โค้งสุดท้าย RMF & LTF

โดย ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

เหลือเวลาอีกเพียง 2 เดือน สำหรับผู้ที่เคยลงทุนในกองทุน LTF และ RMF เมื่อก่อนหน้าจะต้องตัดสินใจลงทุนอีกครั้ง หากยังต้องการรักษาสิทธิที่จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามนโยบายที่รัฐบาลได้เปิดช่องไว้ให้ก่อนหน้า

9 เดือนที่ผ่านมา ตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร ต้องเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาน้ำมันราคาแพง การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดจากธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อต่อสู้กับปัญหาการขาดดุลบัญชี เดินสะพัด และอัตราเงินเฟ้อ ล้วนแต่เป็นเหตุปัจจัย ที่สร้างความผันผวนในอัตราผลตอบแทนการลงทุนของผู้ลงทุนเป็นอย่างยิ่ง

และผู้บริหารพอร์ตกองทุนต่างต้องพยายามหาทุกกลยุทธ์วิธีในการบริหาร เพื่อโชว์ผลงานดำเนินงานให้ผลตอบ แทนการลงทุนในระดับสูงสุดเมื่อเปรียบเทียบกับกองทุนอื่นๆ ด้วยกัน เมื่อเปรียบเทียบถึงผลตอบแทนการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ ไทย ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนกันยายนที่ให้ผลตอบแทนการลงทุน เพียง 3.35% ขณะที่ดัชนีผลตอบแทนการลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาล และดัชนีผลตอบแทนการลงทุนจากหุ้นกู้เอกชนที่ได้รับการจัด อันดับความน่าเชื่อถืออยู่ในระดับ investment grade รอบครึ่งแรกของปีนี้อยู่ที่ 5.50% และ 3.40% ตามลำดับ

ด้วยเหตุผลที่ว่ามิติความกว้างและความลึกของตลาดในประเทศ ยังอาจยังมีไม่มากพอ

ดังนั้น การจัดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภทและจังหวะในการเข้าลงทุนของผู้บริหารจัดการกองทุนแต่ละเจ้า จึงน่าจะกลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่มากก็น้อย ต่อการประเมินถึงความสำเร็จของความพยายามที่จะสร้างผลตอบแทนการลงทุน ให้แก่ลูกค้า ในระดับสูงสุดเท่าที่ตลาดจะเอื้ออำนวยได้ในแต่ละช่วง เมื่อเทียบจากข้อมูลการให้อันดับของ LIPPER เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยผลตอบแทนการลงทุน ในกองทุน RMF แยกตามประเภทสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 กันยายน 2548 กลุ่มกองทุนรวมประเภทตราสารแห่งทุน และกองทุนรวมผสม แบบยืดหยุ่น ยังเป็นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนสูงสุดต่อนักลงทุน

สำหรับผลดำเนินงานในกองทุนรวมตราสารหนี้แห่งทุน กองทุนรวมอเบอร์ดีน สมาร์ทแคปปิตอลเพื่อการเลี้ยงชีพ ยังคงรักษา ตำแหน่งจ่าฝูงของกลุ่มไว้ได้เช่นเดียวกับเมื่อสิ้นเดือนก่อนหน้า แม้กองทุนนี้ของอเบอร์ดีน จะมีต้นทุนการบริหารจัดการสูงสุดเป็นอันดับ 1 ก็ตาม แต่หากพิจารณาถึงต้นทุนบริหารจัด การ ที่เรียกเก็บตามมูลค่ากองทุนสุทธิ (NAV) 2.18% ต่อปี ก็ยังถือว่าเป็นกองทุนที่น่าสนใจ

ด้านกองทุน Jumbo เพื่อการเลี้ยงชีพ จาก บลจ.ทหารไทย ดูท่าว่าผู้บริหารจัดการกองทุนเริ่มที่จะประสบความสำเร็จกับการดันอัตราผลตอบแทนกองทุนขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 2 เบียดกองทุนบัวหลวงตราสารหนี้ที่เคยเป็นแชมป์เก่าเมื่อรอบ ที่แล้ว แต่มารอบนี้ถูกร่นลงมาอยู่ในอันดับ 3 แทนที่ Jumbo เสียแล้ว

ส่วนผลตอบแทนการลงทุนในกองทุนรวมผสมแบบยืดหยุ่น กองทุนที่สร้างผลตอบแทนการลงทุนที่ดีสุดแก่นักลงทุน จะมาจากการทำผลงานกองทุนบัวหลวงเฟล็กซิเบิ้ลเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งให้ผลตอบแทนการลงทุนอยู่ในระดับ 10.9%

ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินนั้น แม้ผลดำเนินงานระหว่างกองทุนโครงสร้างจัดการ กองทุนเปิดตราสารเงินคุณค่า เพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งบริหารจัดการ โดย บลจ.วรรณ และกองทุนรวมอยุธยาตราสารเงินเพื่อการเลี้ยงชีพของ บลจ.อยุธยาเอเจเอฟ เริ่มทิ้งช่วงห่างจากกันเล็กน้อยจากผลตอบแทนที่เท่ากัน 1.8% เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม

ด้านกองทุนรวมตราสารแห่งหนี้ ก็มีการปรับเปลี่ยนอันดับผลตอบแทนการลงทุนเช่นเดียวกัน โดยแมกซ์อินคัมของ บลจ.นครหลวงไทย ตีตื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็วจากอันดับ 5 เมื่อ สิ้นเดือนสิงหาคม มายืนอยู่ในอันดับ 1 แทนที่กองทุนไอเอ็นจี คุ้มครองเงินต้นเพื่อการเลี้ยงชีพ 3 เช่นเดียวกับกองทุนไอเอ็นจี ออมทรัพย์เพื่อการเลี้ยงชีพ ที่ขึ้นจากอันดับ 4 มาอยู่ที่อันดับ 2 แทนที่กองทุนอยุธยาเจเอฟฯ ซึ่งร่วงไปอยู่ในอันดับที่ 5

แต่ที่น่าทึ่ง เห็นจะเป็น performance จากกองทุนกรุงไทยวางแผนภาษีเพื่อการเลี้ยงชีพ 2 ที่เขยิบขึ้นจากอันดับที่ 23 จากผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2548 ติดลบ 2.5% มายืนอยู่ในอันดับ 4 ด้วยผลตอบแทนที่เป็นบวก 1.24% เมื่อถึงสิ้นเดือนกันยายน

ขณะที่กองทุน LTF ยังให้ผลตอบแทนการลงทุนอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับกองทุน RMF โดยผลสำรวจและจัดอันดับ ตัวกองทุนที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนสูงสุดใน 5 อันดับแรก ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากผลสำรวจของ Lipper เมื่อสิ้นเดือนกันยายน


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.