thailand.com หายไปไหน

โดย ไพเราะ เลิศวิราม
นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

จากเว็บไซต์ที่เคยได้ชื่อว่าโด่งดังที่สุดแห่งหนึ่งในยุคบูมของดอทคอม แต่มาวันนี้พวกเขาต้องกลับมาฟันฝ่าอุปสรรคเพื่อความอยู่รอด "ไม่เสียดาย ไม่ผิดหวัง เพราะคิดว่าทำไปเรื่อยๆ อีกไม่นาน ก็คงล้างขาดทุนสะสมได้ แต่เสียดายตรงที่เราเข้าตลาดหุ้นช้าไป" เสริมสิน สมะลาภา กรรมการผู้จัดการบริษัท บอกความรู้สึกของเขาที่มีต่อเว็บไซต์ thailand.com หลังจากที่ต้องเผชิญกับมรสุมตกต่ำของธุรกิจดอทคอม

สามปีที่แล้ว กลุ่มเนชั่นเปิดตัวเว็บไซต์ thailand.com ภายใต้วิสัยทัศน์และโอกาสแห่งอินเทอร์เน็ต ด้วยการทุ่มซื้อโดเมนเนม ชื่อโดนใจจากคนไทยหัวใสในต่างแดน ที่ตั้งราคาไว้ถึง 5 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ตกลงในราคาเท่าไรไม่เปิดเผย ขนาดที่ต้องว่าจ้าง บริษัท Baker & McKinsey มาทำสัญญา

เนชั่นตั้งความหวังไว้ว่า ด้วยชื่อของเว็บไซต์บวกกับเนื้อหา และพลังของสื่อที่มีอยู่จะเป็นแรงผลักดัน thailand.com ไปสู่เป้าหมายของเป็น portal site ของธุรกิจ eCommerce เป็นแหล่ง รวบรวมเนื้อหา จองห้องพักโรงแรม เป็นชอปปิ้งมอลล์ให้คนทั่วโลกมาสั่งซื้อสินค้าไทย

กลุ่มเนชั่นได้เสริมสิน สมะลาภา อดีตเจ้าของมิสเตอร์โฮม มาเป็นหัวหอกในการทำธุรกิจและถือหุ้นร่วมด้วย ว่าจ้างทีมงานกลุ่มคนหนุ่มรุ่นใหม่ จบการศึกษาจากสถาบันศึกษาชั้นเยี่ยมจากต่างประเทศ มาร่วมบุกเบิกเว็บไซต์ thailand.com เพื่อการันตีอนาคตของเว็บไซต์แห่งนี้

ชื่อของ thailand.com เริ่มกระจายไปทั่ว จากงานแถลงข่าว และโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ที่ทำต่อเนื่องพร้อมๆ กัน นอกจาก นี้เนชั่นยังได้ไอบีเอ็มมาเป็นผู้ติดตั้งระบบไอที โดยใช้เงินทุน 81 ล้านบาท ซื้ออุปกรณ์ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์มาติดตั้ง ซึ่งไอบีเอ็ม ก็หวังว่าหากโครงการนี้สำเร็จนั่นหมายถึงโอกาสในครั้งต่อไปของ พวกเขา

ผ่านไปได้ปีเดียว สถานการณ์ก็พลิกผัน เมื่อภาวะตกต่ำของธุรกิจดอทคอม ลุกลามไปทั่ว ไม่เว้นแม้กระทั่ง thailand. com

"ตอนแรกเราประเมินแล้วว่าจะมีเว็บไซต์รอดอยู่แค่ 5% แต่พอฟองสบู่แตก เราก็ต้องมานั่งคุยกับผู้บริหารเนชั่นใหม่ บอกว่าคงจะมีเหลือรอดแค่ 2-3% เท่านั้น" เสริมสินบอก

และหากจะอยู่รอดในจำนวน 2-3% นั่นหมายความว่า บริษัทจำเป็นต้องรัดเข็มขัด ลดค่าใช้จ่ายลง มุ่งสู่ธุรกิจที่ทำเงินได้จริงๆ ซึ่งตัวเลขที่คำนวณออกมาได้คือ บริษัทต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาทต่อเดือน และมีค่าใช้จ่าย 5 แสนบาทต่อเดือน

"ส่วนไหนไม่ทำเงินก็ต้องลดบทบาท หรือปิดไป เช่น โฆษณาบนแผ่นป้ายแบนเนอร์ ที่ทำแล้วไม่คุ้มกับค่าแรง เวลานี้ก็หันมาโฟกัสเฉพาะธุรกิจส่งออก"

จากทีมงาน 90 คน ในช่วงบูม ทุก วันนี้ thailand.com มีพนักงานเพียงแค่ 10 คน ดูแลเว็บไซต์ที่มุ่งไปที่ธุรกิจส่งออก โดยได้ meet worldtrad.com เว็บไซต์ส่งออกจากจีน เป็นพันธมิตรสร้างเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ

ทุกวันนี้ มีลูกค้าทำธุรกิจนำเข้าส่งออกประมาณ 400 ราย ที่ใช้บริการของ thailand.com เป็นหน้าร้านในการซื้อขายสินค้า

"ในจำนวนนี้มีทั้งที่ได้ผลก็เยอะ ไม่ได้ผลก็มีอยู่เยอะ ส่วน ใหญ่ที่ได้ผลดีจะเป็นหมวดอาหาร และเฟอร์นิเจอร์"

บริษัทดิจิตอลเวฟ คือ ธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นหลังการล่มสลายของดอทคอม

จัดตั้งขึ้นเพื่อทำธุรกิจติดตั้งระบบหลังบ้าน วางระบบ ออกแบบเว็บไซต์ให้กับธุรกิจที่ต้องการทำ eCommerce ลูกค้าที่ได้ เช่น ธนาคารทหารไทย รัฐสภา โดยพนักงานที่เหลือ 30 คน ได้โอนย้ายจาก thailand.com ไปอยู่บริษัทแห่งใหม่นี้

เสริมสินเชื่อว่าธุรกิจที่ทำอยู่จะ ทำให้ thailand.com ประคองสถานการณ์ ไปได้ และอาจจะพ้นการขาดทุนในอีกไม่กี่ปี

"ผมว่าเราขยับตัวช้าไป ไม่ต้องถึงตลาดหุ้นแนสแดค เอาแค่ตลาดหุ้นฮ่องกง หรือญี่ปุ่น ขนาดไปคุยกับผู้จัดการตลาดหุ้นแล้วก็ยังไม่ทัน มันตกพอดี ถ้าเราเข้าตลาดหุ้นได้ก่อนหน้านี้คงไม่มีปัญหา เพราะ เราจะได้เงินทุนก้อนใหญ่มาสานต่อธุรกิจ" เสริมสินบอกถึงประสบการณ์ที่ผ่านมา

เขาบอกว่าเวลานี้มีต่างประเทศ ขอซื้อเว็บไซต์บ้าง "แต่ก็ต้องดูความเหมาะสม เพราะชื่อ thailand.com ขายไม่ได้ง่ายๆ มันเป็นชื่อของประเทศ"

"สำหรับตัวผม ก็เหมือนกับนักลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เห็นโอกาสธุรกิจ ไหนดีก็ทำ อันไหนไม่ดีก็ต้องเลิกทำ" เสริม สินบอกทิ้งท้าย "แต่ที่แน่ๆ thailand.com ยังอยู่ เพียงแต่งานเยอะขึ้น"



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.