|
การเลือกตั้งทั่วไปกับระบบ MMP
โดย
อนิรุต พิเสฏฐศลาศัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ในช่วงกลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา เหมือนจะเป็นสัปดาห์ของการเลือกตั้งทั่วไป เนื่องจากมีการเลือกตั้งทั่วไปในนิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น และเยอรมนีในสุดสัปดาห์เดียวกัน แถมด้วยเหตุบังเอิญทั้งสามประเทศนี้ยังเป็นประเทศที่ใช้ระบบการเลือกตั้งคล้ายๆ กันที่เรียกว่า MMP (Mixed Member Proportion) อีกด้วย การเลือกตั้งทั่วไปของนิวซีแลนด์โดยทั่วไปจะมีขึ้นทุกๆ 3 ปี ระบบการเมืองก็เป็นระบบการเมืองที่มีพรรคการเมืองพรรคใหญ่ 2 พรรค เหมือนอย่างในอเมริกา อังกฤษ และประเทศตะวันตกอื่นๆ โดยมีพรรค Labour เป็นพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย และมีพรรค National เป็นพรรคอนุรักษนิยมฝ่ายขวา การเลือกตั้งในครั้งนี้นับได้ว่าเป็นการเลือกตั้งที่คู่คี่สูสีที่สุดครั้งหนึ่ง โดยพรรค Labour ซึ่งนำโดยนาง Helen Clark นายกรัฐมนตรีหญิงสองสมัยของนิวซีแลนด์ ก็เป็นฝ่ายได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่สามติดต่อกัน พรรค Labour สามารถเอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่างพรรค National ไปได้เพียง 2 ที่นั่งเท่านั้น
สิ่งที่น่าสนใจในการเลือกตั้งของนิวซีแลนด์ก็คือระบบการเลือกตั้งแบบ MMP ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ลอกเลียนแบบมาจาก ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นแม่แบบของระบบ MMP ในหลายประเทศรวมถึงการเลือกตั้ง ส.ส.แบบ บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ของไทยก็น่าจะได้รับการประยุกต์มาจากระบบ MMP ของเยอรมนีเช่นกัน ระบบ MMP ของนิวซีแลนด์ โดยคร่าวๆ มีความคล้ายคลึงกับระบบการเลือกตั้งของไทยในปัจจุบันตรงที่ว่า ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ 2 เสียง โดยเสียงแรกเป็นการเลือกผู้แทนในเขตของตน (ส.ส.แบ่งเขต) หรือที่เรียกว่า electorate vote
ส่วนเสียงที่สองเป็นการเลือกพรรคที่ตน ชื่นชอบ หรือที่เรียกว่า party vote ซึ่ง party vote ก็คล้ายๆ กับการเลือกปาร์ตี้ลิสต์ในบ้าน เรา ความแตกต่างที่สำคัญของทั้งสองระบบอยู่ตรงที่ว่า ในระบบ MMP ของนิวซีแลนด์ ใน กรณีทั่วไป party vote เท่านั้น ที่เป็นตัวจัดสรร ที่นั่งในสภาของแต่ละพรรคการเมือง ส่วนจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขตที่แต่ละพรรคได้ มักจะไม่มีผลต่อจำนวนที่นั่งในสภาของแต่ละพรรคเลย ในระบบ MMP นี้ จำนวน ส.ส.ในสภาที่แต่ละพรรคได้รับการคำนวณมาจากเปอร์เซ็นต์คะแนน party vote ที่แต่ละพรรค ได้รับต่อคะแนนทั้งหมดทั่วประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าพรรค Labour ได้ party vote ทั้งหมด 50% ของคะแนนรวมทั้งประเทศ พรรค Labour ก็จะได้รับการจัดสรรที่นั่งเท่ากับ 50% ของที่นั่งทั้งหมดในสภา ซึ่งโดยปกติมีอยู่ 120 ที่นั่ง ดังนั้นตามระบบการเลือกตั้งแบบนี้ พรรค Labour ก็จะได้ ส.ส.จำนวน 60 ที่นั่ง หลังจากนั้นในจำนวน ส.ส.ทั้ง 60 ที่นั่งที่พรรค Labour ได้รับจะถูกจัดสรรให้กับ ส.ส.ของพรรค Labour ที่ชนะการเลือกตั้งมาจากเขตต่างๆ หรือ ส.ส.แบ่งเขตของพรรคก่อน หลังจากนั้นจำนวนที่นั่งที่เหลือจึงค่อยถูกจัดสรรให้กับ ส.ส.ปารตี้ลิสต์ตามลำดับ
นอกจากนี้ระบบ MMP ก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกเล็กน้อยซึ่งก็ไม่ง่ายกับการเข้าใจของคนโดยทั่วไปสักเท่าไร ซึ่งผลการ สำรวจความเข้าใจต่อระบบ MMP ของทางราชการ ก่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ก็แสดงให้เห็นว่า ยังมีประชาชนอยู่จำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เข้าใจระบบ MMP อย่างถ่องแท้ ถึงแม้นิว ซีแลนด์จะได้หันมาใช้ระบบการเลือกตั้งแบบนี้ มาตั้งแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 1996
สิ่งสำคัญที่ทำให้นิวซีแลนด์หันมาใช้ระบบ MMP แทนระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเบอร์เดียวเหมือนระบบการเลือกตั้งของไทย ในอดีต ก็เนื่องมาจากระบบ MMP สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมชมชอบ ของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งทั้งประเทศ ที่มีต่อพรรคการเมือง แต่ละพรรคได้ดีกว่าระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว ยกตัวอย่างเช่นในปี 1978 และปี 1981 ซึ่งนิวซีแลนด์ยังใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเบอร์เดียว ในการเลือกตั้งทั้งสองครั้งนั้น พรรค Labour แม้จะได้รับคะแนนรวมทั้งประเทศมากกว่าพรรค National แต่กลับเป็นพรรค National ที่ได้จัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากเป็นพรรคที่ได้รับ ส.ส.แบ่งเขตมามากที่สุดนั่นเอง ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ก็คล้าย กับผลการเลือกตั้งของอเมริกา เมื่อ 5 ปีแล้วที่พรรคเดโมแครต ซึ่งนำโดยอดีตรองประธานาธิบดีอัลกอร์นั้นมีคะแนนรวมทั้งประเทศที่เรียกว่า Popular Vote เหนือกว่าพรรครีพับลิกันของประธานาธิบดี จอร์จ บุช แต่พรรครีพับลิกัน กลับเป็นพรรคที่ได้รับชัย ชนะในการเลือกตั้งเนื่องมาจากได้ ส.ส.แบ่งเขต มากกว่านั่นเอง
ผลทางอ้อมที่สำคัญหลังการเปลี่ยนมาใช้ระบบ MMP ในนิวซีแลนด์ก็คือ การทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กได้เข้ามามีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาลมากขึ้น ในอดีตพรรคการเมืองขนาดเล็กของที่นี่แทบจะไม่ได้รับชัยชนะในสนามเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลย เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับ 2 พรรคใหญ่ที่ฝังรากลึกอยู่ในระบบการเมืองของนิวซีแลนด์มาเป็นเวลาช้านานได้ แต่หลังจากการเปลี่ยนมาใช้ระบบ MMP พรรคเล็กๆ หลายๆ พรรค ซึ่งแทบจะไม่เคยมีที่นั่งในสภามาก่อน ก็เริ่มได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภาตาม เปอร์เซ็นต์ party vote ที่ได้รับ ซึ่งโดยปกติจะมีมากกว่าจำนวน ส.ส.ที่พรรคเหล่านี้อาจจะได้จากการเลือกแบบแบ่งเขต ยกตัวอย่างเช่นในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรค New Zealand First และพรรค Green นั้นไม่ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตเพียงสักคนเลย แต่ทั้งสองพรรคกลับได้ party vote ถึง 5.72% และ 5.30% ของคะแนนทั้งหมดทั่วประเทศ ตามลำดับ ดังนั้นทั้งสองพรรคจึงได้รับการจัดสรรที่นั่งในสภาเป็นจำนวนทั้งหมด 7 และ 6 ที่นั่งตามลำดับ และด้วยเหตุที่พรรคเล็กพรรคน้อย เริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองมากขึ้น โอกาสที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ดูเหมือนจะลดน้อยลง โดยเฉพาะในการเลือกตั้งที่คู่คี่สูสีอย่างเช่นการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีการคาดกันว่ารัฐบาลชุดใหม่ที่นำโดยพรรค Labour น่าจะเป็นรัฐบาลผสมร่วมกับพรรคเล็กต่างๆ อีก 2-3 พรรค
ในทัศนะของผม ผลกระทบอีกประการหนึ่งของระบบ MMP เมื่อเทียบกับระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเบอร์เดียวเหมือนของไทยในอดีตก็คือ ในระบบ MMP การหาเสียงเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง ส่วนมากจะเน้นที่ความนิยมของพรรคโดยรวมเป็นส่วนใหญ่ แต่แทบจะไม่เน้นตัว ส.ส.แบบแบ่งเขตเลย ซึ่งจุดนี้ก็ไม่น่าแปลกใจ เนื่องจาก party vote เท่านั้นที่มีความหมายต่ออนาคตของแต่ละพรรค แต่จุดที่สำคัญอยู่ตรงที่ว่า เมื่อการหาเสียงที่เน้นตัวพรรคอย่างสูงเช่นนี้ บุคลิกและความเป็นผู้นำของหัวหน้าพรรคจะมีความสำคัญอย่างมากในการตัดสินใจเลือกของประชาชน เนื่องจากคนทั่วไปนอกจากจะเลือกนโยบายที่แต่ละพรรคเสนอขายแล้ว เขายังต้องตัดสินใจว่าผู้ที่จะนำนโยบายเหล่านั้นไปใช้มีความน่าเชื่อถือ เด็ดขาด และมีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ดังนั้นบุคลิกและความเป็นผู้นำของหัวหน้าพรรคจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการหาเสียง เพราะเนื่องจากผู้นำนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละพรรคที่จับต้องได้มากที่สุดแล้ว สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ก็มักจะติด ตามข่าว เสนอรายงานความเคลื่อนไหวของ หัวหน้าพรรคและผู้นำพรรคอีก 2-3 คนเท่านั้น โอกาสที่ลูกพรรคจะได้ออกทีวีนั้นแทบไม่มีเลย ดังนั้นหัวหน้าพรรคจึงมีบทบาทในการสื่อสารนโยบายของพรรคไปสู่ประชาชนได้ดีที่สุด
ในส่วนของการเลือกปาร์ตี้ลิสต์ ซึ่งเป็นการเลือกตัวพรรคเหมือนระบบ MMP ของนิวซีแลนด์ ความเป็นผู้นำของหัวหน้าพรรคจึงน่าจะมีส่วนสำคัญต่อคะแนนปาร์ตี้ลิสต์เป็นอย่างมากเช่นกัน ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมยุทธศาสตร์การหาเสียงของพรรคการเมือง ไม่ว่าในระบบปาร์ตี้ลิสต์ของไทย หรือระบบ MMP ของนิวซีแลนด์ จึงต้องเน้นที่ตัวผู้นำและความเป็นผู้นำของหัวหน้าพรรคนั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|