ความท้าทาย

โดย ฐิติเมธ โภคชัย
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

มีผู้บริหารมืออาชีพสัญชาติไทยไม่กี่คน ที่ประสบความสำเร็จสูงสุดกับบรรษัทข้ามชาติ จะตัดสินใจลาออกด้วยเหตุผลหลัก "หมดความท้าทาย" แต่วรภัค ธันยาวงษ์ ทำมาแล้ว

หากดูนามบัตรของวรภัค ธันยาวงษ์ ที่งานด้านตลาดทุนอยู่ภายใต้การบริหารของเขาทั้งหมด เริ่มตั้งแต่ Managing Director, Co-Head of Global Markets, Head of Debt Markets & Liability Risk Management แห่งดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank) ประจำประเทศไทย และเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาแผนกค้าเงินตราต่างประเทศถูกโอนมาอยู่ในความดูแลของเขา

ด้วยอายุเพียง 38 ปีของวรภัคแต่เขากลับถูกเลือกและได้รับความไว้วางใจจากสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ สัญชาติเยอรมันให้รับผิดชอบงานด้านตลาดทุน (Capital Market) ทั้งหมดในประเทศไทย ถือเป็นความภูมิใจสำหรับเขาอย่างยิ่ง

"เป็นงานที่สนุก ท้าทาย และเหมือน กับเป็นงานช่วยชาติ ทำให้บริษัทลูกค้าสามารถหาเงินทุนเข้ามาทำธุรกิจต่อไปได้" วรภัคบอก "เราหาของมาขายเพื่อไม่ให้เงิน นอนอยู่นิ่งๆ งานเราเหมือนกับเอา Story ของลูกค้าไปขาย และช่วยให้นักลงทุนมีช่องทางการลงทุนเพิ่มขึ้น"

นับตั้งแต่วรภัคเข้ามาทำงานในดอยช์แบงก์ถูกจับตามองจากวงการมากพอสมควรในฐานะผู้บริหาร "มืออาชีพรุ่นใหม่" ที่มีความสามารถและก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ก็มีคำถามตามมาว่าทำไมเขาเลือกเส้นทางการทำงานหนักทั้งๆ ที่ในอดีต ถือว่าประสบความสำเร็จสูงสุดแล้ว

วรภัคจบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน Management Science & Computer System จาก Oklahoma State University ในปี 1986 เป็นสาขาที่เขาชื่นชอบมานานและใฝ่ฝันอยากจะทำงานด้านนี้ แต่เมื่อพ่อแม่ต้องการให้ศึกษาต่อในระดับปริญญาโทก่อน และแนะนำว่าควรจะเลือกเรียนด้านการเงินเพราะมีงานรองรับได้กว้างกว่าทางวิทยาศาสตร์ วรภัคจึงไปเรียน เอ็มบีเอด้านไฟแนนซ์ ที่ University of Missouri และสำเร็จในปี 1988

ในปีถัดมาเขากลับมาทำงานให้กับไอบีเอ็มสาขาประเทศไทยในฐานะ Leasing Specialist ทั้งๆ ที่ในใบสมัครงานเป็นตำแหน่ง System Engineer แต่เขาก็เข้าทำงานด้วยความคิดที่ว่าไม่นานบริษัทคงจะย้ายไปในตำแหน่งที่ต้องการ

อย่างไรก็ดี ด้วยความรับผิดชอบที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขและงบการเงินทำให้ วรภัคเริ่มชอบงานด้านการเงินมากขึ้น และนี่คือจุดเริ่มต้นชีวิตการทำงานในตลาดทุนจนถึงปัจจุบันทั้งๆ ที่ Computer Program- ing คือสิ่งที่เขาหมายมั่นปั้นมือที่จะเข้ามาทำงานให้ได้

หลังจากทำงานที่ไอบีเอ็มได้ปีครึ่งวรภัคตัดสินใจลาออกเพื่อแสวงหาความท้าทายกับ Bank of America สาขาประเทศไทย เริ่มต้นด้วยเจ้าหน้าที่ด้าน Corporate Banking และดูเหมือนว่าโชคจะเข้าข้างเพราะตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมาเศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็วส่งผลให้ธนาคารสัญชาติอเมริกันขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

"เป็นงานที่สนุกเพราะกิจกรรมของธนาคารยุคก่อนวิกฤติ Active มากทำให้เรามีประสบการณ์มากนับตั้งแต่ Project Finance ระดับเล็กไปจนถึงดีลโรงกลั่นน้ำมันที่เข้าไปสัมผัสมาแล้วทั้งสิ้น"

ด้วยฝีมืออันโดดเด่นของวรภัค จึงได้รับการโปรโมตให้เป็น Country Manager หน้าที่หลักคือ ดูภาพรวมทั้งหมด ด้าน Corporate Banking โดยเน้นการตลาด ถือเป็นคนไทยคนแรกที่ได้รับความไว้วางระดับนี้

อย่างไรก็ตาม เมื่อธนาคารแห่งนี้รวมกิจการกับเนชั่นแบงก์ช่วงปี 1997 ประกอบกับวิกฤติเศรษฐกิจกำลังโจมตีเอเชีย อีกทั้งนโยบายใหม่ที่มุ่งทำธุรกิจเฉพาะในอเมริกาทำให้การทำงานของสาขาต่างประเทศจึงลำบากมากขึ้น

ด้วยบุคลิกที่กระตือรือร้น สถาน การณ์เช่นนี้ทำให้วรภัคเริ่มมองอนาคตของ ตนเองและการตัดสินใจลาออกเพื่อแสวง หาความท้าทายเป็นวิธีที่เขาเลือก "ทุกคนที่บ้านคัดค้านการตัดสินใจของผม" เขา เล่า "แต่ผมเลือกแล้วโดยให้เหตุผลว่าจะให้มาทำหน้าที่เพียงไปตัดริบบิ้น พบปะผู้ใหญ่ ไปประชุม มันไม่สนุกและหมดความท้าทายอีกต่อไป"

แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชาที่โปรโมตเขาให้ขึ้นถึงระดับนี้ยังอดแปลกใจไม่ได้กับการตัดสินใจลาออก "เขาบอกว่าอุตส่าห์ผลักดันให้ดำรงตำแหน่งนี้จะหนีไปแล้ว หรือ ผมก็ให้เหตุผลว่าคุณโปรโมตขึ้นมาแต่เหมือนกับส่งผมไปรบแต่ไม่ให้อาวุธ จะขอทำอะไรก็ไม่ให้"

ขณะที่ Bank of America เริ่มลดบทบาทการทำงานในต่างประเทศลง (เช่น สาขาในไทยช่วงที่วรภัคเป็น Country Manager มีพนักงานประมาณ 150 คน ปัจจุบันเหลือประมาณ 60 คน) ทางด้านดอยช์แบงก์เริ่มคึกคักมากขึ้นหลังเปลี่ยนสถานะจาก Commercial Bank เป็น Investment Bank โดยเฉพาะหลังรวมกิจการกับแบงเกอร์ทรัสต์ในปี 1998 ส่งผลให้วรภัคไม่ลังเลใจที่จะตอบรับข้อเสนอจากผู้บริหารดอยช์แบงก์ในเมืองไทยที่มองเห็นฝีมือการทำงานของเขา

สิงหาคมปีที่ผ่านมา วรภัคเข้ามาดูแลงานด้านตลาดทุนซึ่งเป็นเส้นทางชีวิตการทำงานที่เลือกเดินด้วยตนเอง "ที่นี่มีความท้าทายมากขึ้น ต้องเข้าใจกลไกตลาด ดูด้านผลิตภัณฑ์ จากเดิมที่ทำหน้าที่เพียงการตลาดเท่านั้น"

นับตั้งแต่เข้ามาสัมผัสบรรยากาศทำงานแห่งใหม่ ดูเหมือนว่าวรภัคมีความสุขไร้ความกังวล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรจากอเมริกันให้เป็นยูโรเปี้ยน "ผมไม่มีความกดดันเพราะที่นี่มี value relationship ค่อนข้างมาก ส่วนสไตล์อเมริกันต่อให้คุณมีสายสัมพันธ์แนบแน่นแต่เมื่อไรที่ไม่สามารถทำงานได้ตามเป้าหมายโดยเฉพาะ ด้านตัวเลขโอกาสที่จะหลุดมีมาก"

เขายังอธิบายต่อไปว่า "สไตล์ ยูโรเปี้ยนจะเข้าใจในกระบวนการทำงาน อย่างเช่นเราขอทำ Underwrite 100 ล้านเหรียญสหรัฐง่ายมากเมื่อเทียบกับองค์กรเก่าที่ต้องทำรายงาน 30-40 หน้า"

นอกเหนือไปจากการแข่งขันทางด้านธุรกิจเพื่อแสวงหารายได้ให้กับบริษัทแล้ว วรภัคยังมีแนวความคิดในการพยายาม พัฒนาตลาดทุนไทยให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น "ผมจะนำเอารูปแบบการทำงานจากตลาดทุนต่างประเทศเข้ามาพัฒนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับตลาดทุนไทย" เขาบอก "แม้กระทั่งโกล บอลบอนด์ของกระทรวงการคลังก็เป็นหุ้นกู้รูปแบบใหม่ซึ่งเราก็ได้เข้าไปมีส่วนร่วม โดยในอดีตไทยไม่เคยออกหุ้นในลักษณะเช่นนี้มาก่อน"

เช่นเดียวกับโครงสร้างหุ้นกู้ของบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย (IFCT) ที่ดอยช์แบงก์เข้าไปทำให้ในฐานะ Sole Arranger ถือเป็นหุ้นกู้ประเภท Structure Note ที่ออกครั้งแรกในตลาดทุนไทย

นอกเหนือจากนี้สิ่งที่วรภัคกำลังเตรียมการและสนใจที่จะเสนอ คือ ผลิตภัณฑ์แปลกใหม่ อาทิ หุ้นกู้ของกรุงเทพ มหานคร, สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย รวมถึง Securitization ซึ่งแทบจะไม่มีให้เห็นในตลาดทุนไทยเลยนับตั้งแต่ปี 2000 ที่เลแมน บราเดอร์สดำเนินการให้กับจีอี แคปปิตอล

อีกทั้งผลิตภัณฑ์อื่นๆ หรือหุ้นกู้อายุ 10 ปี 20 ปีที่ยังไม่มีให้เห็นในตลาดทุน "การทำงานยุคใหม่ต้องมีความคิดสร้าง สรรค์ มีสิ่งแปลกใหม่ที่ลูกค้าต้องการมาดำเนินการ" วรภัคบอก

หากพิจารณาถึงโครงสร้างตลาดหุ้น กู้ในไทยพบว่าสถาบันการเงินต่างประเทศมีบทบาทอย่างมาก จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเมื่อเทียบกับสถาบันการเงินท้องถิ่น ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่ดีต่อการเติบโต เพราะปัจจุบันตลาดหุ้นกู้ในไทยยังมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับปริมาณเงินที่อยู่ในระบบธนาคารพาณิชย์

"พวกเรามองว่าตลาดนี้จะขยายตัว ได้อีกมาก แต่ธนาคารพาณิชย์ต้องเป็นผู้นำ และช่วยกันพัฒนาตลาดทุน" วรภัคกล่าว "ทุกวันนี้ธนาคารท้องถิ่นทำหน้าที่เพียง

รับฝากกับปล่อยกู้เท่านั้น ซึ่งเป็น Old Fashion ขณะที่ในต่างประเทศพวกเขา ทำหน้าที่หาเงินให้กับลูกค้าในรูปแบบอันหลากหลาย"

แน่นอนไม่มีใครปฏิเสธแนวความคิด ของวรภัค แต่อย่าลืมว่าทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจเพราะตราบใดที่ไม่เติบโตเขาก็ยังต้องหากินอยู่กับผลิตภัณฑ์เดิมๆ ต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.