Fast-Tracked Building

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ความพยายามผลักดันการสร้างอาคารแบบประหยัดพลังงานจากภาครัฐ เป็นโอกาสของอิฐมวลเบาที่จะมาแทนอิฐมอญ ในฐานะที่เป็นวัสดุกันการสะสมความร้อนในผนังกำแพง

อิฐมวลเบาเป็นผลพวงจากนวัตกรรมการพัฒนาของประเทศแถบยุโรปเมื่อ 80 ปีก่อน เพื่อใช้ขจัดจุดอ่อนในคุณสมบัติต่างๆ ของอิฐมอญ อันเป็นวัสดุก่อสร้างจากวิทยาการพื้นฐานของทั่วโลกที่มีปัญหาทั้งในแง่น้ำหนัก ความ เปราะบางของตัวอิฐ ความไม่คงทนในการใช้งาน การสะสม ความร้อนของเนื้ออิฐ

มีผลทดสอบข้อดีของอิฐชนิดนี้ ที่ผ่านการรับรองจากสถาบันการศึกษาหลายแห่งในไทย ที่ยืนยันถึงคุณสมบัติ พิเศษจากฟองอากาศขนาดเล็กนับล้านๆ ฟองที่กระจัด กระจายอยู่ทั่วภายในเนื้อของอิฐมวลเบา สามารถทำหน้าที่เป็นฉนวนกันการสะสมความร้อนภายในตัวผนังกำแพงที่ดีกว่าอิฐมอญราว 4-6 เท่า

ผลวิจัยจากศูนย์วิทยาศาสตร์ทางด้านอาคารของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้า ธนบุรี และมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ชี้ว่าฉนวนกันความร้อนในอิฐมวลเบา ยังช่วยลดภาระการทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศที่ติดตั้งในตัวอาคารหรือที่อยู่อาศัยได้ราว 29% เมื่อเทียบกับบ้านที่สร้างด้วยอิฐมอญ เนื่องจากฉนวนกันความร้อนในฟองอากาศมีส่วนช่วยร่นช่วงเวลาการทำความเย็นของคอมเพรซเซอร์ และช่วยลดขนาด BTU ของเครื่องปรับอากาศ ภายในอาคารบ้านเรือนลงได้

ขณะเดียวกันผลวิเคราะห์สัดส่วนการใช้พลังงานในบ้านทั่วไปที่ก่อสร้างด้วยอิฐมอญ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังระบุภาระการใช้พลังงานรวมแต่ละเดือนนั้น 70-85% มาจากระบบการปรับอากาศ

พยนต์ ศักดิ์เดชยนต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดักส์ หรือ Q-CON อธิบายเพิ่มเติมกับ "ผู้จัดการ" ว่า คุณสมบัติพิเศษในฉนวนกันความร้อนนี้สามารถใช้ได้ดีทั้งในภูมิประเทศที่มีอากาศร้อนจัดอย่างกลุ่มประเทศในตะวันออกกลาง และประเทศที่มีอากาศหนาวเย็น เช่น นิวซีแลนด์ ตามหลักการพัฒนาที่ว่าอิฐมวลเบาต้องเป็นวัสดุผนังที่ปกป้องอากาศจากภายนอก ตัวอาคาร

นอกจากคุณสมบัติดังกล่าว น้ำหนักอิฐมวลเบาที่เบา กว่าอิฐมอญ 2-3 เท่า เบากว่าคอนกรีต 4-5 เท่า ด้วยน้ำหนัก ที่เบาลงแต่มีความแข็งแกร่งในการรับแรงกระแทกที่มากกว่า ของอิฐมวลเบา ยังช่วยให้เกิดการประหยัดแบบโดยรวม ทั้งแง่โครงสร้าง ระยะเวลาการก่อสร้าง และต้นทุนค่าใช้จ่าย เนื่องจากความสะดวกรวดเร็วในการเคลื่อนย้ายที่สามารถดำเนินการพร้อมกันได้ในปริมาณมากๆ

การประหยัดจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อผู้ซื้อรู้จักเลือกใช้ชนิดของอิฐมวลเบาที่ตรงตามรูปแบบในการก่อสร้าง เนื่องจากชนิดของอิฐมวลเบาถูกแบ่งออกเป็น 2 เกรด คืออิฐมวลเบา G2 และ G4 แต่ราคาของอิฐทั้ง 2 เกรดนี้จะไม่แตกต่างกัน เนื่องจากเป็นการจัดเกรดให้ตรงตามวัตถุ ประสงค์ในการใช้

โดย G2 จะเป็นอิฐมวลที่มีน้ำหนักเบาสุดจากการที่มีจำนวนฟองอากาศมากที่สุด อิฐนี้จึงมีประสิทธิภาพสูงสุดในการกันความร้อนจากภายนอก จึงเหมาะต่อการนำมาใช้กับงานก่อผนังกำแพงบ้านเรือนหรือตัวอาคารตามสไตล์การก่อสร้างแบบคนไทย ที่เน้นการใช้โครงสร้างเสาและคานมาเป็นตัวรองรับน้ำหนักให้ตัวบ้านทั้งหลัง

ส่วน G4 เป็นตัวอิฐที่มีน้ำหนักมากกว่า จึงเหมาะที่จะใช้ในการก่อสร้างบ้านตามสไตล์ของยุโรป ซึ่งไม่นิยมการมีเสากับคานอยู่ภายในตัวบ้าน ดังนั้นผนังกำแพงจึงกลายมาเป็นตัวรองรับน้ำหนักของตัวบ้านทั้งหลังแทนเสาและคาน โดยสไตล์การก่อสร้างนี้มีให้เห็นอยู่ทั่วไปในจังหวัดภูเก็ต

สำหรับแนวโน้มการใช้วัสดุประหยัดพลังงาน กรรมการผู้จัดการ Q-CON ชี้ว่าแม้ปัจจุบันจะยังเป็นเพียงจุดเริ่มต้น แต่ก็มีแนวโน้มให้เห็นว่าสเป็กของอิฐมวลเบา น่าจะต้องมีความหลากหลายขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่เว้นกระทั่งส่วนหลังคา เพื่อใช้ในการก่อสร้างอาคารใหญ่รุ่นใหม่ๆ ที่จะเกิดใน อนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งศูนย์ราชการใหม่บนถนนแจ้งวัฒนะ

ทั้งนี้ก่อนหน้านี้ Q-CON ได้ supply อิฐมวลเบาให้กับการสร้างตึกในบางโครงการของสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งรวมถึงโรงแรมสุวรรณภูมิที่กำลังจะสร้างเสร็จแล้วด้วย

แนวโน้มดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากผลวิเคราะห์ ภาระการใช้พลังงานเชิงลึกของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่าภาระการปรับอากาศจากเครื่องทำความเย็นราว 70-80% มาจากปัญหาผนังกรอบอาคารหรือผนังภายนอกตัวบ้าน ส่วนอีก 20% เกิดจากตัวหลังคา

Q-CON เป็นบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายอิฐมวลเบาทั้งในและนอกประเทศ โดยใช้ระบบการอบไอน้ำความดันสูงตามเทคโนโลยี HEBEL จากเยอรมนี แต่ละปีมีกำลังการผลิต 12 ล้านตารางเมตร แม้จะแชร์อยู่ในตลาดใหญ่ในการค้าอิฐมวลรวมก็ตาม แต่การเข้ามาที่มากขึ้นของคู่แข่ง และโอกาสการใช้อิฐมวลเบาของตลาดในอนาคตที่มีอยู่ค่อนข้างสูง ตลอดจนการชะลอตัวลงในภาคอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้าง Q-CON จึงต้องหั่นราคาขายสินค้าลงอีก 10% เพื่อเร่งการขยายตัวในตลาด

ในปีนี้ Q-CON ยังได้ส่งคานทับหลัง และเสาเอ็นสำเร็จรูป ขนาด 7.5 เซนติเมตร ให้ตลาดทดลองใช้แทนวัสดุในรูปแบบเดิมๆ ที่ต้องเสียเวลารอการหล่อแบบและแกะแบบของผู้รับเหมา โดยข้อพิสูจน์ความรวดเร็วจากการใช้วัสดุนี้ในการก่อสร้าง พยนต์อ้างถึงผลทดสอบจากในโครงการแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ที่สามารถร่นเวลาการสร้างบ้านลงได้เดือนละ 2 หลัง ทั้งนี้ในแต่ละปีแลนด์ แอนด์เฮ้าส์จะสร้างบ้านเพื่อขายราว 3,000 หลัง

เมื่อ 7 ปีก่อน แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์เคยสร้างบ้านพิเศษ ขึ้นมา 2 หลัง โดยผนังกำแพงก่อด้วยอิฐมวลเบา เพื่อทดสอบ การลดภาระค่าไฟฟ้าจากการใช้เครื่องปรับอากาศ ก่อนแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์จะเลือกใช้อิฐมวลเบามาเป็นวัสดุหลักที่ใช้สร้างบ้านในโครงการต่างๆ


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.