แบงก์ชาติจี้เพิ่มการออมอีก2-3.5% หวังรองรับโครงการเมกะโปรเจกต์


ผู้จัดการรายวัน(1 พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ธนาคารออมสิน รณรงค์เพิ่มปริมาณการออม ลดปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดในโครงการเมกะโปรเจกต์ ขณะเดียวกันพร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากขึ้นเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาออกเงินมากขึ้น ด้านธปท.เผยการออมในประเทศมีแนวโน้มลด แนะควรเร่งการออมให้ได้มากกว่า 30.5% อีก 2 - 3.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์

วานนี้ (31 ต.ค.) นายกรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นประธานเปิดงาน "วันออมแห่งชาติ" ที่สำนักงานใหญ่ เพื่อส่งเสริมนิสัยรักการออมให้กับเด็กและเยาวชนตามนโยบายรัฐบาล โดยมีกิจกรรมส่งเสริมการออมมากมาย สำหรับประชาชนที่ฝากเงินตั้งแต่ 50 บาทขึ้นไป รับกระปุกต้นออมฟรี

นายกรพจน์ กล่าวว่า ในปีนี้ธนาคารออมสินได้จัดโครงการแนะนำการออมอย่างถูกวิธี โดยชูแนวคิดออม 1 ส่วนใช้ 3 ส่วน เพื่อให้ประชาชนเก็บออมเพื่อชีวิตในอนาคตที่มั่นคง โดยขอให้สถาบันการเงินทุกแห่งร่วมสนับสนุนแนวคิดการออมดังกล่าว เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนเพิ่มการออมมากขึ้น ซึ่งบรรยากาศตั้งแต่ช่วงเช้ามีเด็ก เยาวชนพร้อมผู้ปกครอง มาฝากเงิน รับของที่ระลึก และประกวดร้องเพลง มีออมไม่มีอด

ปัจจุบันปริมาณการออมในประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 35.2 ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เหลือร้อยละ 30.5 ขณะที่การออมภาคครัวเรือนสุทธิลดลงจากร้อยละ 14.4 ในปี 2532 เหลือร้อยละ 3.8 ในปี 2546 และประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ อัตราการออมของผู้มีรายได้น้อยกลับลดลงมากกว่ากลุ่มอื่น ดังนั้นหากรัฐบาลต้องการรักษาดุลบัญชีเดินสะพัดไม่ให้ขาดดุลเกินร้อยละ 3 ของจีดีพี จะต้องมีการกระตุ้นการออมภายในประเทศ อีกร้อยละ 2-3.5 ในอีก 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้เหมาะสมกับการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ หรือเมกะโปรเจกต์

สำหรับมาตรการสำคัญของการกระตุ้นเงินออมคือ การขึ้นดอกเบี้ยเงินฝาก ซึ่งธนาคารออมสินพร้อมจะขยับดอกเบี้ยตามสถาบันการเงินอื่นๆ และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเป็นบวกและให้สมดุลกับภาวะเงินเฟ้อ

ทั้งนี้ ธนาคารออมสินกำหนดอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เผื่อเรียกอยู่ที่ร้อยละ 0.75 เผื่อเรียกพิเศษอยู่ที่ร้อยละ 1.50 เงินฝากประจำ 3 เดือน อยู่ที่ร้อยละ 1.75-2 เงินฝากประจำ 6 เดือนอยู่ที่ร้อยละ 2-2.5 เงินฝากประจำ 12 เดือน ร้อยละ 2.25 - 2.50 และเงินฝากประจำรายเดือนอยู่ที่ร้อยละ 2.25

ด้านธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แจ้งว่าบทวิเคราะห์ความเพียงพอของการออมของประเทศไทยที่ ธปท.เสนอในรายงานแนวโน้มเงินเฟ้อฉบับเดือนตุลาคม 2548 ระบุว่าการออมในประเทศมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากข้อมูลรายได้ประชาชาติของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพบว่าข้อมูลการออมเฉลี่ยระหว่างช่วงปี 2534-2536 และช่วงปี 2544-2546 สัดส่วนการออมสุทธิภาครัฐบาลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี)ซึ่งลดลงประมาณ 4.1% และสัดส่วนการออมสุทธิภาคครัวเรือนต่อจีดีพี ซึ่งลดลงประมาณ 5% เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การออมในภาพรวมของประเทศปรับตัวลดลง

นอกจากนี้ ยังพบว่าการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้การออมในภาคครัวเรือนลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการอุปโภคบริโภคในกลุ่มสินค้าคงทน โดยในช่วงปี 2542-2546 การอุปโภคบริโภคในกลุ่มกลุ่มสินค้าคงทน เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 16.1% สูงกว่าอัตราการขยายตัวของค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคโดยรวม และรายได้รวมหลังหักภาษีที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยเพียง 6.1% และ3.9% ตามลำดับ

ส่วนการออมรวมของไทยในปัจจุบัน แม้ว่าจะอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ แต่อัตราการออมที่สูงไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออมเพิ่มขึ้น ซึ่งหากพิจารณาจากแรงกดดันต่อการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดของประเทศในระยะต่อไป หากไทยจะรักษาระดับการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดไว้ไม่ให้เกิน 3% ของจีดีพีในระยะต่อไป อัตราการออมรวมของประเทศไทยควรเพิ่มจากระดับปัจจุบันที่ 30.5% ของจีดีพีขึ้นอีกประมาณ 2 - 3.5% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า เพื่อให้สอดคล้องกับการลงทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (เมกะโปรเจ็กท์) อีกประมาณ 2% ของจีดีพี

นอกจากนั้นยังช่วยรองรับการลงทุนของภาคเอกชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 4-4.5% ของจีดีพี โดยการออมที่เพิ่มขึ้นนี้จะช่วยสนับสนุนเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศให้เพียงพอกับการลงทุนของประเทศ รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไปได้

ทั้งนี้ จากการศึกษาการออมในระดับครัวเรือน ของสำนักงานสถิติแห่งชาติในช่วงปี 2539 และ 2547 พบว่า มีการเพิ่มขึ้นของการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนในทุกกลุ่มอายุ แต่อัตราการออมของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยกลับลดลง โดยการที่ทำให้การออมของภาคครัวเรือนลดลง เพราะการเข้าถึงแหล่งกู้ยืมได้สะดวกกว่าเดิม และผลมาจากการที่มีโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาลทำให้ครัวเรือนลดความจำเป็นที่จะต้องออมเงินสำหรับใช้ในยามจำเป็น รวมทั้งการที่ภาคครัวเรือนที่รายได้น้อยจะเป็นกลุ่มครัวเรือนที่มีการออมไม่เพียงพอสำหรับวัยชราหรือวัยเกษียณอายุ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.