้าผู้บริโภคไม่เข้าในฉลากสินค้า พวกเขาอาจไม่เสี่ยงที่จะซื้อสินค้าก็เป็นได้"นางจันทิรา กล่าว

สำหรับรายละเอียดบนฉลากที่ผู้บริโภคมักจะให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษคือส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะ ไขมันเป็นส่วนประกอบที่ผู้บริโภคพิจารณามากถึง 43% น้ำตาล 42% สารกันบูด 40% สีและสิ่งปรุงแต่ง อย่างละ 36%

จากการสำรวจทั้ง5 ภูมิภาค พบว่า สหรัฐอเมริกา และลาตินอเมริกาติดอันดับสูงสุดในการตรวจสอบระดับไขมันแคลอรี่ และน้ำตาล ในขณะที่ผู้บริโภคในเอเชียแปซิฟิคให้ความสำคัญกับการดูองค์ประกอบที่เป็น สารกันบูด 47% ไขมัน 45% และสี 43% สำหรับผู้บริโภคชาวไทยจะพิจารณาฉลากโดยให้ความสำคัญกับส่วนผสมประเภทสารกันบูด 55% แคลอรี่ 52% และสี 50% บนฉลากอาหารเป็นประจำ

นอกจากนี้ เมื่อถามถึงความแตกต่างระหว่าง ไขมันอิ่มตัว และไขมันไม่อิ่มตัวค่าเฉลี่ยทั่วโลก 56% ระบุว่ารู้ถึงความแตกต่าง ซึ่งสอดคล้องกันในทุกภูมิภาค ในทางตรงกันข้าม จำนวนกลุ่มเป้าหมายสิบอันดับต้นๆอ้างว่าไม่รู้ความแตกต่างโดยชาวญี่ปุ่นนำมาเป็นอันดับหนึ่ง 73% ตามมาด้วยชาวฝรั่งเศส 69% ชาวไต้หวัน 63% และชาวจีน 61% เปรียบเทียบกับประเทศที่เหลือของแถบเอเชียแปซิฟิค ชาวไทยและชาวนิวซีแลนด์เป็นกลุ่มที่รู้ความแตกต่างระหว่างไขมันอิ่มตัวและไขมันไม่อิ่มตัวดีที่สุด โดย 68% ระบุว่าพวกเขาตระหนักถึงความแตกต่างของไขมันทั้งสองชนิด โดยมีชาวสิงคโปร์ตามมาติดๆ 66%

"ผู้บริโภคทั่วโลกไม่เลือกซื้อสินค้าที่พวกเขาคิดว่ามีส่วนผสมที่ไม่เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย และตัดสินใจด้วยตัวเองในการเลือกซื้อสินค้าโดยดูจากระดับไขมันน้ำตาล เป็นต้นในตลาดที่กำลังพัฒนาผู้บริโภคให้ความสำคัญเกี่ยวกับสารกันบูดและสิ่งปรุงแต่งมากกว่าปริมาณแคลอรี่ในขณะที่ผู้บริโภคในตลาดที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญในการตัดสินใจไม่เลือกซื้อสินค้าที่มีส่วนผสมที่ทำให้พวกเขามีน้ำหนักเพิ่มขึ้นและการเผชิญหน้ากับการมีน้ำหนักตัวที่มากเกิน" นางจันทิรา กล่าว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.