กลุ่มทรูเปิดสเปกพันธมิตรต่างชาติ


ผู้จัดการรายวัน(2 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กลุ่มทรูอ้าแขนรับพันธมิตรต่างชาติ ถ้าสนใจ triple play ให้มาทรู แต่ถ้ามือ ถือ 3G หรือ Wi-Max ให้มาออเร้นจ์ โดยต้องลงทุนระยะยาว 7-10 ปีและถือหุ้นไม่เกิน 20-25% ยันหากรัฐไม่กำกับดูแลแบบสะเปะสะปะ อาจไม่ต้องหาพันธมิตรเพราะฐานะการเงินแข็งแรง ย้ำทุกวันนี้กลายเป็นทำให้ทีโอทีกับเอกชนอ่อนแอ รอคนมาชอปปิ้งราคาถูก

นายศุภชัย เจียรวนนท์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารบริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่นกล่าวว่า กลุ่มทรูและทีเอออเร้นจ์พร้อมเปิดรับพันธมิตรทุกรูปแบบ โดยที่ออเร้นจ์ถึงแม้ปัจจุบันจะไม่ต้องการพันธมิตร แต่ถ้าต้องประมูลใบอนุญาตการให้บริการโทรศัพท์มือถือ 3G หรือบริการ Wi-Max ก็จำเป็นต้องหาพันธมิตรโดยสัดส่วนที่มองไว้ประมาณ 20-25% และเลือกพันธมิตรจากประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญในเรื่องการ Synergy โดยต้องพร้อม ที่จะถือหุ้นในระยะยาว 7-10 ปี ไม่เหมือนที่ผ่านมาเมื่อมีการเปลี่ยนผู้บริหารของพันธมิตรต่างประเทศทั้งอังกฤษและฝรั่งเศส ก็เปลี่ยนนโยบายการลงทุนและถอนหุ้นออกไป

"หลักการหาพันธมิตร ถ้าสนใจบริการ triple play ก็จะมาลงทุนในทรู แต่ถ้าสนใจบริการโทรศัพท์มือถือก็จะมาลงในออเร้นจ์ การที่เราเปิดรับพันธมิตร เพราะเห็นแนวโน้มการให้ไลเซนส์ที่ชัดเจนขึ้นของกทช."

เขาย้ำว่าหากไลเซนส์ใหม่ของกทช.ออกได้ปลายปี การหาพันธมิตรใหม่ของกลุ่มทรูหรือทีเอออเร้นจ์คงได้ราวกลางปีหน้า ซึ่งการลงทุนในโครง ข่าย 3G จะเป็นลักษณะการต่อยอดและใช้ประโยชน์ต่อเนื่องจากโครงข่าย 2G ไม่ใช่การลงทุนในลักษณะทดแทนโครงข่ายเดิมที่มีอยู่ เพราะกลุ่มลูกค้าที่จะใช้ประโยชน์ในการรับส่งข้อมูลปริมาณมากจะมีอยู่ในจำนวนไม่มากนัก โดยที่ลูกค้ากลุ่มนี้จะมีการเติบโตไปพร้อมๆกับโครงข่ายการให้บริการ ซึ่งการลงทุน 3G ต้องทำด้วยความระมัดระวังเหมือนในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มทรูอาจไม่ต้องการพันธมิตร หรืออาจให้พันธมิตรถือหุ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่านั้น หากกฎระเบียบและเงื่อนไขในการกำกับดูแลของรัฐ จะทำให้ภาคเอกชนเข้มแข็งเพียง พอที่จะต่อสู้กับต่างประเทศตามการเปิดเสรี โดย ที่ทรูมองว่าส่วนแบ่งรายได้ที่เกิดจากสัญญา ร่วมการงานเดิม และค่าแอ็กเซสชาร์จที่จ่ายให้บริษัท ทีโอที ของกลุ่มทรูทั้งหมดรวมกันปีละ กว่า 1.2 หมื่นล้านบาท ถ้ามีการปรับเปลี่ยนหรือแก้ไขได้ ก็จะทำให้ฐานะการเงินของกลุ่มทรูเข้มแข็งมากขึ้น

เงื่อนไขของรัฐกำลังทำให้เอกชนที่พัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมมานับ 10 ปีตายไป อย่ามองเรื่องรัฐหรือเอกชนแต่ต้องมองว่าเป็นคนไทย จะมีประโยชน์อะไรที่ออกเงื่อนไขกำกับดูแลแล้วทีโอที ก็อ่อนแอ เอกชนก็อ่อนแอ แล้วรอให้มีคนมาเก็บไปŽ

ส่วนกรณีสนามบินสุวรรณภูมินั้น กลุ่มทรูได้เสนอการให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจรไปให้นานแล้ว และพร้อมให้บริการเต็มที่โดยการเชื่อมโครงข่ายเข้าไปยังสนามบินสุวรรณภูมิก็ไม่ไช่เรื่องยาก โดยที่การจะเลือกโอเปอเรเตอร์เพียงรายเดียวหรือ 2 รายในการให้บริการ รวมทั้งการมีระบบสำรองหรือแบ็กอัพเป็นเรื่องนโยบาย หรือแม้กระทั่งจะแบ่งงานให้แต่ละรายเช่นไรก็เป็นเรื่องของทอท. ลงทุน 100 ล้านให้บริการ Wi-Fi ในเซ็นทรัล

นายศุภชัยกล่าวว่า ทรูได้ลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไร้สายในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล 10 แห่ง เพื่อเติมเต็มพฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนที่ต้องการสื่อสารอินเทอร์เน็ตไร้สาย โดยเฉพาะเซ็นทรัลมีประชาชนเข้ามาใช้บริการปีละกว่า 300 ล้านคน นอกจากนี้ยังเป็นการตอบสนองการเติบโตของคนใช้โน้ตบุ๊ก พีดีเอโฟน โทรศัพท์มือถือที่รองรับ Wi-Fi ที่รวมกันแล้วมีประมาณ 1 ล้านคน

ในเกาหลีมีการติดตั้ง Wi-Fi ฮอตสปอตประมาณ 2 หมื่นจุดซึ่งแนวโน้มการเติบโตการใช้บริการของไทยจะคล้ายกันโดยทรูติตดั้งไปแล้ว 2 พันจุดและมีแผนที่จะติดตั้งให้ครบ 2.5 พันจุดภายในสิ้นปีŽ

ปัจจุบันรายได้จากการให้บริการอินเทอร์เน็ต ความเร็วสูงถือเป็นสัดส่วนประมาณ 10-12% จากรายได้รวม ซึ่งถือว่าเติบโตเป็นเท่าตัว โดยที่กลุ่ม ทรูมีแผนลงทุนด้าน Wi-Fi จนถึงต้นปีหน้ารวมเป็นเงินประมาณ 300 ล้านบาท


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.