Employee's choice

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

Finansa Global Allocation Fund ไม่เพียงจะบอกถึงโอกาสที่มากขึ้นในการเลือกรูปแบบการลงทุนตามบุคลิกของลูกจ้างแต่ละรายที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพเท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงคอนเซ็ปต์การทำธุรกิจที่ต่างไปของ บลจ.แห่งนี้อีกด้วย

หลังใช้เวลา 8-9 เดือนในการปรับระบบโครงสร้างภายในกิจการจนลงตัว บลจ.ฟินันซ่าก็ชัดเจนว่าการทำธุรกิจบริหารความมั่งคั่งให้แก่นักลงทุน ต้องเน้นย้ำความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดจากบริษัทจัดการกองทุนที่มีอยู่โดยทั่วไปในประเทศ ด้วยการจับ 3 แนวทางการให้บริการมาผูกเป็นคอนเซ็ปต์การทำธุรกิจรูปแบบใหม่ของฟินันซ่า

โดยบริการทั้ง 3 นั้นจะประกอบไปด้วยการ เลือกลงทุนด้วยตัวเอง (Employee's Choice) สำหรับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, ทางเลือกในการลงทุนสายพันธุ์แท้ (Best of Breed Investment Solution) และศูนย์รวมกองทุน (One Stop Boutique)

กล่าวได้ว่า Employee's Choice เป็นคอนเซ็ปต์การให้บริการส่วนที่เพิ่มเข้ามาใหม่ เพราะ ทั้ง Best of Breed Investment Solution และ One Stop Boutique ต่างก็เป็นการให้บริการที่ปรากฏอยู่แล้วบน webpage ของฟินันซ่าก่อนหน้า ที่ธีระ ภู่ตระกูล ประธานกรรมการ บลจ.ฟินันซ่าจะเผยแพร่อย่าง เป็นทางการพร้อมกันในงานแถลงข่าวการจัดตั้งกองทุน Finansa Global Allocation Fund เมื่อปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมา

ที่มาของกองทุน Finansa Global Allocation Fund ซึ่งเป็น เพียงจุดเริ่มต้นอันหนึ่งในการให้บริการภายใต้คอนเซ็ปต์ Employee's Choice นั้น เป็นการต่อยอดความต้องการของลูกจ้างพนักงานมีหน้าที่ต้องสมทบเงินเข้ากองทุนฯ ร่วมกับนายจ้าง ที่อาจมองว่า รูปแบบการลงทุนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไม่ควรถูกจำกัดด้วยรูปแบบการลงทุนที่นายจ้างเป็นผู้เลือกแต่เพียงฝ่ายเดียว

แต่ควรคำนึงถึงรูปแบบสไตล์การลงทุนที่ผู้รับผลประโยชน์แต่ละรายอาจจะมีความชื่นชอบต่างกัน และความสามารถในการแบก รับความเสี่ยงจากการจัดประเภทสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน ซึ่งอาจมีมากน้อยไม่เท่ากัน สุดแต่ความต้องการในการสะสมดอกผลจากการลงทุน ที่น่าจะพอเพียงต่อการยังชีพตลอดช่วงบั้นปลายชีวิตหลังวัยทำงาน อีกทั้งทางเลือกแหล่งการลงทุนของกองทุนฯ ยังเป็นอีกประเด็นที่ไม่ควรถูกนำมาใช้เป็นข้อจำกัดในการแสวงหาแหล่งลงทุนใหม่ๆ ได้ทั้งจากภายในและนอกประเทศที่อาจให้ผลตอบแทนที่ดีแตกต่างกันในแต่ละช่วงเวลา

แต่ความเปลี่ยนแปลงเริ่มเป็นจริงหลังสำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผ่อนคลายกฎเกณฑ์การ ลงทุนในต่างประเทศของกองทุนต่างๆ ตลอด จนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้จัด สรรวงเงิน 500 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อให้ บลจ.แต่ละแห่งสามารถขอใช้สิทธิโอนไปลงทุนในต่างประเทศได้ โดยไม่เกิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ในแต่ละรอบ

สำหรับเงินลงทุนในกองทุน Finansa Global Allocation Fund นั้น เกิดจากความร่วมมือกันระหว่างฟินันซ่า และ USB Global Asset Management โดยฟินันซ่าจะทำหน้าที่เป็นเพียงผู้รวบรวมเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ฟินันซ่าเป็นผู้บริหารจัดการอยู่แล้ว จากบริษัทที่สนใจเข้าร่วมรายละ 15% เพื่อนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนใหม่ ก่อนโอนสิทธิ หน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนทั้งหมดต่อไปยัง USB Global Asset Management ซึ่งจะนำกองทุนนี้ออกไปลงทุนในตลาดต่างประเทศทั่วโลก เพื่อกระจายความเสี่ยงไปตาม แหล่งต่างๆ

นโยบายจัดสรรการลงทุน กำหนดว่า กองทุนฯ จะลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ 40% ลงทุนในตลาดหุ้นโตเกียวและตลาดหุ้นยุโรป 22% อีก 15% ลงทุนในตราสารและพันธบัตร ระหว่างประเทศในยุโรป ญี่ปุ่น และตลาดเกิด ใหม่ในกลุ่ม high yield bond ส่วนที่เหลืออีก 13% เป็นการลงทุนในเงินสด

แม้ฟินันซ่าจะไม่ได้ผู้ดูแลกองทุน Finansa Global Allocation Fund นี้เองแล้วก็ตาม แต่ บลจ.แห่งนี้ก็เตรียมที่จะผันตัวเองไปสู่การให้บริการให้คำแนะนำปรึกษาส่วนบุคคลในการจัดสัดส่วนการลงทุนแบบเฉพาะราย สำหรับลูกจ้างพนักงงานที่ลงทุนผ่านกองทุนนี้ อีกทั้งยังจะขยายการให้บริการไปสู่พนักงานบริษัทต่างๆ ที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ตลอดจนผู้ที่ทำงานอิสระและเจ้าของกิจการรายย่อย ที่อาจต้องการผสมผสานการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ในอนาคต

"เราคงไม่ตั้งกองทุนใหม่ๆ ขึ้นอีก เพราะคงไม่มีประโยชน์อะไร หากกองทุนของเราไม่ได้แตกต่างไปจากที่อื่นๆ ทำกัน" ธีระกล่าว "ผมเชื่อว่าธุรกิจบริหารความมั่งคั่งจะสนุกขึ้น เพราะ SET 50 จบแล้ว ไม่มีเกณฑ์อะไรมากไปกว่านี้ เราไม่จำเป็นต้องอยู่ในประเทศเล็กๆ แต่เราไปได้ในพื้นที่ที่กว้างใหญ่ไพศาล และมีเสถียรภาพมากกว่า employee's choice และการลงทุนในต่างประเทศนี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้น อีกหน่อย ประกันชีวิตก็จะเป็นไปในทางเดียวกัน ซึ่งเราจะมีของให้เล่นอีกเยอะถ้าต่างประเทศเข้ามา"

สำหรับการให้บริการ Best of Breed Investment Solution จะเป็นการเสนอบริการด้านการวางแผนการเงิน เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงการลงทุนและบริการต่างๆ ที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ในการเพิ่มค่าเงินลงทุน เสริมสร้างรายได้ เก็บรักษาเงินต้น จัดการกระแสเงินสดระยะสั้น และลดหย่อนภาษี เนื่องจากปัจจุบันมีกองทุนต่างๆ ออกมามากมาย จนผู้ลงทุนสับสนและไม่อาจแยกแยะได้ถึงความแตกต่างของตัวสินค้าและบริการ ส่วนบริการ one stop boutique จะเป็นอีกบริการ หนึ่งที่ช่วยผู้ลงทุนกลั่นกรองตัวกองทุน และเปรียบเทียบผลการดำเนินงานของกองทุนต่างๆ ผ่านทางเว็บไซต์จากข้อมูล กองทุน Lipper

ทั้งนี้ ปัจจุบันฟินันซ่ามีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ 14,000 ล้านบาท ซึ่งมีบริการ 3 ประเภท คือ กองทุน รวม กองทุนส่วนบุคคล และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยกองทุน สำรองเลี้ยงชีพถือเป็นธุรกิจหลัก มีสมาชิกกว่า 90,000 รายจาก 300 กองทุน ขณะที่ USB Global Asset Management มีขนาดสินทรัพย์รวมกันทั้งกลุ่มราว 700,000-800,000 ล้านเหรียญสหรัฐ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.