เงินเฟ้อสูงสุดรอบ7ปี ธปท.ระบุยังพุ่งได้อีก


ผู้จัดการรายวัน(2 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เงินเฟ้อพุ่งไม่หยุด ล่าสุดตัวเลขเดือน ต.ค.ทำสถิตินิวไฮแตะ 6.2% ขยับขึ้นสูงสุดในรอบ 7 ปี เหตุจากน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ค่ารถ ค่าเรือ พาเหรดขึ้น "การุณ" ยอมรับตัวเลขทั้งปีอาจสูงถึง 4.5% แถมลากยาวถึงต้นปีหน้า ด้านผู้ว่าฯแบงก์ชาติ คาด 2 เดือนสุดท้ายมีสิทธิ์สูงกว่าเดือนตุลาฯ ได้อีก เชื่อเฟดขึ้นดอกเบี้ยไม่กระทบนโยบายการเงินของไทย

นายการุณ กิตติสถาพร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือน ต.ค.48 สูงขึ้น 0.3% ชะลอตัวลงจากเดือน ก.ย.ที่สูงขึ้น 0.7% เป็นผลจากสินค้าในหมวดอาหารที่สำคัญมีราคาลดลง ได้แก่ ข้าวสารเจ้า เนื้อหมู ไข่ไก่ และผลไม้สด แต่เมื่อเทียบกับเดือนต.ค.47 สูงขึ้น 6.2% เป็นอัตราที่สูงสุดในรอบ 85 เดือน นับตั้งแต่เดือน ก.ย.41 ส่วนดัชนีเฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) สูงขึ้น 4.3%

"เงินเฟ้อในเดือน ต.ค.นี้ ถ้าเทียบเดือนต่อเดือนจะเห็นว่าเริ่มต่ำลง จากเดือน ก.ย.และเป็นการชะลอตัวลงเรื่อยๆ จากที่สูงสุดในเดือน ก.ค.คือ 1.6% เนื่องจากช่วงนั้น เป็นช่วงที่มีการปล่อยลอยตัวน้ำมันดีเซล ทำให้คาดว่าในเดือนต่อไปดัชนีเงินเฟ้ออาจจะต่ำลงกว่านี้"นาย การุณ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อเทียบเดือนเดียวกันกับปีที่ผ่านมา เงินเฟ้อสูงขึ้น 6.2% เกิดจากราคาน้ำมันเป็นหลัก โดยราคาน้ำมันเดือนต.ค.ปีนี้สูงกว่าเดือนต.ค.47 อัตรา 31.7% และยังได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่ากระแสไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) 2 ครั้ง 13.55 สตางค์ต่อหน่วย รวมทั้งการปรับขึ้นของค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าโดยสารเรือ ค่าธรรมเนียมสนามบิน และค่าโดยสารรถจักรยานยนต์รับจ้าง
อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันในประเทศเริ่มมีแนวโน้มลดลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก โดยราคา น้ำมันดิบดูไบ เดือน ต.ค.48 บาร์เรลละ 53.96 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากเดือนก.ย.ซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่บาร์เรลละ 56.65 เหรียญสหรัฐ หรือลดลง 4.99% ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับลดลง โดยเบนซินปรับลดลง 4 ครั้ง ดีเซลลดลง 1 ครั้ง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเงินเฟ้อลดลง

นายการุณกล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อทั้งปีที่ตั้งไว้เดิม 4.2% นั้น เห็นว่าในเมื่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นทุกเดือน ย่อมทำให้อัตราเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ยังไม่ขอระบุว่าทั้งปีจะเป็นเท่าไร จะแถลงในเดือนพ.ย.นี้ แต่ถ้าพิจารณาจากการคาดการณ์ของกระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระดับ 4.4-4.5 % น่าจะเป็นไปได้ ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์ทั้งปี 4.5-5.5% โดยในส่วนของกระทรวงพาณิชย์คาดว่าทั้งปีอาจะไม่เกินระดับ 4.5%

ส่วนเงินเฟ้อในปี 49 คาดว่าในช่วงต้นปี อัตราเงินเฟ้อจะยังขยายตัวในอัตราที่สูง เพราะฐานเงินเฟ้อ ในช่วงต้นปี 48 อยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากรัฐบาลยังตรึง ราคาน้ำมันเอาไว้ และขณะนี้ผลกระทบจากราคาน้ำมันเริ่มมีชัดเจนมากขึ้นหลังจากที่ลอยตัวน้ำมันดีเซลตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น แต่เชื่อว่ากลางปี 49 เงินเฟ้อจะเริ่มปรับตัวลดลง

สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งคำนวณจากสินค้าและบริการ 266 รายการ หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและกลุ่มพลังงาน คิดเป็นสัดส่วน 25% ออก เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.48 สูงขึ้น 0.1% เทียบเดือน ต.ค.47 สูงขึ้น 2.4% ส่วนอัตราเฉลี่ย 10 เดือน เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน สูงขึ้น 1.4%

นางนทีทิพย์ ทองเขาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การปรับขึ้นของราคาน้ำมัน ในส่วนที่เป็นผลกระทบโดยตรงเห็นผลทันที ส่วนผลกระทบทางอ้อม เช่น ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าไฟฟ้า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นแล้ว แต่ยังไม่ใช่ผลกระทบในอัตราสูงสุด ดังนั้น คาดว่าผลกระทบจะมีอีกในเดือนถัดไป แต่จะมากเท่าไรขึ้นอยู่กับกลไกตลาดที่จะแข่งขันกัน และประสิทธิภาพการควบคุมราคาสินค้าของภาครัฐ

"ขณะนี้ได้ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเก็บตัวอย่างราคาแก๊สโซฮอล์ การใช้จ่ายค่าโดยสารเครื่องบินต้นทุนต่ำ (โลว์คอสต์) ค่าโดยสารรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดิน ว่ามีสัดส่วนต่อน้ำหนักในการมาเป็นฐานคำนวณเงินเฟ้อเท่าไร ซึ่งถ้ามีสัดส่วนขั้นต่ำ 0.01% ก็จะนำมาเป็นฐานในการคำนวณอัตราเงินเฟ้อด้วย" นายนทีทิพย์ กล่าว

ต.ค.ยังไม่ใช่ระดับสูงสุด

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือน พ.ย.และ ธ.ค.มีโอกาสที่จะสูงกว่าตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของเดือนต.ค.ที่กระทรวงพาณิชย์ ประกาศที่ระดับ 6.2% ได้อีก ส่วนจะขึ้นไปที่ระดับเท่าไรนั้นเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก ซึ่งอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของกระทรวงพาณิชย์ดังกล่าว เป็นตัวเลขที่ ธปท.ประเมินไว้แล้ว โดยคาดว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นมาก ที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 4 และจะสูงกว่า 6% อย่างแน่นอน ฉะนั้นในช่วงที่ผ่านมาคณะกรรมการนโยบาย การเงิน (กนง.)จึงได้ขึ้นดอกเบี้ยซื้อคืนพันธบัตรระยะ 14 วัน (ดอกเบี้ยอาร์พี) ถึง 0.50% ติดต่อกัน 2 ครั้ง เพื่อป้องกันไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวสูงขึ้นไปอีก
"ตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศ แบงก์ชาติได้คาดไว้อยู่แล้ว ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ เราคาดไว้ตั้งแต่กลางปีแล้วว่าเงินเฟ้อจะสูงกว่า 6% หลังจากนั้นเราจึงได้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายติดกัน 2 ครั้ง และจากในแบบจำลองพบว่าเงินเฟ้อของอีก 2 เดือนที่เหลือปี 48 นี้จะสูงกว่า 6.2% ได้อีกเล็กน้อย"ผู้ว่าการ ธปท.กล่าว

ทั้งนี้คาดว่า หลังจากดำเนินนโยบายดอกเบี้ยมาในทิศทางดังกล่าวแล้ว เชื่อว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อ ที่เร่งสูงขึ้นในไตรมาส 4 ค่อยๆ ปรับลดลงในไตรมาส แรกปีหน้า ก่อนที่จะลดลงอย่างชัดเจนในไตรมาส 2 และมั่นใจว่าการขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ติดกัน 2 ครั้งน่าจะเพียงพอในการสกัดไม่ให้เงินเฟ้อสูงกว่าที่ ธปท. ประมาณการไว้ ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินครั้งสุดท้ายในปีนี้วันที่ 14 ธ.ค.จะยังต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในระดับ 0.50% หรือไม่นั้น ธปท.จะต้องดูสถานการณ์อีกครั้งหนึ่ง

ส่วนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ในวันนี้ (2 พ.ย.) เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินนโยบายการเงินของไทย เนื่องจาก ธปท.จะให้ความสำคัญกับปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก และที่ผ่านมาเฟดก็มีการปรับ ขึ้นดอกเบี้ยเป็นปกติอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่น่าประหลาดใจ และคงไม่ส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ

มิถุนายน เงินเฟ้อทั่วไป 3.8
กรกฏาคม เงินเฟ้อทั่วไป 5.3
สิงหาคม เงินเฟ้อทั่วไป 5.6
กันยายน เงินเฟ้อทั่วไป 3.0
ตุลาคม เงินเฟ้อทั่วไป 6.2


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.