การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มทรีนีตี้ วัฒนา มีความหมายต่อการดำเนินธุรกิจของบริษัทในอนาคตและ
ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ อย่างยิ่ง นับตั้งแต่กลุ่มทรีนีตี้ วัฒนา ประกาศตัวออกมาเมื่อกลางเดือนมีนาคม
2544 ได้รับการจับตามองอย่างมากสำหรับ การดำเนินธุรกิจในตลาดทุนไทย เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่ก่อให้เกิดความสนใจจนถึงทุกวันนี้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำองค์กร ภควัต โกวิทวัฒนพงศ์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
ในอดีตเคยได้รับความเจ็บปวดจากวิกฤติเศรษฐกิจจนต้องถอยออกมาจัดตั้งบริษัทใหม่
เพื่อทำงานตามเส้นทางที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญมากที่สุด
อีกทั้งยังได้กลุ่มบริษัทคอมลิงค์เข้ามาถือหุ้นใหญ่ หรือแหล่งเงินทุนสำหรับการดำเนินธุรกิจ
จนถึงการวางสถานะองค์กรให้เป็นสถาบันการเงินของคนไทย เพื่อนักลงทุนไทยพร้อมกับยุทธศาสตร์ทำงานแบบค่อยเป็นค่อยไปแต่มีความชัดเจนส่งผลให้ทรีนีตี้
วัฒนา โดดเด่นอย่างมาก
ภควัตใช้เวลาไม่ถึง 3 ปีสามารถทำให้บริษัทเดินเข้าสู่ทิศทางที่ต้องการได้
โดยเฉพาะความสำเร็จในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ "นี่คือแผน การของพวกเราตั้งแต่เริ่มตั้งบริษัทและเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับการได้คอมลิงค์มาถือหุ้นใหญ่"
ภควัตบอก
นอกจากนี้ ภควัตยังแสวงหาโอกาส ให้บริษัทและผู้ถือหุ้นนอกเหนือไปจากกลยุทธ์หลัก
โดยเมื่อกลางปีที่ผ่านมาเขาพยายามนำ บล.ทรีนีตี้ควบรวมกิจการกับบล.ยูไนเต็ด
โดยทั้งสองฝ่ายตั้งความหวังเอาไว้สูง เพราะหมายถึงความสำเร็จจะเกิด ขึ้นอย่างรวดเร็ว
แต่ในที่สุดดีลนี้ก็ล้มเหลว
"ช่วงจังหวะนั้นเป็นโอกาสที่ดีสำหรับพวกเราไม่ได้เป็นแผนงานหลัก"
แต่ดูเหมือนว่าทรีนีตี้ วัฒนา ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะหลังจากนั้นการดำเนินธุรกิจก็เติบโตอย่างต่อเนื่องท่ามกลางความเชื่อมั่นของนักลงทุน
และ ช่วงต้นเดือนนี้เป็นจังหวะเหมาะสมสำหรับ การเข้าตลาดหุ้น "คิดกันมานานแล้ว
แต่หลายคนกังวลว่าถ้าเข้าตลาดช่วงนี้ไม่เป็นผลดี ราคาหุ้นอาจจะอ่อนตัวลง"
ภควัตเล่า "พวกเราไม่มีความคิดจะตั้งราคาหุ้นระดับสูง แต่น่าจะเป็นโอกาสให้ประชาชนเข้ามาถือหุ้นเพิ่มมากขึ้น"
สาเหตุที่เข้าตลาดหุ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความต้องการเพิ่มฐานเงินทุน เพื่อสร้างโอกาสให้กับตนเองได้ทำงานร่วมกับนักลงทุนต่างประเทศ
เพราะก่อนขยายฐานธุรกิจจำเป็นต้องเพิ่มความแข็งแกร่งด้านเงินทุน อีกทั้งยังต้องการเม็ดเงินเพื่อนำไปลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพสูง
"ปัจจุบันสถาบันการเงินระดับโลกหลายแห่งไม่มีสำนักงานในไทย หรือบางแห่งถอนตัวออกไปเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจ
ปัจจัยเหล่านี้เป็นช่องทางให้พวกเราเข้าไปร่วมมือกับพวกเขาหากตลาดทุนไทยเติบโต
ขึ้นมาจนเป็นแห่งสำคัญ" ภควัตอธิบาย
อย่างไรก็ตาม การเสนอขายหุ้นครั้งแรกให้กับประชาชน (IPO) ของทรีนีตี้ วัฒนา
อาจจะไม่เพียงพอต่อความต้องการ สำหรับสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ดังนั้นบริษัทได้เสนอขายหุ้นให้กับนักลงทุน
แบบเฉพาะเจาะจง (PP) ก่อน แก่ธนาคาร กรุงไทย คิดเป็น 19.5% ของทุนจดทะเบียน
และกองทุน Thailand Equity Fund คิดเป็น 14% ของทุนจดทะเบียน
"ผู้ถือหุ้นเดิมช่วยให้พวกเราจัดตั้งองค์กรขึ้นมาได้ แต่การเข้ามาถือหุ้นของพันธมิตรทั้งสองช่วยให้สามารถขยายฐานลูกค้า
และเครือข่ายทางธุรกิจกว้างมากขึ้นทั้งในและต่างประเทศด้านธุรกิจหลักทรัพย์
และวาณิชธนกิจ"
จำนวนหุ้นที่ขายให้กับพันธมิตรใหม่ดังกล่าวมาจากหุ้นเพิ่มทุนโดยทรีนีตี้
วัฒนา เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 320 ล้านบาทเป็น 700 ล้านบาท สำหรับหุ้นจะขาย
ให้กับประชาชนสัดส่วน 20% ของทุนจดทะเบียนหรือ 28 ล้านหุ้น
ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจที่ไม่มีความแน่นอน น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่งว่า
หลังจากทรีนีตี้ วัฒนา เข้าตลาดหุ้น ผู้นำอย่างภควัตจะสามารถบรรลุตามเป้าหมาย
ได้หรือไม่