ออสเตรเลียว่าด้วยเครือข่าย

โดย วิรัตน์ แสงทองคำ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

มหาวิทยาลัยของออสเตรเลียมีโครงสร้างที่หลากหลาย ยืดหยุ่น และปรับตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ประเทศที่มีประชากรไม่ถึง 30 ล้านคน มีมหาวิทยาลัยถึง 40 แห่ง และส่วนใหญ่ก่อตั้งไม่ถึง 50 ปีมานี้เอง จากนี้ไปประเทศนี้ดูจะมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะสร้างความเข้มแข็งทางการศึกษา มิใช่เพื่อการศึกษาของคนของเขาเองเท่านั้น หากเป็นเครือข่าย การศึกษาระดับภูมิภาค เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของประเทศที่ย่อมมิใช่เรื่องทางเศรษฐกิจอย่างเดียวเป็นแน่

ความพยายามในเรื่องนี้ เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญมากของความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยในประเทศนี้ในระยะที่ผ่านมา และจากนี้ไป

นอกจากจะมีหลักสูตรที่หลากหลาย ยืดหยุ่น โดยเฉพาะโมเดลปริญญาตรีคู่ (Double degree) ซึ่งเป็นความคิดสร้างสรรค์ที่น่าสนใจในยุคที่การศึกษาเป็นเรื่องการประสมประสานองค์ความรู้หลายแขนงมากขึ้นในยุคปัจจุบันแล้ว เครือข่ายการศึกษาที่มหาวิทยาลัยออสเตรเลียสร้างขึ้นก็มีบุคลิกเฉพาะมากทีเดียว

ในจำนวนมหาวิทยาลัย 40 แห่ง กระจายไปตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศนั้น ความจริงมีแคมปัสรวมกันมากถึง 170 แห่งทีเดียว ที่สำคัญแคมปัสของแต่ละมหาวิทยาลัย มิได้จำกัดอยู่ในเมืองที่มหาวิทยาลัยแห่งนั้นกำเนิดขึ้นเท่านั้น หากกระจายไปตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ ผสมผสานกันอย่างมากมาย

ในความหมายที่สำคัญคือเป็นทางเลือกที่มากขึ้นสำหรับผู้เรียน ทั้งหลักสูตรและสถาบันที่มีคุณภาพ อันดับยอดนิยม รวมทั้งค่าเรียนที่แตกต่างกัน ตอบสนองความสนใจความต้องการและข้อจำกัดของแต่ละคน ซึ่งแตกต่างกันอยู่แล้ว ทั้งนี้ย่อมรวมถึงนักศึกษาต่างชาติด้วย

อีกระดับหนึ่งของเครือข่าย แทนที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งจะแข่งขันกันเท่านั้น หากยังรวมกลุ่มพันธมิตรเพื่อมีอำนาจต่อรอง สร้างแบรนด์ในการทำตลาด ความร่วมมือทางด้านวิชาการ อย่างน้อยปัจจุบันมีอยู่ 4 กลุ่ม กลุ่มแรกมีชื่อเสียงค่อนข้างมาก (เรียกว่า Group of Eight) กลุ่มที่สองมีระบบการศึกษาค่อนข้างยืดหยุ่น ตั้งแต่ระดับประกาศนียบัตรขึ้นมา กลุ่มนี้ยกระดับมาจากสถาบันอาชีวะจนเป็นมหาวิทยาลัย เมื่อไม่นานมานี้เรียกว่า Australian Technology Network (ATN) กลุ่มที่สาม มหาวิทยาลัยกลุ่มนี้ตั้งขึ้นมาในระยะใกล้เคียงกันเมื่อประมาณ 40-50 ปีที่ผ่านมา เรียกว่า Innovative Research Universities Australia (IRU Australia) อีกกลุ่มหนึ่งเป็นมหาวิทยาลัยเกิดใหม่ล่าสุดประมาณ 30 ปีมานี้เอง เรียกตนเองว่า New Generation Universities (NGU)

เครือข่ายที่สำคัญกำลังเกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ ก็คือการสร้างแคมปัสในต่างประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียอาคเนย์ ว่าไปแล้วนี่คือ การสร้างเครือข่ายเป็นเรื่องเป็นราว ต่อจากการศึกษาทางไกล หรือการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาท้องถิ่น ในการเปิดหลักสูตรนอกประเทศเป็นกรณีๆ ไป ดำเนินมาก่อนหน้าแล้วหลายปี

หากดูประเทศที่เป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยออสเตรเลียแล้ว (ดูตารางประกอบ) ส่วนใหญ่เคยอยู่ในเครือจักรภพเช่นเดียวกัน นั่นคงไม่ได้มีความหมายอะไรไปมากกว่า นักศึกษาประเทศเหล่านี้มีความสามารถทางด้านภาษาอังกฤษที่ดี เพราะส่วนใหญ่นักศึกษาจำนวนมากศึกษาในระดับปริญญาตรี ยุทธศาสตร์นี้นอกจากจะเข้าถึงตลาดฐานที่กว้างขึ้น และปักหลักยึดครองอย่างมั่นคงเท่านั้น ยังมีส่วนสำคัญในการรักษาขยายตัว หลังจากค่าเล่าเรียนในออสเตรเลียสูงขึ้นอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จากเครือข่ายการศึกษาออสเตรเลียที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคนี้ขยายตัวต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ย่อมสร้างแรงกดดันต่อมหาวิทยาลัยท้องถิ่นของประเทศเหล่านั้นบ้างไม่มากก็น้อย รวมถึงย่อมมาถึงเมืองไทยด้วย แม้ว่ามหาวิทยาลัยออสเตรเลียยังไม่มีปักหลักโดยตรงในประเทศเราในตอนนี้ก็ตาม

ที่น่าแปลกใจพอสมควร ดูเหมือนตลาดไทยยังไม่น่าสนใจเท่าที่ควรในช่วงผ่านๆ มา นี่คือปรากฏการณ์ที่จะวิเคราะห์กันต่อไป ซึ่งแน่นอนคงมิใช่เรื่องรักชาติ หรือประหยัดเงินตราต่างประเทศที่ผู้คนบางคนดัดจริตกล่าวกันอย่างแน่นอน

แคมปัสของมหาวิทยาลัยออสเตรเลียในระดับภูมิภาค

University of Sydney (Australian Graduate School of Management) Hong Kong

Monash University Sarawak Malaysia

University of New South Wales Singapore (2007)

RMIT Vietnam

Curtin University of Technology Kuala Lumpur, Malaysia

University of Woolongong Dubai, United Arab Emirates

James Cook University Singapore

Swinburne University of Technology Sarawak, Malaysia

Central Queensland University Singapore


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.