ศึกประลองความเหนือชั้นจอโฆษณา 3 มิติ


ผู้จัดการรายสัปดาห์(3 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

แม้ว่าจะเป็นสื่อรูปแบบใหม่ ที่คนไทยอาจยังไม่คุ้นตา แต่แค่ออกตัวก็เปิดฉากเฉือนกันอย่างเข้มข้นสำหรับจอโฆษณา 3 มิติ Holovision จากค่าย Innovative และ 3D Digital Signage จากค่าย Absolute impact ซึ่งเปิดตัวห่างกันแค่เดือนเดียว ต่างคนต่างอ้างความเป็นสุดยอดเทคโนโลยีของจอสามมิติที่ไม่ยอมรองใคร

Holovision เป็นเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกาใช้เทคนิคเลนส์เว้าช่วยในการทำให้ภาพเป็นสามมิติ มีคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลเป็นตัวเชื่อมต่อและส่งภาพออกมา โดยทาง Innovative ได้รับสัญญาสัมปทานในการติดตั้งในห้างเดอะมอลล์ 5 สาขา จอภาพ 3 ขนาด คือ 17 , 29 และ 40 นิ้ว ต้นทุนประมาณจอละ 6 แสนบาท ตั้งราคาขายโฆษณารวมเป็นแพกเกจ เริ่มต้นที่ 3.15 แสนบาทต่อเดือน โดยจะออกอากาศในห้างทั้ง 5 สาขาหรือออกอากาศได้รวมเดือนละ 4,500 นาที

ภาพที่ปรากฏจะเน้นการนำเสนอไปที่ตัววัตถุซึ่งจะดูเหมือนลอยได้อยู่ในจอตามโปรแกรมอินเตอร์แอคทีฟที่วางไว้ สามารถมีปฏิสัมพันธ์ผ่านได้ด้วยทางเมาส์เช่น คลิ๊กแล้วสามารถเห็นส่วนประกอบโครงสร้างภายในแยกเป็นส่วนๆได้ เป็นต้น ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับการนำเสนอตัวสินค้า ณ จุดขาย(Display Object) แต่ทั้งนี้ภาพ 3 มิติดังกล่าวต้องใช้โปรแกรมขึ้นมาทำเฉพาะเพื่อให้กำหนดทิศทางการหมุนและการเกิดปฎิสัมพันธ์ได้ ซึ่งปัจจุบัน กันตนาแอนนิเมชั่นเป็นเพียงบริษัทเดียวในประเทศไทยที่มีโปรแกรมทำภาพดังกล่าวนี้ โดยคิดค่าโปรดักชั่นถูกที่สุดเริ่มต้นที่ 8 พันบาท ส่วนข้อจำกัดของจอชนิดนี้คือสามารถมองเห็นวัตถุภายในในรัศมี 60 องศาจากด้านหน้าเท่านั้น โดยค่าเช่าจอสำหรับใช้ในงานอีเว้นท์อยู่ที่ประมาณวันละ 3 หมื่นบาท

ในขณะที่ 3D Digital Signage เป็นเทคโนโลยีที่นำเข้าจากประเทศเยอรมัน ใช้เทคโนโลยีจอ LCD 2 มิติเพิ่มการติดตั้ง Opticality Filter ไว้ภายใน ภาพที่แสดงออกมาจะจะไม่ลอยออกมาเป็นวัตถุให้เห็นอย่างชัดเจน แต่จะเป็นภาพนูนสูงและนูนต่ำ สามารถนำเสนอโฆษณาที่มีเนื้อหายาวต่อเนื่องเป็นเรื่องราวได้เช่นเดียวกับโทรทัศน์ทั่วไป(Full VDO Version) ดังนั้นสื่อชนิดนี้จึงเหมาะสมในการเป็นโฆษณาส่งเสริมภาพลักษณ์มากกว่า แต่ละจอมีต้นทุนการนำเข้าราว 9 แสนบาท ซึ่งAbsolute impact ได้รับสัญญาสัมปทานในการติดตั้งจอชนิดนี้ตั้งใจเจาะกลุ่ม Premium Market ในห้างเอ็มโพเรียมและสยามพารากอน โดยจอมี 2 ขนาดคือ 40 และ 45 นิ้ว เชื่อมต่อกันทั้งหมดด้วยเครือข่าย 3 มิติ สามารถสั่งการได้จากศูนย์กลาง กำหนดราคาไว้ที่ 3.6 หมื่นบาท/จอ/เดือน หรือออกอากาศได้รวมเดือนละ 4,320 นาที

การทำโฆษณา 2 มิติที่ออกฉายบนโทรทัศน์ทั่วไปให้เห็นเป็นภาพ 3 มิติบนจอนี้ทำได้โดยแยกเลเยอร์และไดคัทออกจากแบ็กกราวซึ่งในประเทศไทยมี 3 บริษัทที่รับทำคือ อิมเมจิแม็กซ์, ดิจิตอล เมจิก เอ็ฟเฟ็ค และ บลูแฟรี่ คิดค่าโปรดักส์ชั่นโดยเฉลี่ยวินาทีละ 4-5 พันบาท (โฆษณาปกติมีความยาวเรื่องละ 30 วินาที)

นอกจากนี้ Absolute impact ยังได้เตรียมลงทุนเพิ่มในการนำเข้ากล้องสเตอริโอ แคมเมอร่าซึ่งเป็นกล้อง 2 เลนส์ที่ใช้สำหรับการถ่ายทอดสดสามมิติอีกด้วยในปีหน้าซึ่งราคาสูงราว 1 ล้านบาทเพื่อรองรับการจัดอีเวนท์ โดยจะคิดค่าเช่าเป็นรายจอวันละ 5 หมื่นบาท แต่จอชนิดนี้ก็มีข้อจำกัดเช่นเดียวกันคือ สามารถมองเห็นวัตถุเป็น3 มิติในรัศมี 120 องศาจากด้านหน้าเท่านั้น

นอกเหนือจากการสื่อดังกล่าวที่จะนำไปใช้ในวงการโฆษณาแล้วทั้ง 2 บริษัทยังได้มีโครงการที่จะประยุกต์สื่อ 3 มิตินี้ให้ใช้ประโยชน์เพิ่มเติมในธุรกิจอื่นๆเพิ่มเติมอีกด้วย อาทิ การเรียนการสอน ตลอดจนประยุกต์ใช้ในธนาคาร ซึ่งต่อไปหากเป็นที่นิยมแพร่หลายแล้ว สื่อดังกล่าวจะมีต้นทุนต่ำลงรวมทั้งยังสามารถย้ายฐานผลิตเข้ามาในประเทศไทยได้อีกด้วย

เห็นค่าเช่าสูง ๆ และยังต้องจ่ายค่าโปรดักชั่นกันหนักหนาพอดูขนาดนี้ แต่ทั้ง 2 ค่ายยังมั่นใจว่า ภายใน 2-3 ปี จะมีลูกค้ามาอุดหนุนกันให้คืนทุนได้ไม่ยากแน่นอน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.