1 ศตวรรษในไทย


นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ถ้าถามถึงความคุ้นเคย ผู้บริโภคชาวไทยย่อมคุ้นกับชื่อของดีทแฮล์มมากกว่าชื่อดีเคเอสเอช เพราะชื่อดีทแฮล์มนั้นเป็นที่รู้จักกันในประเทศไทยเกือบจะครบ 1 ศตวรรษเข้าไปแล้ว

ต้นปี 2549 จะเป็นช่วงเวลาที่ดีทแฮล์มมีอายุครบ 100 ปีเต็ม ในการเข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย

ดีทแฮล์มเป็น trading company สัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ที่เริ่มเข้ามาค้าขายในประเทศไทย ในยุคเฟื่องฟูของอิทธิพลตะวันตก ซึ่งเริ่มเกิดขึ้นเมื่อกว่า 1 ศตวรรษก่อน ภายหลังสนธิสัญญาเบาริ่งเริ่มมีผลบังคับใช้

โดยมีการหลั่งไหลของวัฒนธรรมผ่านรูปแบบการนำเข้าสินค้าประเภทต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าฟุ่มเฟือยเข้ามาให้กับผู้คนในสังคมไทยได้ทดลองใช้ ขณะเดียวกันก็ได้นำสินค้าท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรธรรมชาติจากประเทศไทย ไปเป็นปัจจัยในการผลิตให้กับกลุ่มประเทศเหล่านี้

แต่ดูเหมือนว่าบทบาทของดีทแฮล์มที่มีต่อผู้บริโภคชาวไทย มีความต่อเนื่องมากกว่า trading company อื่นๆ ที่เข้ามาในยุคเดียวกัน ซึ่งทยอยลดอิทธิพลลงตามความแข็งแรงที่เพิ่มขึ้นของพ่อค้าท้องถิ่นชาวไทย

ในทางตรงกันข้าม บทบาทของดีทแฮล์มที่มีต่อผู้บริโภคและสังคมไทยกลับยิ่งเพิ่มมากขึ้น

"ทุกวันนี้เราเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าจำนวน 18,830 รายการ และส่วนใหญ่เป็นสินค้าที่ใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของคนไทย" สมบุญ ประสิทธิจูตระกูล รองประธานอำนวยการ บริษัทดีทแฮล์มบอก

ในจำนวนสินค้าเกือบ 2 หมื่นรายการที่ดีทแฮล์มเป็นตัวแทนจำหน่าย มีตั้งแต่สินค้าขนาดใหญ่ อาทิ เครื่องจักรสำหรับใช้ในเหมืองแร่ หรือเครื่องจักรดีเซล โดยเฉพาะเครื่องยนต์ที่ติดตั้งอยู่ในเรือด่วนเจ้าพระยา ที่คนกรุงเทพฯ หลายหมื่นคนใช้สัญจรในแต่ละวัน ลงมาจนถึงเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย อาหาร ขนมขบเคี้ยว ยารักษาโรค และอุปกรณ์เครื่องใช้ภายในบ้าน รวมถึงการเป็นตัวแทนท่องเที่ยว

หากยกตัวอย่างสินค้าแยกเป็นแบรนด์ต่างๆ อาทิ ผลิตภัณฑ์ ลีวายส์ แว่นตาเลย์แบนด์ ยาสีฟันฟลูโอคารีล เซนโซดายน์ พาโรดอนแทกซ์ แปลงสีฟันจอร์แดน หมากฝรั่งเดนทีน ชิเคล็ทส์ คลอเร็ท ซอสไฮน์ น้ำปลาตราหอยนางรม โอวัลติน ซุปไก่สกัดตราแบรนด์ ถุงยางอนามัยแฟร์ และดูเร็กซ์ ฯลฯ

แบรนด์ที่กล่าวถึงเหล่านี้เป็นเพียงประมาณ 10% ของแบรนด์ต่างๆ ที่ดีทแฮล์มเป็นตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น

แต่การคงอยู่ของบทบาทของดีทแฮล์ม ก็ต้องอาศัยการผสานพลังกันของกิจการ trading company สัญชาติเดียวกันอีก 2 บริษัท คือเคลเลอร์ และซิเบอร์เฮกเนอร์ โดยเมื่อปี 2543 ได้มีการควบรวมกิจการกันระหว่างบริษัทดีทแฮล์ม กับบริษัทเอ็ดเวิร์ด เคลเลอร์ กลายเป็นบริษัทดีทแฮล์มเคลเลอร์ หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ได้ควบรวมกับบริษัทซิเบอร์เฮกเนอร์ และเปลี่ยนชื่อบริษัทแม่เป็นดีเคเอสเอช โฮลดิ้ง

แต่สำหรับในประเทศไทย ชื่อบริษัทหลักยังใช้ดีทแฮล์มอยู่ เพราะความใกล้ชิดที่มีกับคนไทยอย่างที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.