อยุธยาเทคโนโลยีผลตอบแทนวูบ ผู้จัดการกองทุนเชื่อหุ้นสื่อสารรุ่ง


ผู้จัดการรายวัน(2 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กองทุนอยุธยาเทคโนโลยีภายใต้การบริหารจัดการของบลจ.อยุธยาเจเอฟ ผลตอบแทนย้อนหลังทรุดต่ำกว่าดัชนีตลาดฯ นักวิเคราะห์คาดหุ้นกลุ่มสื่อสารต้องเผชิญมรสุมหลังการเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคม ขณะที่ผู้จัดการกองทุน ชี้ข่าวลือการขายหุ้นกลุ่มชินฯให้ไชน่า เทเลคอม หากเกิดขึ้นจริงในอนาคตจะสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจยันยังให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มโทรคมนาคม

จากการสำรวจข้อมูลของ "ผู้จัดการรายวัน" ภายหลังเกิดกระแสข่าวลือในห้องค้าหลักทรัพย์ โดยระบุว่า กลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น ซึ่งถือหุ้นใหญ่ ในบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จะขายหุ้นให้กับกลุ่มไชน่า เทเลคอม ถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกองทุนรวม ซึ่งมีนโยบายลงทุนโดยตรงในหุ้นสื่อสาร และกลุ่มเทคโนโลยีคือ กองทุนอยุธยาเทคโนโลยี ภายใต้การบริหารจัดการของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยาเจเอฟ

โดยผลการดำเนินงานย้อนหลังของกองทุนอยุธยา เทคโนโลยี ณ วันที่ 30 กันยายน 2548 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 281.79 ล้านบาท ผลตอบแทน ย้อนหลัง 3 เดือน 5.86% ซึ่งถือว่าอยู่ ในระดับต่ำกว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 7.07% ขณะที่ผลตอบแทนย้อนหลังตั้งแต่ต้นปีให้ผลตอบแทนเพียง 0.63% ขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ผลตอบแทนสูง ถึง 8.25% (ดูตารางประกอบ)

อย่างไรก็ตาม ภายหลังเกิดกระแสข่าวลือดังกล่าวเกิดขึ้น เมื่อวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา นางศิริเพ็ญ สีตสุวรรณ กรรมการ บริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่า ปฏิเสธข่าวที่ว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บริษัทฯจะขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้แก่บริษัท ไชน่า เทเลคอม ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

ขณะที่มุมมองของนายสุชาติ เตชะโพธิ์ไทร ประธานเจ้าหน้าที่สายการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) อยุธยาเจเอฟ จำกัด (เอเจเอฟ) กล่าวให้ความเห็นแก่ "ผู้จัดการรายวัน" ว่า ข่าวการขายหุ้นของกลุ่มชิน คอร์ปอเรชั่น ให้แก่กลุ่มของไชน่า เทเลคอม เชื่อว่าในระยะยาวน่าจะกลายเป็นการสร้างจุดแข็งของบริษัทที่จะมีฐานเงินทุนเข้ามาเสริม เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำด้านโทรคมนาคมต่อไป ส่วนข่าวดังกล่าวจะกระทบต่อการลงทุนหรือไม่นั้น ในภาพรวมเอเจเอฟให้น้ำหนักกับการลงทุนหุ้นกลุ่มโทรคมนาคมอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่า ภายหลังการเปิดเสรีจะเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจกลุ่มนี้ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจขยายตัวต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ยังเชื่อว่ากลุ่มโทรคมนาคมจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน และอยู่ในระดับใกล้เคียงกับกลุ่มการเงิน ซึ่งทั้ง 2 กลุ่มนี้จะเข้ามาแทนกลุ่มพลังงานที่จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนน้อยลง ส่วนการที่รัฐวิสากิจ เช่น กสท ทีโอที ซึ่งเป็นบริษัทโทรคมนาคมของรัฐจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯนั้น คงจะเข้ามาสู้กับบริษัทเอกชนเหล่านี้ไม่ได้ ทั้งในแง่ส่วนแบ่งการตลาดและ ฐานลูกค้าที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก

สำหรับพอร์ตการลงทุนของ กองทุนอยุธยาเทคโนโลยี ณ วันที่ 30 กันยายน 2548 5 หมวดหลักทรัพย์แรกที่ลงทุนประกอบด้วย 1. หมวดสื่อสาร 2. หมวดยานยนต์ 3. หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 4. หมวดบันเทิง และสันทนาการและ 5. หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและคอมพิวเตอร์

ส่วน 5 อันดับแรกของหลักทรัพย์ที่ลงทุนประกอบ ด้วย 1. ชินคอร์ปอเรชั่น 21.23% 2. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส 20.55% 3. ยูไนเต็ด คอมมิวนิเคชั่น 14.01% 4. อาปิโก้ ไฮเทค 7.52% และ 5.ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) 7.22%

สำหรับภาพรวมมูลค่าตลาดรวม (มาร์เกตแคป) หุ้นสื่อสารหลังจากที่มีการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2546 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2547 มีมาร์เกตแคป 551,647.79 ล้านบาทในปี 2547 อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา มาร์เกตแคปกลุ่มสื่อสารปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 512,235 ล้านบาท หรือปรับตัวลดลง 39,412.79 ล้านบาท หรือ 7.14%

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์กล่าวว่าหุ้นสื่อสารในตลาดหลักทรัพย์ฯมีมาร์เกตแคปใหญ่ โดยเฉพาะหุ้น ADVANC ทำให้ที่ผ่านมากองทุนทั้งในและต่างประเทศจะต้องถือหุ้นพวกนี้ไว้ในพอร์ตเพื่อถ่วงน้ำหนักราคาหุ้น อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการแข่งขันที่รุน แรงและเทคโนโลยีที่กำลังจะต้องเปลี่ยนแปลง ปัจจุบันหุ้นในกลุ่มสื่อ สารเหล่านี้ถูกมองว่าเป็นสื่อสารมือถือ ยุคเก่าจนกว่าจะมีการปรับตัวรองรับอนาคต อีกทั้งสถานการณ์การเปลี่ยน แปลงสำหรับประเทศไทยติดขัดในข้อ กฎหมายมากเป็นพิเศษ ซึ่งต้องใช้เวลา และรอการทำงานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.