|
A long road to new medicine
โดย
น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ผู้รู้หลายคนบอกว่ารถด่วนสายเทคโนโลยีชีวภาพขบวนสุดท้ายมาถึงแล้ว ไทยพร้อมแค่ไหนในการขึ้นรถไฟขบวนนี้ จะขึ้นหรือยอมให้รถไฟผ่านเลยไป อยู่ที่ใครเป็นคนกำหนด
ชายชราคนหนึ่งนั่งนิ่งอยู่บนเก้าอี้ที่มีชื่อของโรงพยาบาลประดับเต็มไปหมด แขนข้างหนึ่งของเขายื่นพาดไปบนโต๊ะขนาดกว้างไม่กี่ฟุตตรงหน้า เพื่อให้นางพยาบาลในชุดสีขาวสะอาดตาวางเข็มขนาดเล็กลงบนนิ้วมือข้างนั้น เลือดสีแดงสดค่อยๆ ผุดขึ้นมา จากแผลที่เข็มของนางพยาบาลได้แทงลงไปใต้ผิวหนังของชายชรา เธอใช้อุปกรณ์ปาดเลือดเพียง 2-3 หยดขึ้นมาใส่ถาดหลุมขนาดเล็กเพื่อส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ห้องข้างๆ ซึ่งนั่ง เฝ้ารอเลือดเพื่อจะวิเคราะห์หาโรคของชายผู้นี้
ผลเลือดถูกส่งกลับมายังแพทย์ประจำ ตัวคนไข้ ในกระดาษแผ่นที่แพทย์ถืออยู่นั้น นอกจากจะระบุกรุ๊ปเลือด อันเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ได้จากการตรวจเลือดเพียงไม่กี่หยด ยังบอกอาการของโรคที่พบ พร้อมระบุชื่อยาที่เหมาะสมกับลักษณะดีเอ็นเอ หรือพันธุกรรมของคนไข้มากที่สุดมาในเวลาเดียวกันด้วย
10 นาทีให้หลัง ชายชราคนดังกล่าวเดินถือถุงยาที่ระบุว่าเหมาะกับพันธุกรรมของเขามากที่สุดติดมือออกจากโรงพยาบาลด้วยใบหน้าที่ยิ้มแย้มกว่าเมื่อครั้งที่ก้าวเท้าเข้ามาในโรงพยาบาล เมื่อพบอาการเจ็บป่วยทางร่างกายจนทนไม่ไหว และตัดสินใจเข้ามาตรวจอาการในโรงพยาบาลแห่งนี้
ภาพการรักษาอาการของโรคด้วยการเจาะเลือดไปตรวจ เพื่อหาลักษณะดีเอ็นเอของ คนไข้ และค้นหายาที่เหมาะสมกับคนไข้มากที่สุดนั้น จะไม่เป็นเพียงนวนิยายวิทยาศาสตร์ ที่วางขายบนชั้นหนังสือ หรือหนังสือได้รับรางวัลซีไรต์ เนื่องจากนำเสนอสิ่งที่น่าอัศจรรย์ ใจจนเกินที่ใครจะคิดถึงเท่านั้น
นับตั้งแต่เสร็จสิ้น "โครงการถอดรหัส พันธุกรรมมนุษย์" หรือ Human Genome Project ซึ่งสหรัฐฯ และอังกฤษได้ประกาศความสำเร็จไปเมื่อหลายปีก่อน มนุษย์ก็ค้นพบว่าร่างกายของคนนั้นประกอบไปด้วยยีน ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกลักษณะพันธุกรรม หรือทำหน้าที่แสดงผลออกมาจนเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละคนว่ามีจำนวนกี่หมื่นยีน และแต่ละยีนทำหน้าที่อะไรบ้าง หากยีนใดบกพร่องจะก่อให้เกิดผลลบต่อร่างกายหรือก่อโรคอะไรให้กับคนส่วนใหญ่บ้าง ตั้งแต่ครั้งนั้น โฉมหน้าของวงการแพทย์ทั่วโลกก็เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือไปในทันที
"ยีน" กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการคิดค้นยาใหม่ๆ ขึ้นมาในโลกปัจจุบันและอนาคตอันใกล้ด้วยเหตุผลง่ายๆ ไม่ซับซ้อนอะไรนัก ...การแก้ไขที่ต้นเหตุย่อมดีกว่าปลายเหตุ การส่งยาไปบังคับหรือควบคุมยีนดังกล่าวไม่ให้แสดงอาการของโรคหรือกระตุ้นให้สร้างสารอะไร สักอย่างเพื่อแก้ปัญหาของโรค จึงเป็นเรื่องที่ดีกว่าการชะลออาการหรือรักษาตามอาการ และบอกว่าอาการหายเป็นปลิดทิ้งซึ่งไม่ถูกหลักการของการรักษาโรคมากนัก
บริษัทยาหลายแห่งต่างขึ้นรถไฟสายเดียวกันมุ่งหน้าไปหา "ยีน" แทบทั้งสิ้น หลายคนตกขบวนก็ถึงกับต้องล้มหายไปจากวงการยา หลายคนขึ้น ช้ากว่า และต้องไปอยู่ตู้รถไฟตู้ห่างออกไป ก็อาจจะต้องเดินเข้าสู่ตัวสถานีช้ากว่าคนอื่น แม้จะถึงเป้าหมายที่เดียวกันเหมือนกันก็ตาม
แกล็คโซสมิธไคลน์ (จีเอสเค) และไฟเซอร์ (Pfizer) และเมอร์ค (Merck) บริษัท เวชภัณฑ์ระดับโลก เป็นเพียงตัวหนึ่งเท่านั้นของบริษัทยาน้อยใหญ่อีกนับสิบนับร้อยที่กระจัดกระจายออยู่ทั่วโลก ซึ่งให้ความสำคัญ ในการใช้ "ยีน" เป็นจักรกลสำคัญในการคิด ค้นยาใหม่ขึ้นมา
หลักจากที่เลือกโรคเป้าหมายในการพัฒนาได้แล้ว วิธีการพัฒนายาแบบใหม่ ทั้งสองบริษัทเลือกที่จะใช้ข้อมูลพันธุกรรมของมนุษย์เป็นตัวตั้งต้น โดยอาจดูว่ายีนตัวไหนที่ผิดปกติไป แล้วทำให้คน ส่วนใหญ่เป็นโรคบางโรค จากนั้นก็เลือกที่จะหาสารโมเลกุลนำทางจากพืช สัตว์ หรือจากสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ ก่อนตัดสินใจทำการทดสอบสารดังกล่าวว่าจะมีศักยภาพในการเป็นยาในการรักษาโรคนั้นหรือไม่
ปัจจุบันศูนย์วิจัยของทั้งจีเอสเค ไฟเซอร์ และเมอร์ค อาศัยเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยในการคัดกรองสารประกอบเหล่านี้ได้ถึงวันละนับแสนสารประกอบ จากเดิมที่นักวิจัยในศูนย์ทำได้เพียงวันละไม่กี่ตัวเท่านั้น จนกระทั่งได้สารที่จะเป็นยามาทดสอบการรักษากับทั้งสัตว์ทดลองและมนุษย์ หรือที่เรียกว่า การวิจัยคลินิก
แม้กระบวนการของการทดลองในสัตว์ และคนจะกินระยะเวลานานหลายปี เพราะต้องผ่านการวิจัยคลินิกถึง 3 ระยะ บางครั้งอาจมากถึง 10 ปีเพื่อให้มั่นใจว่ายาดังกล่าวได้ผลจริง จนกว่าจะเสร็จสิ้นจนยาสามารถขึ้นทะเบียนและวางตลาดได้ในที่สุด แต่ด้วยวิธีการนำข้อมูลยีนมาใช้ในปัจจุบันทำให้ย่นระยะเวลาในการทดลองให้ลดลงไปได้หลายปี ทำให้บริษัทยาสามารถลดช่วงระยะเวลาของการพัฒนายาแต่ละตัวออกมาจำหน่ายในท้องตลาดได้
ด้วยวิธีการเดียวกันยังช่วยให้บริษัทยาขนาดใหญ่แต่ละแห่งมีโครงการวิจัยเพิ่มขึ้นถึง 4-5 เท่าเมื่อเทียบกับเมื่อ 20 ปีที่แล้ว สามารถเก็บสารประกอบสำคัญๆ ที่คาดว่าจะเป็นยารักษาโรคบางโรคเอาไว้ในคลังสารประกอบ เพื่อใช้ในการวิจัยในอนาคต และต่อยอดไปถึงกระบวนการตรวจสอบยากับคนส่วนใหญ่แบบใหม่ที่เรียกว่า "เภสัชพันธุศาสตร์" (Pharmacogenomic) วิธีการดังกล่าวจะคัดเลือกประชากรจำนวน 10,000 คน เพื่อมาศึกษาลักษณะพันธุกรรม หลังจากนั้นจะดูว่าตัวยาที่ต้องการทดสอบนั้นออกฤทธิ์หรือรักษาได้ที่สุดในคนกลุ่มที่มีลักษณะพันธุกรรมแบบไหน ซึ่งประโยชน์ก็ตกถึงผู้บริโภคที่กำลังเจ็บไข้ได้ป่วยนั่นเอง
อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารของบริษัทยาเหล่านั้นก็ต่างลงความเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่า บริษัทยาไม่สามารถอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยวได้ การสร้างเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาครัฐ สถาบัน การศึกษา และหน่วยงานวิจัยต่างๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความก้าวหน้าของวงการยาของโลกเป็นอย่างมาก
Rick Koening ซึ่งเป็น Vice President, R&D Communication ของจีเอสเค และ เมอร์คเองเอ่ยกับสื่อมวลชนหลายสิบชีวิตเมื่อครั้งที่เดินทางไปเยือนถึงศูนย์วิจัยของทั้งสอง ถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อปลายเดือนกันยายนว่า "นอกจากข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับยีนแล้ว อุตสาหกรรมยาจะอยู่ไม่ได้หากไม่มีความร่วมมือกับสถาบันวิจัยของภาครัฐหรือสถาบันการศึกษา ซึ่งมีส่วนสำคัญในการ ค้นหาความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับยีน หรือแม้แต่สามารถค้นหาเทคนิค วิธี ในการรักษาโรค และสารประกอบที่น่าจะเป็นยารักษาโรคนั่นเอง"
สหรัฐจีเอสเคแล้ว เลือกที่จะทำความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาชั้นนำของประเทศ ทั่วโลก อาทิ Duke College และ Imperial College London เป็นต้น ส่วนเมอร์คนั้นถือ เป็นบริษัทยาที่ช่วยให้เห็นภาพความร่วมมือกับหน่วยงานวิจัยของภาครัฐที่ชัดเจนที่สุด เมอร์คลงทุนไปตั้งศูนย์วิจัยสาขาบอสตันของตนเองในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด มหาวิทยาลัยเอกชนที่ติดอันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน เพื่อรองรับงานวิจัยและความร่วมมือระหว่างนักวิจัยของฮาร์วาร์ด ซึ่งกลายเป็น เรี่ยวแรงสำคัญให้กับบริษัทเมอร์คมาตลอดช่วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
หลายคนมองว่าอุตสาหกรรมยา หรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพกลายเป็นศาสตร์หรืออุตสาหกรรมที่ประเทศไทยไม่สามารถก้าวไปถึงฝั่งฝันได้ แม้ที่ผ่านมานายก รัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยา ศาสตร์ของไทยหลายคนจะพยายามผลักดัน และให้งบประมาณสนับสนุนมากมายขนาดไหนก็ตามที แต่ด้วย know-how และบุคลากร ที่ไม่เพียงพอ ทำให้คำประกาศของไทยที่ต้อง การจะเป็นศูนย์กลางของวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์ที่เรียกกันว่า Life Science ในภูมิภาคยังคงเป็นเพียงความฝันอยู่
แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยจะมีหน่วยงานในสังกัดของรัฐ แต่ทำงานเช่นเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจอย่างศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ในสังกัดของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นตัวการสำคัญในการ ผลักดันงานวิจัย และสนับสนุนการเพิ่มบุคลากร ในสาขาเทคโนโลยีชีวภาพและอุตสาหกรรม ยามาหลายปีแล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนจะยังไม่เพียงพอแต่อย่างใด
เมื่อหลายปีที่ผ่านมา หลังจากที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC และเป็นเจ้าภาพประชุมความร่วมมือในสาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ ระหว่างคณะกรรมการของไทย และคณะรัฐมนตรีบางส่วนกับสภาธุรกิจสหรัฐฯ-อาเซียนไม่กี่เดือนถัดมา นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งให้กับวงการเทคโนโลยีชีวภาพของไทย
ไทยมีหน่วยงานที่เรียกว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย หรือ TCELS เกิดขึ้นภายใต้พระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2547
TCELS จะกลายเป็นอีกหนึ่งแรงที่จะช่วยให้ไทยขึ้นรถด่วนสายเทคโนโลยีชีวภาพได้ทันเช่นเดียวกับอีกหลายๆ ประเทศ การเข้ามาช่วยเป็นตัวกลางให้หน่วยงานของรัฐและเอกชนได้พบเจอกัน และส่งต่องานวิจัย ให้เกิดเป็นผลิตภัณฑ์ ถือเป็นบทบาทสำคัญของ TCELS
"by product จะไม่เกิด หาก Primary Research ไม่ได้รับการส่งต่อยังภาคเอกชนหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเรารู้ว่าแค่งานวิจัยที่ทำแล้วไม่ได้มีผลต่อสังคมอย่างแท้จริง เท่ากับการส่งผ่านเทคโนโลยีในการค้นคว้าหรืองานวิจัยนั้นให้กับผู้ที่เหมาะสม ที่สำคัญงานวิจัยนั้นก็คงจะขึ้นหิ้งจากที่ใครหลายคนเคยกล่าวเอาไว้
TCELS เองก็เกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เราทำหน้าที่ส่งเสริมให้ทุกฝ่ายได้คุยกัน เราส่งเสริมให้เกิดงานวิจัยและให้งานวิจัยได้เกิดเป็นสินค้า ที่สำคัญคือส่งเสริมให้คนเข้าสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้" ศาสตราจารย์เกียรติคุณพรชัย มาตังคสมบัติ ประธานศูนย์ TCELS บอกกับ "ผู้จัดการ" ในวันที่นำพาคณะ สื่อมวลชนจากหลายสำนักพิมพ์ไปเยี่ยมศูนย์ วิจัยยาและมหาวิทยาลัยชั้นนำในสหรัฐอเมริกา หลายแห่ง
เพราะไทยคงไม่อยากตกขบวนรถไฟ การสร้างรากฐานความมั่นคงในด้านดังกล่าวให้พร้อม จนกว่ารถไฟขบวนนั้นจะมาถึง เพราะถึงแม้ไทยจะขึ้นรถไฟขบวนดังกล่าวได้ แต่ไม่พร้อมก็อาจต้องลงกลางทางก่อนถึงจุดหมาย และถึงแม้ไทยจะก้าวช้ากว่าสหรัฐฯ หรือประเทศเพื่อนบ้านที่นำหน้าความสามารถ ด้านเทคโนโลยีชีวภาพไปหลายก้าว แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้เดินไปจากจุดที่ยืนอยู่เลย การเกิดขึ้นของหน่วยงานใหม่ที่จะเข้ามาช่วยกันส่งเสริมวิทยาศาสตร์ไทยให้ก้าวหน้าจึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กับงบประมาณที่เพียงพอ และการสนับสนุนการศึกษาของคนรุ่นใหม่เพียงเท่านั้น
ไม่กี่ปีข้างหน้า นักวิจัยที่กำลังก้มหน้า ก้มตาทำงานวิจัยในมุมหนึ่งของห้องทดลอง อาจจะประสบความสำเร็จในการคิดค้นยาตัวใหม่ที่รักษาโรคจากความบกพร่องของยีน ซึ่งเกิดขึ้นเฉพาะกับคนไทยก็เป็นได้ ใครจะรู้ เพียงเท่านี้ เราก็ไม่ตกขบวน แถมยังต้องฉลอง กับความก้าวหน้าของวงการเทคโนโลยีชีวภาพ ของตนเองอีกด้วย ถึงเวลานั้นเราเองก็คงจะยกประโยชน์ให้กับหน่วยงานที่ช่วยส่งเสริม เพื่อให้มีกำลังใจในการทำงาน และยกผลประโยชน์ให้กับคนทั้งประเทศ ในฐานะที่เป็นเจ้าของผลงานร่วมกันนั่นเอง
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|