|
การบินไทยเหลือแต่จำปี การเมืองฮุบ5ธุรกิจ
ผู้จัดการรายวัน(3 พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
พนักงานการบินไทยหมื่นกว่าคนป่วน ถูกกดดันให้เขียนใบลาออกย้ายไปสังกัดบริษัทในเครือที่จะตั้งขึ้นใหม่เพื่อรับโอน 5 หน่วยธุรกิจหลัก เผยชำแหละการบินไทยเป็นชิ้นๆ เหลือแต่นักบินกับโลโก้ "จำปี" ส่วน ฝ่ายช่าง-คาร์โก-ครัวการบิน-กราวนด์เซอร์วิส-ฝ่ายบริการ ถูกแยกไปตั้งบริษัทใหม่ มีการบินไทยถือหุ้น 100% แต่พนักงานเชื่อเตรียมขายให้เครือข่ายทุนการเมือง ทั้งผัวรัฐมนตรี-น้องสาวนายใหญ่ และยักษ์ใหญ่ธุรกิจเกษตร สหภาพฯยื่นหนังสือถึงบอร์ดให้เลิกแผนชั่ว แต่ผลประชุมวานนี้ เดินหน้าตั้ง 3 บริษัทย่อย
แหล่งข่าวจากบริษัทการบินไทยเปิดเผยว่า ขณะนี้ คณะกรรมการการบินไทยได้เร่งให้กรรมการ ผู้จัดการใน 5 หน่วยธุรกิจ (Business Unit) ในการบินไทยไปเจรจากับพนักงานเพื่อขอความร่วมมือ ให้การลาออกจากการบินไทยไปเป็นพนักงานของบริษัทในเครือที่การบินไทยจะตั้งขึ้นใหม่เพื่อดำเนินกิจการของหน่วยธุรกิจ โดยให้กรรมการผู้จัดการแต่ละหน่วย ทำความเข้าใจกับพนักงาน และให้จดทะเบียนบริษัทภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากพนักงานรับทราบและเห็นด้วย
สำหรับ 5 หน่วยธุรกิจ ประกอบด้วย 1. ช่าง 2. คาร์โก้ 3. โภชนาการหรือครัวการบิน 4. บริการอุปกรณ์ภาคพื้น และ5.หน่วยบริการลูกค้าบนเครื่องและพื้นดิน มีพนักงานรวมกันทั้งสิ้น 14,000 คน
"ผู้บริหารอ้างว่าบริษัทใหม่ที่จะตั้งขึ้นรองรับการโอน เป็นบริษัทในเครือ เพราะการบินไทยยังถือหุ้นทั้ง 100% แต่จากการตรวจสอบโดยละเอียดทราบว่า บริษัทใหม่ทั้ง 5 บริษัทนั้น จะให้การบินไทยถือหุ้นในช่วงแรกเท่านั้น หลังจากนั้นจะมีการขายหุ้นให้กับเอกชน ซึ่งเป็นกลุ่มทุนการเมืองในรัฐบาลชุดปัจจุบันและเครือญาตินักการเมือง"
แหล่งข่าวกล่าวว่า มีการแบ่งผลประโยชน์ใน 5 หน่วยธุรกิจกันเรียบร้อยแล้วคือ บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจอาหารและเกษตร จะเข้าซื้อหุ้นบริษัทที่ตั้งขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลครัวการบิน ขณะที่สามีรัฐมนตรีหญิงคนหนึ่งในรัฐบาลจะเข้ามาเป็นเจ้าของหน่วยคาร์โก้ ส่วนหน่วยบริการภาคพื้นดินจะเป็นของนักการเมือง น้องสาวของผู้มีอำนาจ
ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวเริ่มดำเนินการเมื่อปี 2544 หรือปีแรกที่รัฐบาลนำโดยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เข้ามาเป็นรัฐบาล โดยคณะกรรมการการบินไทยในขณะนั้นมีมติให้การบินไทย แยกหน่วย ธุรกิจออกมา 5 หน่วยดังกล่าว ทำให้ธุรกิจหลัก (Core Business) เหลือเพียง สำนักงานใหญ่ นักบินและลูกเรือ คณะกรรมการฯให้เหตุผลว่า เพื่อความคล่องตัวในการดำเนินงาน
ในช่วงแรกมีการแต่งตั้งกรรมการผู้จัดการและผู้บริหารทั้งระดับรองและผู้ช่วยอีกหลายตำแหน่ง ในแต่ละหน่วยธุรกิจ ก่อนจะปรับโครงสร้างองค์กร จนกระทั่งล่าสุดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาคณะกรรมการการบินไทยได้มีคำสั่งให้แยกระบบบัญชีของ 5 หน่วยธุรกิจดังกล่าวออกจากการบินไทย เพื่อเตรียม พร้อมสำหรับการตั้งบริษัทใหม่ ขณะเดียวกันมีการกดดันหลายรูปแบบให้พนักงานเซ็นใบลาออก
แหล่งข่าวจากสหภาพฯแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเปิดเผยว่า พนักงานส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย กับการเซ็นหนังสือลาออก เรื่องดังกล่าวถูกนำเข้าที่ประชุมสหภาพฯ จึงมีมติให้ยับยั้งแผนดังกล่าวของการบินไทย โดยเมื่อวันที่ 28 ต.ค.ที่ผ่านมา ตัวแทนสหภาพฯได้เข้าพบนายสมใจนึก เองตระกูล กรรมการบริษัทการบินไทย ปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เพื่อยื่นหนังสือให้คณะกรรมการการบิน ไทยยับยั้งแผนการในครั้งนี้ ทั้งนี้หากคณะกรรมการไม่ยอมยับยั้ง สหภาพฯจะทำเรื่องร้องกระทรวงแรงงาน และศาลแรงงานต่อไป
"เรื่องพนักงานได้รับความเดือดร้อนครั้งนี้ เราทราบเอง เพราะบอร์ดไม่ยอมแจ้งแผนการให้พนักงาน ลาออกกับสหภาพฯ ถือเป็นการผิดข้อตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างตามข้อตกลงเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2543 ที่ระบุให้บอร์ดต้องแจ้งสหภาพฯทุกครั้งที่มีเรื่องเกี่ยวกับสภาพการจ้าง แต่เรารอคำตอบจากบอร์ดอีกครั้ง เพราะจะมีการประชุมบอร์ดคืนวานนี้ เพื่อพิจารณาเรื่องที่สหภาพฯยื่นเข้าไป คุณสมใจนึกบอกว่าจะให้คำตอบวันนี้"
แหล่งข่าวจากสหภาพฯยืนยันว่า จะต่อสู้จนถึงที่สุด เนื่องจากไม่เพียงแค่กระทบสถานภาพพนักงาน แต่จะกระทบกับผลประกอบการของการบินไทย เนื่องจาก 5 หน่วยธุรกิจดังกล่าวเป็นส่วนงานที่สร้างรายได้หลักให้การบินไทย ยกตัวอย่าง เช่น หน่วยคาร์โก้ มีอัตราการขยายตัวของรายได้ปีละ 6% เมื่อปี 2547 มีรายได้ 3 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็น 16% ของรายได้การบินไทย เหตุผลหลักที่กลุ่มทุนการเมืองจะเข้ามายึดการบินไทยเนื่องจากเป็นธุรกิจขนส่งหรือลอจิสติกส์ที่มีอนาคต กลุ่มทุนเหล่านี้เชื่อว่าสามารถทำกำไร เพราะเป็นธุรกิจดาวรุ่ง
"การเปลี่ยนผู้ถือหุ้นไปเป็นเอกชน ทำให้กำไรการบินไทยลดลงอย่างแน่นอน เพราะรายได้หรือค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ 5 หน่วยธุรกิจเคยทำรายได้ให้การบินไทยจะลดลง เพราะเมื่อเป็นของเอกชนที่มาเป็นเจ้าของบริษัทใหม่ ก็ต้องตอบสนองผู้ถือหุ้น มากขึ้น ถือว่าเป็นความเสียหายของรัฐและประชาชน"
พนักงานในหน่วยโภชนาการเปิดเผยว่า ขณะนี้บรรยากาศในหน่วยโภชนาการค่อนข้างตึงเครียด การจับกลุ่มคุยกันถึงเรื่องที่ฝ่ายบริหารกดดัน ไม่เกิดขึ้นเฉพาะพนักงานด้วยกันเท่านั้น แต่ทุกคนต้อง ไปปรึกษากับครอบครัว เนื่องจากไม่ต้องการหมดสภาพจากการเป็นพนักงานการบินไทย เพราะทุกคน เชื่อว่าบริษัทใหม่ด้านโภชนาการที่ตั้งขึ้นจะถูกยักษ์ใหญ่ด้านอาหารของเมืองไทยมาซื้อกิจการ
"ฝ่ายบริหารได้ประชุมพนักงานแล้ว แต่พนักงานไม่เห็นด้วย ตอนนี้ได้แต่ตั้งรับ ไม่รู้จะเรียก ไปกดดันอีกเมื่อไร โดยทุกครั้งฝ่ายบริหารอ้างว่าเซ็นไปเถอะ บริษัทใหม่ก็เป็นของการบินไทย เรื่องเงินเดือนหรือสวัสดิการเหมือนกัน แต่พวกเราไม่เชื่อ"
ด้านพนักงานจากหน่วยคาร์โก้เปิดเผยว่า ทันทีที่ถูกกดดันให้เซ็นใบลาออก พนักงานหน่วยคาร์โก้ได้เคลื่อนไหวโดยการประท้วงมาแล้ว 3 ครั้งคือเมื่อวันที่ 17,21,27 ต.ค. ที่ผ่านมา หากมติบอร์ดไม่ยอมยับยั้งแผนดังกล่าว จะมีการเคลื่อนไหวต่อต้านต่อไป
"จริงๆ เรื่องนักการเมืองหรือกลุ่มทุนการเมือง เข้ามายึดคาร์โก้ เคยมีตัวอย่างมาแล้วสมัยพรรคชาติพัฒนาเป็นรัฐบาล ปรากฏว่ามีนายทุนใหญ่ที่ทำธุรกิจขนส่งทางทะเลซึ่งเป็นผู้สนับสนุนพรรคฯในขณะนั้น จะเข้ามาฮุบกิจการในส่วนคาร์โก้ แต่พนักงานและสหภาพฯต่อต้านสำเร็จ ครั้งนี้ก็ต้องต่อสู้จนถึงที่สุด"
ตั้ง 3 บริษัทย่อย
นายวันชัย ศารทูลทัต ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการประชุมวานนี้ (2 พ.ย.) ว่า ที่ประชุมได้มีมติอนุมัติให้มีการต่ออายุการปฏิบัติหน้าที่ของ นายสมใจนึก เองตระกูล กรรมการบริษัทฯ ปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ต่อไปอีก 3 เดือน จากเดิมที่ จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ในวันที่ 10 พ.ย. 2548 นี้ เป็นหมดอายุในวันที่ 10 ก.พ. 2549 ทั้งนี้ เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ดยังอนุมัติในหลักการให้มีการจัดตั้งบริษัทย่อย อีก 3 แห่ง ซึ่งบริษัทฯ จะถือหุ้น 100% เพื่อดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบริษัทฯ ประกอบด้วย บริษัทดำเนินธุรกิจการบริหารงานท่าอากาศยาน บริษัทดำเนินธุรกิจด้านจัดจำหน่ายบัตรโดยสารเครื่องบินและรายการท่องเที่ยว บริษัทดำเนินธุรกิจด้านบุคลากรการบิน โดยได้มอบหมายให้ฝ่ายบริหารฯ ดำเนินการในรายละเอียดตามขั้นตอนต่อไป
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|