เฟดมั่นใจศก.ขึ้นดบ.อีก0.25%แบงก์ชี้กลางปี49อาร์/พีแตะ5%


ผู้จัดการรายวัน(3 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.25% ต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 12 พร้อม ส่งสัญญาณชัดเจนจะปรับขึ้นต่อไป อีกเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ เนื่อง จากเศรษฐกิจอเมริกันสามารถแบกรับภาระ และฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หลังเผชิญการพัดถล่มของ พายุเฮอริเคน และราคาน้ำมันที่พุ่ง สูงลิ่ว ด้าน "ทนง" เตรียมปรับเป้าเศรษฐกิจใหม่โตเกิน 4.6% แน่ มั่นใจแบงก์ชาติ-พาณิชย์ ดูแล เงินเฟ้อได้ ขณะที่วงการแบงก์คาดดอกเบี้ยนโยบายของไทยกลางปีหน้าแตะ 5%

คณะกรรมการกำหนดนโยบาย การเงินของเฟด (เอฟโอเอ็มซี) ซึ่ง มีอลัน กรีนสแปน เป็นประธาน ได้มีมติอย่างเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเฟดฟันด์เรตอีก 0.25% เป็น 4% อันเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบกว่า4 ปี โดยให้เหตุผลว่า เพื่อให้อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ กลับเข้าสู่ระดับ "เป็นกลาง" อีกครั้ง โดย ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือผลักดันให้เกิดภาวะเงินเฟ้อมากจนเกินไป

เฟดแถลงว่า จะเดินหน้าดำเนินตามนโยบายการเงิน "แบบค่อยเป็นค่อยไป" ต่อไป อันเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า เฟดจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก ก่อนที่กรีนสแปนจะถึงกำหนดเกษียณอายุ ก้าวลงจากตำแหน่งตอนปลายเดือนมกราคมที่จะถึงนี้ หลังจากอยู่ในตำแหน่งมานาน 18 ปี
คำแถลงของเฟดชี้แจงว่า ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงและกิจกรรมทาง เศรษฐกิจที่หยุดชะงัก อันเนื่องมาจากเหตุพายุเฮอริเคนก่อนหน้านี้ ได้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางเศรษฐกิจและการจ้างงานเพียงชั่วคราวเท่านั้น จึงไม่น่าจะที่จะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว

"ทั้งนี้ การดำเนินตามนโยบาย การเงินที่เอื้ออำนวยต่อสภาพเศรษฐกิจ ผนวกกับประสิทธิภาพ การผลิตที่มีการเติบโตแข็งแกร่ง จะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนอย่างต่อเนื่องต่อการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งคาดว่าน่าจะฟื้นตัวดีขึ้นด้วยการบูรณะฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการพัดถล่มของพายุเฮอริเคนแคทรีนาและริตา"

ขณะเดียวกัน เฟดยังย้ำว่า ปัญหาเงินเฟ้อยังน่าห่วง โดยราคาพลังงานและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เพิ่มมากขึ้น อาจทำให้แรงกดดันด้านภาวะเงินเฟ้อทวีสูงขึ้นได้ แม้ว่าระดับเงินเฟ้อพื้นฐานในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา และตัวเลขประมาณการภาวะเงินเฟ้อระยะยาวในอนาคตจะยังอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ก็ตาม

นักวิเคราะห์จำนวนมากเชื่อว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปอีกจนอยู่ที่ประมาณ 4.5% อย่าง น้อยก็ในช่วงก่อนการสละตำแหน่งของกรีนสแปน โดยเขาจะเป็นประธานการประชุมเอฟโอเอ็มซีอีก 2 ครั้งคือ วันที่ 13 ธันวาคมศกนี้ และ 31 มกราคมปีหน้า

มั่นใจธปท.-พาณิชย์ฯสกัดเงินเฟ้อได้

นายทนง พิทยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึง กรณีที่อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2548 ปรับตัวสูงขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 6.2% ว่า เงินเฟ้อมีการปรับตัวขึ้นในอัตราที่ชะลอลงจากเดือนก่อน ซึ่งเชื่อว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะสามารถดูแลอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงอัตราดอกเบี้ย และปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นได้ ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์จะดูแลเรื่องราคาสินค้า ไม่ให้เกิดการกักตุนสินค้าได้

"มาตรการของธปท. และกระทรวงพาณิชย์ น่าจะเพียงพอต่อการดูแลอัตราเงินเฟ้อ ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องออกมาตรการใดๆ มารองรับ"

สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมต่อการ ส่งออกของภาคเอกชน คือ จะต้องอยู่ในระดับที่ไม่แข็งจนเกินไป โดยระดับที่เอกชนมองว่าเหมาะสม คือ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งการดูแลเรื่องอัตราแลกเปลี่ยน เป็นส่วนหนึ่งของการดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของ ธปท.

ส่วนเรื่องการปรับประมาณการอัตราการเติบโต ทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในปี 2548 ของกระทรวงการคลังนั้น จะถึงกำหนดประกาศตัวเลขในเดือนพฤศจิกายน 2548 นี้ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อว่าจะขยายตัวเกิน 4.6% ได้อย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์ด้าน เศรษฐกิจได้มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้ประมาณการ เดิมที่ สศค.ประกาศไว้ในเดือน สิงหาคมอยู่ที่ 4.1-4.6% คาดอาร์/พีแตะ 5% กลางปีหน้า

นางสาวอุสรา วิไลพิชญ์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ประเทศไทย) กล่าวว่า เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% เป็นไปตามคาดการณ์ และยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องจนถึง ไตรมาส 1 ปี 2549 ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของธปท. ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่า ธปท. จะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% ในการประชุมกลางเดือนธันวาคมนี้

"ที่ผ่านมา ธปท. ได้มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้า ด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 2 ครั้ง ทำให้ปัจจุบันส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยเฟดและ ดอกเบี้ยไทยอยู่ที่ระดับ 0.25% ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เหมาะสม"

ทั้งนี้ ธปท.คงจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่องจนถึงกลางปี 2549 เพื่อให้สอดคล้อง กับทิศทางดอกเบี้ยเฟด และจะทรงตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายของไทยปรับขึ้นไปอยู่ที่ระดับ 5% จากปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.75%

3 ปัจจัยหลักผลักดันดอกเบี้ยขาขึ้น

สำหรับปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธปท. มีปัจจัยหลัก 3 เรื่อง คือ 1.อัตรา ดอกเบี้ยสหรัฐฯ มองว่าดอกเบี้ยเฟดน่าจะขยับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนอยู่ที่ระดับ 4.5-4.75% ภายในไตรมาส 1 ปีหน้า ซึ่งเป็นแรงกดดันทำให้ธปท.ต้องปรับขึ้ ดอกเบี้ยนโยบายตาม 2. อัตราเงินเฟ้อที่มีโอกาสปรับตัว ขึ้นอีก โดยคาดว่าไตรมาส 1 ปีหน้า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 7-8% และทั้งปี 2549 เฉลี่ยอยู่ที่ 8% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานครึ่งแรกจะอยู่ที่ ระดับ 3.5% จะเป็นระดับที่ชนเพดานเป้าหมายของธปท.

ปัจจัยสุดท้าย อัตราการออมในประเทศไทยยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้รัฐบาลและธปท. พยายามหา มาตรการกระตุ้นเงินออม รวมทั้งธปท.เองต้องการให้อัตราดอกเบี้ยแท้จริงเป็นบวก จึงจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้สูงกว่าดอกเบี้ยสหรัฐฯ เพื่อดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศ
"ปัจจัยต่างๆ จะส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินฝากและ เงินกู้ของธนาคารพาณิชย์มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยเงินฝากขณะนี้อยู่ในระดับที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับเงินเฟ้อยังคงติดลบอยู่ ดังนั้นเพื่อ เป็นการกระตุ้นเงินออมภายในประเทศ ทางการน่าจะมีมาตรการจูงใจ เพื่อดันดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่มขึ้น"

นายเชาว์ เก่งชน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า การปรับดอกเบี้ย เฟดครั้งนี้ไม่น่าจะมีผลกระทบกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. โดยธปท. น่าจะคำนึงถึง เรื่องอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเป็นหลัก โดยล่าสุด ณ เดือน ตุลาคม อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงสุดในรอบ 7 ปี อยู่ที่ 6.2%

"แม้เงินเฟ้อพุ่งสูงถึง 6.2% แต่ยังต่ำกว่าตลาดได้คาดการณ์ไว้อยู่ที่ระดับ 6.3% ดังนั้นหากมองในแง่บวกแล้ว ไม่น่าจะเป็นแรงกดดันมากนักต่อการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธปท.ที่จะรุนแรงเหมือน 2 ครั้งที่ผ่านมา"

อย่างไรก็ตาม ในเดือนธันวาคมนี้ ธปท.คงปรับ ขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกประมาณ 0.25% แต่ ธปท.จะต้องพิจารณาตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนพฤศจิกายนนี้อีกครั้ง หากตัวเลขออกมาอยู่ในระดับที่ต่ำมาก ธปท. คงจะปรับดอกเบี้ยนโยบายเพียง 0.25% และจากการ ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคาร พาณิชย์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกแน่นอน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าหรือผู้ประกอบธุรกิจบ้าง

ฉุดเงินบาทอ่อนค่าลงเล็กน้อย

ด้านนักค้าเงินจากธนาคารพาณิชย์ กล่าวว่า การ ตัดสินใจขึ้นอัตราดอกเบี้ยเฟด ได้ส่งผลให้เงินบาทอ่อนค่าลง แต่ไม่มากนักเพราะอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ของไทยได้ปรับขึ้นถึง 0.50% ติดกัน 2 ครั้งในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับมีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหล เข้ามาลงทุนในตลาดเงินของไทยด้วย

โดยอัตราแลกเปลี่ยนค่าบาทเงินบาทวานนี้ (2 พ.ย.) เปิดตลาดที่ 40.82-40.84 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดที่ 40.84-40.86 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งค่าสุดระหว่างวันที่ระดับ 40.78 และอ่อนค่าสุดตามราคาปิดที่ 40.86 โดยการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน ของนักลงทุนค่อนข้างเบาบาง ส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจาก ตลาดเงินของประเทศสิงคโปร์ปิดทำการ 2 วัน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.