Soichi Noguchi, the Latest Japanese Hero

โดย ภก.ดร. ชุมพล ธีรลดานนท์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ในระยะ 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงหลังจาก NASA ปล่อยยานอวกาศ Logistics Flight 1 (LF-1) จากฐานที่ Kennedy Space Center เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคมชื่อของ Soichi Noguchi กลายเป็นที่กล่าวถึงจากสื่อมวลชนทุกแขนงในฐานะ Hero คนล่าสุดของญี่ปุ่น

ลูกเรืออีก 6 คนและ Soichi Noguchi นักบินอวกาศคนที่ 5 ของญี่ปุ่น ที่เคยเดินทางไปอวกาศได้ร่วมกันปฏิบัติการภายใต้ STS-114 mission และร่อนกลับสู่ Edwards Air Force Base, California ในวันที่ 9 สิงหาคม 2005 นับเป็นความสำเร็จครั้งแรกตั้งแต่หลังการระเบิดของ Space Shuttle Columbia ซึ่งจากโศกนาฏกรรมในคราวนั้น เป็นแรงขับเคลื่อนให้ NASA เร่งสร้างระบบความปลอดภัยใหม่ที่มีมาตรฐานสูงสุดเท่าที่มนุษย์จะทำได้ในปัจจุบัน

โครงการ International Space Station (ISS) ถือเป็นแนวคิดต่อยอดมาจาก (1) ความสำเร็จของสหภาพโซเวียตที่สามารถส่งมนุษย์เดินทางออกสู่อวกาศสำเร็จเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1961 และ (2) บันทึกประวัติศาสตร์สำคัญอีกหน้าหนึ่งที่สหรัฐอเมริกาสามารถส่งมนุษย์ไปบนดวงจันทร์ได้สำเร็จในปี 1969 โดยมุ่งหวังวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อก่อเกิดประโยชน์ต่อมนุษยชาติ

ท่ามกลางความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็น ISS ดูเหมือนเป็นโครงการที่อเมริกาใช้กดดันสหภาพโซเวียตว่าด้วยเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ซึ่งได้ชวนกลุ่มประเทศพันธมิตรที่มีความพร้อมทั้งทางด้านศักยภาพและเงินทุนอันได้แก่ แคนาดา กลุ่มประเทศในยุโรป 11 ประเทศ (ประกอบด้วยอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม เดนมาร์ก นอร์เวย์ สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์) และญี่ปุ่น ซึ่งทั้ง 14 ประเทศได้เริ่มเซ็นสัญญาเข้าร่วมโครงการ ในปี 1988

ทว่าหลังจากการล่มสลายของสหภาพโซเวียต ISS กลับกลายเป็นประหนึ่งมิติใหม่ของสัญลักษณ์แห่งสันติภาพเป็นโครงการอวกาศนานาชาติขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติซึ่งเป็นผลมาจากประเทศรัสเซียได้เข้าร่วมโครงการ ISS เป็นประเทศที่ 15 เมื่อปี 1994

ชิ้นส่วนแรกของ ISS ถูกลำเลียงขึ้นไปโดยจรวดของรัสเซีย เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 1998 จากนั้นส่วนประกอบอื่นๆ จะค่อยๆ ถูกลำเลียงขึ้นไปประกอบกันกว่า 40 mission และหากสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2010 ISS จะมีขนาดความกว้าง 72.5 เมตร ยาว 108.5 เมตร หรือประมาณ 1 สนามฟุตบอล มีน้ำหนัก 450 ตัน และอยู่ห่างจากโลก 400 กิโลเมตร ซึ่ง ISS จะกลายเป็นสถานที่ไร้พรมแดนลอยอยู่นอกโลกที่มนุษย์จะได้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยเกี่ยวกับอวกาศ วิทยาศาสตร์และสิ่งแวดล้อมของโลก รวมถึงความฝันที่จะส่งมนุษย์ขึ้นไปใช้ชีวิตในอวกาศ

เนื้องานและหน้าที่ของแต่ละส่วนถูกแบ่งตามความถนัดและความเหมาะสมของแต่ละองค์การ ในส่วนขององค์การ JAXA (Japan Aerospace Exploration Agency) ของญี่ปุ่นรับผิดชอบ experiment module ที่เรียกว่า "KIBO" (แปลตรงตัวหมายถึงความ หวัง) ซึ่งสร้างจาก Tsukuba Space Center และส่งขึ้นไปประกอบบน ISS โดยติดตั้งระบบ H-II Transfer Vehicle ซึ่งเป็นระบบขนส่งที่ญี่ปุ่นได้คิดค้นขึ้นมาเพื่อช่วยให้ Space Shuttle มีศักยภาพในการลำเลียงสัมภาระที่มีน้ำหนักมากไปประกอบยัง ISS

ภายใน KIBO นักวิทยาศาสตร์สามารถทำการวิจัยเกี่ยวกับ Greenhouse Effect และการขยายตัวของทะเลทรายบนผิวโลกรวมไปถึงการติดตามหารอยรั่วของชั้นบรรยากาศโอโซนพร้อมแนะวิธีแก้ไขและหาทางป้องกันรอยรั่วใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนี้ยังติดตั้งกล้อง X-ray มุมกว้างที่สุดในโลกสำหรับศึกษาและสังเกตปรากฏการณ์ใหม่ๆ ของ galaxy ต่างๆ

ในขณะเดียวกันญี่ปุ่นได้สร้างห้องปฏิบัติการพิเศษสำหรับ life science experiment ที่มีชื่อเรียกว่า "Centrifuge" โดยมุ่งเน้นการศึกษาถึงผลของสภาวะ micro-gravity ในอวกาศที่มีต่อพืชและสัตว์โดยการติดตั้งเครื่อง artificial gravity ไว้ภายใน Centrifuge ซึ่งจะเป็นก้าวแรกสำหรับการให้คำตอบถึงความเป็นไปได้ที่มนุษย์จะใช้ชีวิตในอวกาศได้เหมือนอย่างอาศัยบนโลก

ควบคู่กันนั้นงานวิจัยทางการแพทย์ อย่างเช่น การวิจัยยาใหม่และการใช้ micro-gravity ในการช่วยตกผลึกโปรตีนและ/หรือ DNA ที่ไม่สามารถตกผลึกได้ภายใต้แรงโน้มถ่วงของโลกจะช่วยให้มนุษย์เข้าใจกลไกของการเกิดโรคที่ซับซ้อนแล้วนำมาประมวลผลองค์ความรู้เข้าด้วยกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และนี่คงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ JAXA มีนักบินอวกาศที่เป็นแพทย์เดินทางไป ISS ก่อนหน้า mission นี้หลายครั้ง

วัตถุประสงค์ของ STS-114 mission คราวนี้ไม่ได้หยุดเพียงแค่การทดสอบมาตรฐานความปลอดภัยใหม่เท่านั้น ระหว่างโคจรเป็นเวลา 2 สัปดาห์นั้น มีการออกไปนอกยานเพื่อปฏิบัติการ spacewalkers โดย Noguchi (EV1) และ Robinson (EV2) ถึง 3 ครั้ง

โดยครั้งแรกเป็นการทดสอบเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นมาใหม่เพื่อซ่อมแซม Thermal Protection System ของ ISS ครั้งที่สองทำการเปลี่ยนส่วนหนึ่งของ Control Moment Gyro ซึ่งเสียหายจาก mechanical failure ใน ปี 2002 ครั้งที่สามติดตั้ง External Stowage Platform เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับ mission ขั้นถัดไปในอนาคต ซึ่งภารกิจดังกล่าว สามารถบรรลุความสำเร็จได้ทั้ง 3 ครั้ง

ตลอดระยะเวลา training กว่า 4 ปีซึ่งถือว่าเป็น training program ก่อน mission ที่ยาวนานที่สุดในบรรดานักบินอวกาศของ NASA และพื้นความรู้ทาง Aeronautical Engineering จากมหาวิทยาลัยโตเกียวบวกกับประสบการณ์ training จาก Johnson Space Center ใน Houston และ Gagarin Cosmonaut Training Center ใน Russia คงเพียงพอที่ทำให้ Soichi Noguchi มีความ เชี่ยวชาญและเหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่ง Mission Specialist 1 และ Extravehicular activity 1 ประจำ STS-114 mission

อาจจะดูเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับนักบินอวกาศคนหนึ่งที่จะได้รับการฝึกฝนดังกล่าวแต่ก่อนที่จะก้าวไปสู่จุดนั้นได้ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชาวเอเชียโดยเฉพาะกับคนญี่ปุ่นที่จะต้องปีนข้ามกำแพงภาษาอังกฤษ ซึ่งหากมองจุดนี้ Soichi Noguchi เป็นตัวอย่างที่ดีในการทลายกำแพงนั้นลงด้วยการปรับกระบวนการคิดเสียใหม่ ความกล้าในสิ่งที่ถูกต้องและกลายเป็นโมเดลสำหรับคนญี่ปุ่นที่ต้องการจะสื่อสารกับคนอื่นๆ ในโลกด้วยภาษาอังกฤษ

แม้ว่า STS-114 mission นี้จะประสบความสำเร็จไปด้วยดีแต่ภารกิจที่รออยู่ของ Soichi Noguchi ใน mission ถัดไปบน ISS ยังคงดำเนินต่อไปเพื่อสร้างฝันของมนุษยชาติ ในปี 2010


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.