ขึ้น 1% คนผ่อนบ้านเงินหายวูบ 6 พันล.


ผู้จัดการรายวัน(3 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ช็อก!!สถานการณ์ดอกเบี้ยยังคงหลอนคนผ่อนบ้านและคนกู้บ้านรายใหม่ จับตาดอกเบี้ยสูงขึ้น 1% ส่งผลให้เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคหายวูบ 6,000 ล้านบาทต่อปี จับตาดอกเบี้ย MLR ปี 2549 มีสิทธิ์แตะ 8.25-8.50% เตือนคนซื้อบ้านต้องรู้จักการออม ชี้เงินออมเทียบกับระดับรายได้ลดฮวบจากก่อนวิกฤตที่ 12% มาต่ำกว่า 5% ด้านภาวะตลาดอสังหาฯยังเติบโตในอัตราลดลง คาดปีหน้า 5% ของจำนวนหน่วยที่ออกสู่ตลาด ขณะที่มูลค่าประเภทที่อยู่อาศัยเติบโตแค่ 10% หรือ 1.95 แสน ลบ.

แหล่งข่าวจากสถาบันการเงินแห่งหนึ่งเปิดเผยด้วยความเป็นห่วงต่อ แนวโน้มการปรับตัวของอัตราดอกเบี้ย ราคาน้ำมัน ภาวะเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และทิศทางของเศรษฐกิจที่เติบโตลดลง กำลังก่อปัญหาต่อการบริโภคของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคที่ผ่อนชำระที่อยู่อาศัย ที่สามารถในการชำระเงินกู้มีอัตราที่ลดลง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีรายได้ประจำและจำกัด รวมถึงระดับการออมของแต่ละครอบครัวมีความเพียงพอมากหรือน้อยแค่ไหนในการรองรับการผ่อนชำระที่เพิ่มขึ้นในอนาคต

ทั้งนี้ หากวิเคราะห์จากฐานสินเชื่อที่อยู่อาศัยทั้งระบบ ที่มียอดคงค้างอยู่ที่ 1.12 ล้านล้านบาท ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 48 และประเมินจากกลุ่มผู้ที่น่าจะอยู่ในฐานคิดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ซึ่งน่าจะเป็นผู้ที่กู้อยู่เดิมมากกว่าผู้กู้รายใหม่ พบว่า อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 1% จะทำให้เงินในกระเป๋าของผู้บริโภคกลุ่มนี้หายไปประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 0.15% ของมูลค่าการบริโภคของภาคเอกชนของประเทศ ซึ่งจำนวนเงินที่หายไป จะส่งผลให้ภาวะการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคในส่วนอื่นๆ ถูกตัดลง เพื่อนำมาเป็นค่าผ่อนชำระสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว (พิจารณาตารางประกอบ)

“เท่าที่สังเกตตอนนี้ดอกเบี้ยนโยบายของธปท.จะขยับขึ้นเร็วกว่าของ สถาบันการเงิน คาดว่าถึงกลางปี 49 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อในช่วงปลายปีถึงครึ่งปียังคงขยับ แต่โดยรวมแล้วทั้งปีอัตราเงินเฟ้อเมื่อเทียบกับปี 48 แล้วจะลดลง โดยปีนี้คาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 4.7% และปี 49 จะอยู่ที่ 4% ขณะที่เมื่อมองไปปี 2547 อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 2.7% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ไม่สูง อัตราดอกเบี้ยยังต่ำ ทำให้ผู้บริโภคมีรายได้หรือกำลังซื้อที่เยอะ แต่ปี 49 จะมีมุมกลับกัน คือ รายจ่ายของคนผ่อนชำระบ้านจะเพิ่มขึ้นและเร็วกว่ารายได้และเริ่มใกล้เต็มกับระดับรายได้” แหล่ง ข่าวกล่าว

ตามข้อมูลของบริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ได้คาดการณ์อัตราดอกเบี้ย MLR จะมีการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอาจจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 6.00-6.50% ภายในสิ้นปี 48 และขยับขึ้นไปสูงถึง 8.25-8.50% ภายในสิ้นปี 2549 ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น 1% จะทำให้กำลังซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคลดลงประมาณ 8% ซึ่งเป็นอัตราค่าใช้จ่ายที่เร็วกว่ารายได้ของผู้คนผ่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ในด้านของธนาคารพาณิชย์ จะมีการปรับความเสี่ยงโดยการลดวงเงินการปล่อยกู้จากก่อนหน้านี้ประมาณ 90% ของราคาบ้าน ลงมาเหลือ 80% ของราคาบ้าน นั่นหมายถึง ลูกค้าจะต้องมีเงินออมถึง 20%

นอกจากสิ่งที่ต้องคำนึงถึงผลกระทบในอนาคตแล้ว เรื่องของการออมก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะต้องมาพิจารณาอย่างรอบคอบ จากข้อมูลในปี 2546 เงินออมเทียบกับระดับรายได้อยู่ที่ 6% ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับก่อนวิกฤตที่ระดับ 12% และคาดการณ์ว่าในปี 48 เงินออมเทียบกับระดับรายได้จะอยู่ต่ำกว่า 5% และลดลงไปอีก 1-2 ปี ซึ่งสาเหตุหลักเกิดจากต้นทุนค่าครองชีพของผู้ผ่อนชำระบ้านสูงขึ้น แต่เป็นปัญหาในระยะสั้น เนื่องจากรัฐบาลกำลังมีนโยบายการออมภาคบังคับ

สำหรับแนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ ศูนย์วิจัยฯระบุว่า ในปีนี้ยังคงมีอัตราเติบโตในอัตรที่ลดลง โดยจะมีจำนวนหน่วยที่ออกสู่ตลาดประมาณ 65,000 หน่วย ซึ่งเติบโตจากปี 47 เนื่องจากในช่วงต้นปี 48 ผู้ประกอบการอสังหาฯยังมีความเชื่อมั่นต่อตลาด ประกอบกับคอนโดมิเนียมมีการก่อสร้างเสร็จในปีนี้ อย่างไรก็ตามในปี 49 คาดว่าตลาดอสังหาฯจะขยายตัวไม่เกิน 5% ส่วนมูลค่าของตลาดที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยฯในปีนี้จะมีมูลค่า 1.95 แสนล้านบาท เติบโต 10% เมื่อเทียบกับตัวเลขคาดการณ์ในปี 2547 ที่จะมีมูลค่า 1.7 แสนล้านบาท ขณะที่ตัวเลขมูลค่าที่อยู่อาศัย ทั่วประเทศในปี 46 อยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท ปี 45 อยู่ที่ 79,000 ล้าน บาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.