|
Brand power ยุคใหม่
โดย
อรวรรณ บัณฑิตกุล
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
การให้ความสำคัญในงานดีไซน์คือจุดขายของโมเดอร์นฟอร์ม ตลอดเวลา 25 ปีที่ผ่านมา การตอกย้ำแบรนด์ด้วยการสร้างความรู้สึกของการยอมรับและไว้เนื้อเชื่อใจ คือภาระของผู้บริหารรุ่นต่อไป
พัฒนะ อุษณาจิตต์ กรรมการผู้จัดการบริษัทโมเดอร์น ฟอร์ม วัย 45 ปี คือผู้นำคนสำคัญของยุคนี้ เขาเป็นลูกหม้อ เก่าแก่ และเป็นน้องชายคนเล็กของเจริญ อุษณาจิตต์ ผู้บริหาร และผู้ก่อตั้งคนหนึ่งของบริษัท
เป็นอีกคนหนึ่งที่มีดีกรีด้านการตลาด โดยจบจาก มหาวิทยาลัยเนวาดา สหรัฐอเมริกา และที่โชคดีมากคือในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เขามีโอกาสได้เรียนรู้จุดเด่นของผู้ก่อตั้ง บริษัททั้ง 5 คน
"การมองโอกาสได้ขาด การเติมยอดของธุรกิจในจังหวะที่เหมาะเจาะ ผมเรียนรู้จากคุณทักษะ ผมเรียนรู้การปรับตัวเอง การยอมรับถึงจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองจากคุณชัชชัย ส่วนคุณเจริญนี่สุดยอดของกลยุทธ์การวางแผน การบริหารคน คุณโยธินได้เรียนรู้เรื่องความละเอียดถี่ถ้วน การสร้างคอนเนกชั่น ส่วนคุณสมศักดิ์เด่นมากในเรื่องการขาย การเจรจาต่อรอง" พัฒนะอธิบาย
กลับจากเมืองนอก เขาได้ไปทำงานที่บริษัทโอกิลวี่ แอนด์ เมเธอร์ ประมาณ 9 ปี ก่อนที่จะมาช่วยพี่ชายที่โมเดอร์นฟอร์ม กรุ๊ป เมื่อปี 2534 ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายการตลาดของบริษัทคลาสเฟอร์นิเจอร์ และดูแลบริษัทใหม่ที่เพิ่งก่อตั้งคือคาซาเบลลา ซึ่งเป็นบริษัทที่นำเข้าสินค้าจากประเทศอิตาลี
หลังจากบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ พัฒนะเป็นผู้ดูมาร์เก็ตติ้งทั้งหมดของทุกแบรนด์ในกลุ่มโมเดอร์นฟอร์ม จนกระทั่งมีการปรับโครงสร้างบริษัทใหม่อีกครั้งหนึ่งช่วงเกิดวิกฤติ คราวนี้เขาต้องกลับไปดูการตลาดในส่วนของโมเฟล็กซ์ออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์อย่างเดียว ซึ่งการทำงานแต่ละบริษัทจะแยกกันทำ เพื่อโฟกัสกลุ่มที่ชัดเจนขึ้นไม่มีศูนย์กลางเหมือนเดิม
ช่วงวิกฤติผ่านพ้นไป ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการบริหารดูแลการทำงานทั้งหมด
ความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักตลอด 25 ปีที่ผ่านมา คือฐานอันแข็งแกร่งของคนรุ่นใหม่ที่ต้องต่อยอดสร้างการยอมรับให้เกิดขึ้นในใจของลูกค้าให้ได้
รวมทั้งพยายามลงลึกในรายละเอียดของการเก็บข้อมูล เพื่อการออกแบบสินค้าให้ตรงใจผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
ตัวเลขจากบริษัทซีบี ริชาร์ด เอลลิส และโจนส์ แลง ลาซาลล์ ที่ระบุว่าปัจจุบันอาคารสำนักงานในกรุงเทพฯ ยังมีพื้นที่ว่างรวมประมาณ 1.2 ล้านตารางเมตร ดังนั้นในปีหน้าตลาดของออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์ยังเป็นเค้กชิ้นใหญ่ของกลุ่มบริษัทนี้โดยในปี 2547 สัดส่วนรายได้ของเฟอร์นิเจอร์สำนักงานจะอยู่ที่ 30% รองลงมาเป็น เฟอร์นิเจอร์ครัว 25-30%
ออฟฟิศเฟอร์นิเจอร์มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเริ่มจากโต๊ะสี่เหลี่ยมธรรมดาเรียงกันเป็นแถว ผู้จัดการนั่งหลัง ทีมงานนั่งหน้า ต่อมาเป็นออฟฟิศที่ต้องใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เริ่มมี partition เข้ามากั้นเป็นสัดส่วน ผู้จัดการ ก็อยู่ในส่วนที่กั้นไว้พนักงานก็อยู่ด้านนอก
พุทธิวัฒน์ วิบูลเสถียร จากฝ่ายพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ โมเดอร์นฟอร์ม ให้ความเห็นเกี่ยวกับรูปแบบของเฟอร์นิเจอร์ ในอนาคตไว้อย่างน่าสนใจว่า จะเปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยของพฤติกรรม ตามรูปแบบการทำงานที่ต้องการความคล่องตัวสูง ทำงานเป็นทีมเวิร์กมากขึ้น การทำงานไม่ได้หมายความแค่โต๊ะทำงาน แต่อาจจะเป็นโซฟา หรือมุมกาแฟ พนักงานทำงานเป็น Field Base หรือ Home Base การเข้าออฟฟิศเพื่อการประชุมเท่านั้น
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้รูปแบบของเฟอร์นิเจอร์เปลี่ยนไป มีความคล่องตัว มีขนาดเล็กลง มีโต๊ะทำงานที่ใช้ร่วมกันบางตำแหน่งอาจจะไม่ต้องมีโต๊ะประจำ ในอนาคตเฟอร์นิเจอร์ และเทคโนโลยีต่างๆ จะใช้ร่วมกัน ทำให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น
"โมเดอร์นฟอร์มไม่ได้ขายโปรดักส์เป็นตัวๆ เป็นหลัก แต่เราขายประสิทธิภาพในการทำงานในการจัดสำนักงานให้ผู้บริโภค เครื่องครัวเราก็ขายความสุขในเรื่องการทำอาหาร เฟอร์นิเจอร์ห้องนอนเราก็ขายความสุขในการนอน เราเลยต้องใช้จ่ายในเรื่อง R&D เยอะมาก เพราะเรารู้ความต้องการจริงๆ ตลอดเวลาว่าคืออะไร เป็นการทำงานล่วงหน้า หากต้องการเป็นผู้นำเทรนด์ในตลาด" พัฒนะอธิบายเพิ่มเติม
ในการออกแบบเฟอร์นิเจอร์สำนักงาน บริษัทใช้ระบบการผลิตด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศอเมริกา ผสมผสานการดีไซน์จากเทรนด์ในประเทศยุโรป โดยเทคโน โลยีบางตัวซื้อลิขสิทธิ์จากต่างชาติเข้ามาผลิตในประเทศไทยเลย
เฟอร์นิเจอร์ครัวเป็นอีกตัวหนึ่งที่มีลู่ทางที่ดี โดยอิงกับกลยุทธ์การขายที่อยู่อาศัยทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียม ขณะเดียวกันก็ยังมองไปยังตลาดใหม่ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ที่ใช้ในสถานศึกษา ตลาดท่องเที่ยว โรงแรมและรีสอร์ต
ล่าสุดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา โมเดอร์นฟอร์มเปิด บริษัทในเครือทำธุรกิจเก้าอี้เพื่อสุขภาพ Healthcare Furniture เพื่อรองรับคนที่รักสุขภาพที่มากขึ้น และมีตัวเลขการเติบโตเพิ่มมากขึ้นทุกปี
เก้าอี้เพื่อสุขภาพเป็นสายงานใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน ภายในโชว์รูมสาขาทองหล่อที่ตึกโฮมเพลส มีแบรนด์ชั้นนำจากต่างประเทศ เช่น Volker จากเยอรมนี Zigflex จากอิตาลี Paramount Bed จากญี่ปุ่น โดยใให้ผู้บริหารรุ่นใหม่ เข้ามารับผิดชอบ คือสุรเดช ใช้วิวัฒน์ ที่มีอายุเพียง 28 ปี
ปี 2549 จึงเป็นเวลาสำคัญอีกครั้งหนึ่งที่กลุ่มผู้บริหาร ชุดใหม่ต้องตอกย้ำแบรนด์ลงในใจผู้บริโภคมากขึ้น ภายใต้ การกำหนดทิศทางของ 5 ผู้ก่อตั้งที่ยังอยู่ดูแลอย่างใกล้ชิด
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|