|
We are the new. We are Lenovo.
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
หลังจากที่ผ่านพ้นช่วงเวลาในการตอบคำถามให้กับผู้บริโภค ที่กังวลถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับตนเอง อันเป็นผลมาจากการประกาศควบรวมกิจการเข้าด้วยกัน ระหว่าง Lenovo International และหน่วยธุรกิจพีซีของ IBM จนกลายเป็นข่าวครึกโครมไปทั่วโลกมาตั้งแต่เมื่อต้นปี ล่าสุด Lenovo ประเทศไทย ที่เพิ่งจะมีอายุไม่กี่ร้อยวัน นับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดตัวบริษัทสู่ตลาดไทย ก็เริ่มเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างเห็นได้ชัด
งานแถลงข่าวครั้งแรกหลังจากจดทะเบียนบริษัทในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นในพื้นที่ของ 87 Plus Pub ชั้นหนึ่งโรงแรมคอนราด ถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ในการทำตลาดคอมพิวเตอร์ของ IBM พนักงานของ Lenovo ซึ่งแต่เดิมเคยอยู่ในสังกัดของหน่วยงานธุรกิจคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลไอบีเอ็มมาแทบทั้งหมด พร้อมใจใส่เสื้อสีดำ อันเป็นสัญลักษณ์ของบริษัท บนหน้าอกปักแบรนด์ Lenovo สีขาว มาร่วมงานกันหลายชีวิต
ความเปลี่ยนแปลงหลังจากที่ควบรวมกิจการอันเห็นได้ชัดเจน ไม่แพ้การโอนถ่ายพนักงานบางส่วนของ IBM มาอยู่ Lenovo และการจัดงานแถลงข่าวในรูปแบบที่เปลี่ยนไปก็คือ การเปลี่ยนรูปลักษณ์ ของสินค้าของตนเอง
ในเมื่อควบรวมกิจการเข้าด้วยกันแล้ว Lenovo จึงได้รับสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะได้ใช้แบรนด์ "ThinkPad" ของไอบีเอ็มในการทำตลาดทั่วโลกยาวนานถึง 5 ปีเต็ม ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเลือกใช้แบรนด์ดังกล่าวในการทำตลาดต่อไปหรือไม่ เมื่อผ่านพ้นเข้าสู่ปีที่ 6
"ThinkPad Z60m" เป็นหนึ่งในสินค้าที่เปิดตัวในวันนั้น นับเป็นคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กตัวแรกในไลน์การผลิตหลังจากที่มีการควบรวมบริษัท แถมเป็นตัวแรกที่มาพร้อมหน้าจอแบบไวด์สกรีน เช่นเดียวกันกับการเปลี่ยนสีและวัสดุในการผลิต จากที่โน้ตบุ๊กของ IBM เคยมีแต่สีดำเท่านั้น ThinkPad Z60m กลับมาพร้อมฝาเปิดสีเงิน เนื่องจากเลือกใช้ไททาเนียมในการผลิตเพื่อให้เกิดความทนทาน และป้องกันรอยขีดข่วน
แม้จะตัดสินใจเปิดตัวสินค้าออกสู่ตลาดแล้ว แต่ความไม่แน่นอน และไม่ชัดเจนหลายๆ อย่างก็สร้างความสับสนให้กับผู้บริโภคไม่น้อย โดยเฉพาะความสับสนในการเลือกใช้แบรนด์ ในเมื่อตัวบอดี้ ของคอมพิวเตอร์ที่วางขายเห็นโลโกชัดเจนว่าเป็นแบรนด์ IBM แต่กลับจำหน่ายโดยบริษัท Lenovo ซึ่งได้สิทธิ์ในการทำตลาดคอมพิวเตอร์ของ IBM ไปแล้วอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แม้ธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ลูกหม้อเก่าของ IBM ที่ปัจจุบันนั่งแท่น Country Manager ของ Lenovo ประเทศไทยจะแก้ต่างด้วยการบอกว่า Lenovo เลือกที่จะชูแบรนด์ ThinkPad แทน IBM ก็ตามที
ขณะที่การเลือกใช้ชื่อแบรนด์ในการทำตลาดคอนซูเมอร์ นอกเหนือจากตลาด Corporate ที่ยังไม่ชัดเจนว่าจะเลือกใช้ชื่อ Lenovo อย่างชื่อบริษัท หรือชื่ออื่น เพราะยังต้องรอการคัดสรรหรือคำสั่งจากสำนักงานใหญ่ในนิวยอร์กก่อนโปรโมตออกไปนั่นเอง ก็กลายเป็นคำถามที่ผู้บริหารของ Lenovo ยังเลี่ยงที่จะตอบจนกว่า จะถึงเวลา ซึ่งยังไม่ทราบว่านานแค่ไหน
แม้การควบรวมของบริษัททั้งสองจะก่อให้เกิดข้อดีในแง่ของ Economy of scale และ สร้าง Innovation product ได้ดียิ่งขึ้น แต่ความไม่ชัดเจนในการเลือกใช้แบรนด์ ก็ทำให้ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการทำตลาดของบริษัทใหม่ย่อมเกิดขึ้นเป็นแน่ อย่างน้อยที่สุด ผู้บริโภคก็คงจะสับสนว่าสุดท้ายตนจะเป็นเจ้าของแบรนด์ใด และจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็นแบรนด์ไหนในอนาคต
งานนี้ผู้บริหารบอกให้อดใจรอ เพราะไม่สามารถหาคำตอบให้ได้ในตอนนี้ แต่จะให้รอไปอีกนานแค่ไหน "ไม่กี่อึดใจ" เขาว่าอย่างนั้น
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|