|

ก่อนกาลอวสานของคอนโดใน Palm Bay Tower
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
Palm Bay Tower เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1972 ในฐานะคอนโดมิเนียมสุดหรูแพงระเบิด ที่ตั้งอยู่ริมอ่าว Biscayne Bay จึงได้สมญานามที่ไม่มีใครโต้แย้งว่า "ราชินีแห่งไมอามี่" และเป็นเหมือนเพชรเม็ดงามที่มีพลอยสวยเนื้อดีอย่าง Palm Bay Club รายล้อมเอาไว้ คลับที่ว่านี้จับตลาดระดับเดียวกันคือ เศรษฐีมีอันจะกินทั้งหลาย แต่ไม่ใช่ว่ามีเงินแล้วจะเข้าใช้บริการได้ตามใจชอบ ต้องเป็นผู้ได้รับเชิญจากคลับเท่านั้นจึงจะมีสิทธิ์เข้าใช้บริการ
แต่ละชั้นของคอนโดหรูระยับนี้ประกอบด้วยยูนิตขนาดใหญ่ 3 ยูนิต ออกแบบให้เป็นที่พักเฉพาะฤดูกาลของสมาชิกคลับผู้มีชื่อเสียงและรวยสุดๆ หนึ่งในกลุ่มผู้ซื้อรุ่นแรกจึงมี Roy J Carver อภิมหาเศรษฐีเจ้าสำราญผู้ก่อร่างสร้างฐานะด้วยลำแข้งของตัวเองและเป็นสมาชิกคลับรวมอยู่ด้วย
ขณะที่ผู้ซื้อส่วนใหญ่พอใจกับการตกลงซื้อห้องพักเพียงยูนิตเดียวคือขนาด 3,000 หรือ 6,000 ตารางฟุต หรือที่ถูกลงมาหน่อยก็เหมือนซื้อทาวน์เฮาส์ยูนิตละ 2,000 ตารางฟุตไว้ครอบครอง Carver กลับซื้อเหมาพื้นที่ชั้น 25 ไว้ทั้งหมด แถมยังสยายปีกเป็นเจ้าของล็อบบี้พร้อมลิฟต์ขนาดมหึมาด้วย ล็อบบี้ที่ว่านี้ถ้าอยู่ในชั้นอื่นๆ จะทำหน้าที่เป็นล็อบบี้ของส่วนรวมรองรับอพาร์ตเมนต์ได้ถึง 3 ยูนิตเลยทีเดียว
Carver ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มสำหรับการสะสมซื้อยูนิตของทั้งชั้น 25 แม้ว่าแต่ละยูนิตที่ตกลงซื้อจะมีราคาไม่เท่ากัน แต่รวมเบ็ดเสร็จแล้วเขาควักกระเป๋าไป 517,400 ดอลลาร์สหรัฐ ที่ต้องใช้วิธีแปลกประหลาดอย่างนี้เพราะ Connie Dinkler เศรษฐินีผู้ก่อตั้งคลับดำเนินกิจการคอนโดแบบสมาคมสตรีมากกว่าแบบธุรกิจเต็มร้อย เธอจะยอมปล่อยอพาร์ตเมนต์ที่มีแต่คนจ้องตะครุบก็ต่อเมื่อเกิดไอเดียเด็ดๆ อะไรขึ้นมาในหัวสมองเท่านั้น
ทันทีที่กว้านซื้ออพาร์ตเมนต์ได้ทั้งชั้น ว่ากันว่า Carver ไม่รีรอที่จะทุ่มเงินอีกล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับงานออกแบบตกแต่งภายในโดยเฉพาะ เขาไม่เลือกใช้บริการของบริษัทท้องถิ่น แต่กลับเป็นมัณฑนากร George Davis แห่งบริษัท Clegg Group ใน San Antonio ซึ่งเป็นหนึ่งในซัปพลายเออร์ด้านออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์ และงานออกแบบตลาดบนรายใหญ่ที่สุดของแถบตะวันตกเฉียงใต้
อพาร์ตเมนต์ของ Carver อยู่ในไมอามี่ก็จริง แต่เขาต้องการให้ตกแต่งเพื่อหวนระลึกถึงบ้านเกิดในรัฐ Iowa และบอกกับ Davis ว่า เมื่องานแล้วเสร็จ อพาร์ตเมนต์ของเขาต้องโดดเด่นขนาดทำให้แขกผู้มาเยือนทั้งประทับใจทั้งตื่นตะลึงชนิดอ้าปากตาค้างเลยทีเดียว ตัวเขาเองกระตือรือร้นถึงขนาดยื่นมือเข้าไปช่วยด้วยตัวเองในกรณีที่จำเป็น
โครงการนี้ต้องล่าช้าไปหลายสัปดาห์เพราะผู้ตรวจสอบอาคารไม่อนุญาตให้ติดตั้งอ่างอาบน้ำหินอ่อนและหินโมรา (onyx) ด้วยข้ออ้างว่า จะอนุญาตให้ติดตั้งเฉพาะอ่างอาบน้ำที่ผลิตจากเหล็กหล่อหรือพลาสติกเรซินเคลือบ
แต่ Carver เป็นคนเชื่อมั่นว่าปัญหาทุกอย่างสามารถแก้ไขให้ลุล่วงได้ด้วยเงินและอำนาจที่พอเหมาะ จึงวิ่งเต้นด้วยการไปที่ศาลาว่าการเมืองไมอามี่และเจรจากับเจ้าหน้าที่ด้วยตัวเอง หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงก็ได้รับอนุญาตสมใจ เขาจึงไม่ยอมเสียเวลารอปั้นจั่น หากแต่ส่งเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัว 2 ลำมาลำเลียงอ่างอาบน้ำไปยังอพาร์ตเมนต์ทันที
Davis เนรมิตอพาร์ตเมนต์หรูสุดๆ ขนาด 8 ห้องนอนกับอีก 12 ห้องน้ำให้ Carver พร้อมเครื่องตกแต่งทุกชิ้นด้วยวัสดุคุณภาพดีที่สุดเท่าที่มีขายในเวลานั้น ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ล้ำสมัยหรืออุปกรณ์ชิ้นเล็กๆ อย่างลูกบิดประตูก็ตาม ลุค (look) ของอพาร์ตเมนต์จึงแลดูแข็งแรงและเข้มตามแบบฉบับที่เรียกว่า "มาดแมน" จุดที่น่าสังเกตคือ การเน้นให้สีที่ตรงกันข้ามกับโทนสีเขียว เหลือง และขาว ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมของบ้านในรัฐ Florida ในเวลานั้นโดยสิ้นเชิง
ส่วนของพื้นซึ่งรวมถึงพื้นเทอเรซกว้างขวางทั้ง 3 แห่งปูด้วยหินโมราสีน้ำตาลเกรดหนึ่ง แต่ภายในห้องจะพิเศษกว่าด้วยการใช้พรมสั่งทำพิเศษของ Edward Fields ตกแต่ง
ที่ผนังห้องจะบุ กรุ และหุ้มด้วย Ultrasuede (ผ้าราคาแพงระยับของยุคทศวรรษ 1970) หรือไม่ก็ไหมเปลือกเนื้อหนาและหยาบเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นห้องแต่งตัวและห้องน้ำที่ปูผนังด้วยวอลเปเปอร์
เพดานห้องทั้งหมดบุด้วยผ้าไหมอาบมันแลดูหรูสง่าเฉียบเนี้ยบ ยกเว้นเพดานห้องล็อบบี้ตรงบริเวณทางเข้าที่ตกแต่งเป็นพิเศษด้วยซี่ไม้ทรงโครงร่ม (โปรดดูภาพประกอบ) ส่วนเพดานห้องเล่นเกมทำด้วยไม้สลักลวดลายลงบนกระดาษเป็นลายเรขาคณิต (โปรดดูภาพประกอบ)
ส่วนของประตู (รวมทั้งประตูลิฟต์) และตู้ต่างๆ เป็นงานฝีมือที่สั่งทำพิเศษจากไม้โอ๊กที่นำมาเซาะเป็นร่องลึกจนเกิดลายเป็นบั้งๆ (โปรดดูภาพประกอบ)
ผนังห้องอาหารซึ่งถือว่าเป็นผนังยาวที่สุดก็เล่นลายเป็นบั้งๆ เช่นกัน โดยใช้แผ่นไม้โอ๊กต่อกันในแนวทแยง ระหว่างไม้โอ๊กแต่ละแผ่นฝังด้วยทองเหลืองเป็นการตัดเส้นให้ลายสวยเด่นมองเห็นในระยะไกล ส่วนชั้นสำหรับตั้งอาหารซึ่งติดตั้งให้ลอยสูงจากพื้นและยื่นออกมาจากผนังไม้โอ๊กนั้น ออกแบบให้เข้าชุดกับพื้นห้องด้วยการใช้หินโมราสีน้ำตาลแบบเดียวกับที่นำมาปูพื้นปูทับลงตรงส่วนบนสุดของชั้นแลดูคลาสสิกไปอีกแบบ (โปรดดูภาพประกอบ)
เมื่อสำรวจตรวจตราไปทั่วทั้งอพาร์ตเมนต์ก็จะเห็นความประณีตและความมีศิลปะในการนำงานของศิลปินและช่างฝีมือมาประดับลงในเครื่องตกแต่งได้อย่างน่าทึ่ง เห็นได้จากประตูเลื่อนบานคู่ที่แยกห้องอาหารออกจากห้องนั่งเล่น เป็นผลงานสร้างสรรค์ของ Bob Fowler ประติมากรอเมริกันชื่อดัง เขานำแผ่นเหล็กมาวางเกาะเกี่ยวกันเป็นภาพจิ๊กซอว์ประณีตสวยงาม แล้วติดลงบนบานประตูซึ่งเป็นแผ่นไม้ทาสีเล่นลวดลายเตะตา กลายเป็นงานประติมากรรมชิ้นย่อมชิ้นหนึ่งทันที
Fowler ยังฝากผลงานน่าประทับใจไว้อีกชิ้นหนึ่งที่ผนังห้อง media wall ในห้องนั่งเล่นซึ่งทำเป็นประตูบานเลื่อนลวดลายแบบงานปัก (โปรดดูภาพประกอบ) เด่นสะดุดตา
จะสังเกตได้ว่า เฟอร์นิเจอร์ส่วนใหญ่บุหรือหุ้มด้วยผ้าทอมือเนื้อหนาแลดูงดงามแบบเรียบๆ แต่หรูสง่า ในส่วนของโต๊ะอาหารขนาด 12 ที่นั่งนั้นเล่าจัดเป็นงานประติมากรรมทองเหลืองเชื่อมติดอยู่บนฐานไม้ชิ้นหนึ่งได้สบายๆ ตรงพื้นโต๊ะส่วนบนสุดปูทับด้วยแผ่นกระจกใสแลดูสะอาดตา
งานออกแบบ media wall ทั้งที่อยู่ในห้องนั่งเล่นและห้องนอนใหญ่นั้นต้องถือเป็นงานของศิลปินกลุ่ม avant-garde หัวรุนแรงที่ทำให้วงการยุคต้นทศวรรษ 1970 ช็อกไปตามๆ กัน โดย media wall ในห้องนั่งเล่นออกแบบให้หันหน้าชนกับโซฟาสั่งทำพิเศษเป็นรูปครึ่งวงกลม ขณะที่ในห้องนอนใหญ่ media wall จะหันหน้าเข้าหาเตียงนอนทรงกลมขนาดใหญ่
media wall นี้ประกอบด้วยจอทีวี 4 จอ จอภาพยนตร์ ระบบเสียง และตู้เก็บฟิล์มที่ติดตั้งแบบ built-in ลงไปในผนัง ความพิเศษอยู่ตรงที่เครื่องฉายภาพยนตร์ที่ติดตั้งตรงผนังด้านหลังของโซฟานั้นไม่เพียงแต่จะฉายภาพยนตร์ไปที่จอในห้องนั่งเล่นเท่านั้น แต่ยังสามารถฉายไปที่จอในห้องนอนได้ด้วย โดยเพิ่มเทคนิคกระจกหมุนเข้าช่วยเท่านั้น (โปรดดูภาพประกอบ) ส่วนที่ทำหน้าที่ควบคุมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และอุปกรณ์ไฟฟ้าของ media wall ทุกตัวคือแผงควบคุม master control consoles 1 คู่ โดยเครื่องแรกติดตั้งตรงกึ่งกลางของโซฟาครึ่งวงกลมในห้องนั่งเล่น ขณะที่อีกเครื่องหนึ่งติดตั้งตรงแขนข้างหนึ่งของ headboard ข้างเตียงในห้องนอนใหญ่
โดยเหตุที่ Carver เป็นคนต้องมีงานจัดเลี้ยงบ่อย และอย่างเลิศหรูอีกต่างหาก จึงให้ความสำคัญกับห้องครัวเป็นพิเศษ โดยคงห้องครัวขนาดใหญ่ 2 ห้องที่มีอยู่เดิมไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ในส่วนของงานตกแต่งนั้น เขาใช้หินโมราสีทองปูบริเวณเหนืออ่างล้างมือ เพื่อกันการกระเซ็นของน้ำ แล้วปูผนังด้วยไม้คอร์กลายตกกระ ขณะที่พื้นปูกระเบื้องลายทแยงโดยใช้โทนสีน้ำตาล ครีม และ terracotta
ปกติแล้วห้องน้ำยุคทศวรรษ 1970 ไม่เน้นความหรูหราฟู่ฟ่าเหมือนปัจจุบัน แต่ที่อพาร์ตเมนต์ของ Carver ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะห้องน้ำทั้ง 12 ห้องล้วนติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งทำด้วยหินกึ่งมีค่า (semi-precious stone) ของ Sherle Wagner ในห้องน้ำแต่ละห้องยังมีห้องแต่งตัวในตัวพร้อมตู้ไม้สั่งทำพิเศษที่มีด้ามจับเข้าชุดกับอุปกรณ์ตกแต่งของ Sherle Wagner ด้วย
ห้องเล่นเกมนั้นประกอบด้วยโต๊ะปิงปองและโต๊ะบิลเลียดสั่งทำพิเศษ รวมทั้งมีบาร์ขนาดใหญ่และกว้างขวางพอที่จะทำให้ห้องอาหารเล็กๆ อิจฉาได้
น่าเสียดายที่ Roy J Carver เสียชีวิตอย่างกะทันหันจากอาการหัวใจวาย ในปี 1981 ทำให้ต้องนำแมนชั่นเพลย์บอยของเขาออกขายทอดตลาดในราคา 2.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่ง Rob Feland นายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ผู้เกี่ยวข้องกับการขายในครั้งนั้นเล่าว่า "มันกลายเป็นอพาร์ตเมนต์ราคาแพงที่สุดในรัฐ Florida กว่าจะตกลงขายได้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยนะ เพราะคุณแทบไม่สามารถจะหาอะไรมาเทียบค่าได้ มันเป็นหนึ่งในอพาร์ตเมนต์หรูระดับโลกรุ่นแรกในไมอามี่ที่มีบทบาทในการกำหนดจังหวะก้าวและสไตล์ของทุกสิ่งทุกอย่างที่ตามมาในภายหลัง"
หลังจากซื้อขายเปลี่ยนมือมาหลายต่อหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อปี 2004 อพาร์ตเมนต์หรูแห่งนี้ตกไปอยู่ในครอบครองของ Bart และ Betty Reines คู่สามีภรรยาหนุ่มสาวพร้อมเรือพ่วง 4 คน ซึ่งซื้อเอาไว้ในราคา 1.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พวกเขามีความตั้งใจอย่างแรงกล้าที่จะปรับปรุงอพาร์ตเมนต์พื้นที่มหึมานี้ให้เป็น "บ้าน" ของครอบครัว
ที่น่าเศร้าและน่าเสียดายก็คือ ทั้งสิ่งตกแต่งและการวางเลย์เอาต์สไตล์เพลย์บอยนั้นไม่เหมาะกับความต้องการอยู่อาศัยของครอบครัวเอาเสียเลย จึงจำใจต้องให้ถึงกาลอวสานของอพาร์ตเมนต์ที่เคยหรูเลิศอลังการ ซึ่งรวมถึงงานตกแต่งที่ทำให้โลกตะลึงมาแล้วด้วย
Bart Reines เจ้าของคนใหม่จึงวางแผนกับ Rene Gonzalez สถาปนิกและนักออกแบบเพื่อเนรมิตอพาร์ตเมนต์นี้เสียใหม่ให้หรูระเบิดตามยุคสมัยของวันนี้เหมือนกับที่ Carver เคยทำมาแล้วในยุคทศวรรษ 1970
ตัว Gonzalez เอง ทั้งให้เครดิตและคำยกย่องแก่นักออกแบบคนก่อนอย่างชื่นชมว่า "ต้องยอมรับว่างานของ George Davis ทั้งในส่วนของรายละเอียดและการเลือกเครื่องตกแต่งนั้นเป็นเลิศจริงๆ สำหรับผมแล้วถือเป็นเรื่องท้าทายมากที่จะต้องทำผลงานให้ได้คุณภาพในมาตรฐานเดียวกัน ตอนนี้ผมพูดได้เต็มปากเต็มคำอย่างหนึ่งว่า ข้อแตกต่างสำคัญที่สุดระหว่างงานออกแบบอพาร์ตเมนต์ที่มีอยู่เดิมกับที่เราจะทำกันใหม่นี้ก็คือ เราเน้นออกแบบพื้นที่ให้เปิดโล่งเต็มไปด้วยแสงสว่าง มองเห็นท้องฟ้าและน้ำทะเลอยู่แค่เอื้อมแทนการแบ่งพื้นที่ออกเป็นห้องๆ แล้วทำให้เชื่อมต่อกันอย่างของเดิม"
แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนิตยสาร Wallpaper/July-August 2005
กลับสู่หน้าหลัก
 ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|