วิธีจัดการต้นทุนพลังงาน

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ความพยายามที่จะนำของทุกอย่างจากกระบวนการผลิต วนกลับมาใช้ในรอบการผลิตครั้งต่อไป หรือหากมีเหลือพออาจจะแจกจ่ายต่อไปตามส่วนต่างๆ ในองค์กร เป็นวิธีการบริหารการใช้ทรัพยากรที่ EDCO ได้นำมาช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าของบริษัท

"ไม่ว่าจะของร้อน ของเย็น หรือจะเป็นขยะหลังบ้านก็เป็นเงินเป็นทองทั้งนั้น อย่าเอาไปทิ้ง แต่ต้องหาวิธีที่จะนำมันกลับมาใช้ใหม่" คือสิ่งที่วรุณมักใช้อธิบายกับลูกค้าอยู่เสมอ

ตัวอย่างของร้อนที่เป็นเงินเป็นทองของวรุณ อาจดูได้จากกรณีน้ำเดือดที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียส จากโรงงานผลิตนมสวนจิตรลดา ซึ่งอดีตต้องถูกปล่อยทิ้งอย่างน่าเสียดาย หลังผ่านกระบวนการผลิตรอบแรกแล้ว และก่อนการผลิตนมในรอบต่อไปจะเริ่มขึ้น การต้มน้ำครั้งใหม่ก็จะเกิดตามมา ไม่เพียงแต่เสียเวลา แต่ยังต้องใช้ไฟฟ้า น้ำประปาเพิ่มอีก

เพื่อช่วยหาทางออกหลังเข้าตรวจสอบโรงงานแห่งนี้แล้ว วรุณจึงเสนอให้ใช้เทคนิคการนำน้ำเดือดเหล่านี้ ไปวนผ่านเหล็กที่มีสารบังความร้อนซึ่งสามารถทำให้น้ำเหล่านั้นเย็นตัวลง ก่อนจะนำหมุนกลับมาใช้ต้มเป็นน้ำเดือดรอบใหม่เพื่อส่งเข้าสู่กระบวนการผลิตของโรงงาน

ส่วนของเย็น เช่นเครื่องปรับอากาศในห้างสรรพสินค้า การติดตั้งประตู 2 ชั้น เพื่อกันความเย็นไหลออกหรือความร้อนไหลเข้านั้น อาจพอช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้าง

แต่ต้องแก้คือปัญหาโครงสร้างระบบทำความเย็น ที่ถูกออกแบบเผื่อไว้รองรับคนจำนวนมากๆ นั้น ไม่เพียงจะให้อุณหภูมิที่เย็นเกินไปในเวลาที่มีคนไม่มาก แต่ยังทำให้เกิดความไม่สัมพันธ์กันในการทำงานระหว่างเครื่องปรับอากาศ และระบบระบายอากาศที่ใช้ปรับค่าออกซิเจนตามปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยมาจากร่างกายคน

ผลลัพธ์ที่ได้ คือระบบถูกกำหนดค่าออกซิเจนไม่อาจปรับค่าขึ้นลงเองได้ตามจำนวนคนในแต่ละช่วง คือการทำงานที่หนักเท่าเดิมในการระบายอากาศ แต่เครื่องปรับอากาศต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อเพิ่มความเย็น และไล่ความชื้นจากการปล่อยออกซิเจนในการระบายอากาศ แม้คนในห้างอาจมีไม่มากเท่ากับค่าที่ตั้งไว้

การแก้ปัญหาความไม่สัมพันธ์กันนี้ จึงต้องใช้วิธีประสมประสานระหว่างเทคโนโลยีจากเครื่องตรวจวัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ตามจำนวนคนที่ปล่อยออกมาจริง และวิธีเปิดปิดเครื่องปรับตามความเปลี่ยนแปลงในระดับคาร์บอนไดออกไซด์ที่เครื่องตรวจวัดอ่านค่าออกมาได้

เช่นเดียวกับบันไดเลื่อนในห้าง เช่น เทสโก้ โลตัสที่ต้องได้รับการติดตัวควบคุมความเร็วการหมุนของมอเตอร์สายพาน เข้ามาช่วยเสริมประสิทธิภาพการประหยัดค่าไฟจากการทำให้บันไดเลื่อนเหล่านี้ สามารถทำงานได้สอดคล้องตามน้ำหนักที่ต้องแบกรับจริงจากการขึ้นลงของลูกค้า ซึ่งอาจมีมากน้อยไม่เท่ากันในแต่ละช่วง

สำหรับของที่มีกลิ่นเหม็น เช่น ก๊าซมีเทนจากกระบวน การอบมันสำปะหลัง ระบบเปิดบนลานอบของโรงงานย่านบางปะกง ซึ่งเป็นหนึ่งในลูกค้าที่ EDCO ได้ให้คำแนะนำปรึกษาการเปลี่ยนกระบวนการหมักมาสู่ระบบปิด

ส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหากลิ่นเหม็นที่รบกวนชาวบ้านบริเวณใกล้เคียง อีกส่วนเพื่อเติมเชื้อเพิ่มในกระบวนการอบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณของก๊าซมีเทน ที่จะใช้ส่งต่อไปตามท่อสู่โรงแป้งหมัก เพื่อนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมันเตาทั้ง 100% ในการต้มน้ำเพื่อใช้แช่และลอกเปลือกมันสำปะหลังก่อนที่จะถูกส่งต่อไปยังกระบวนการผลิตเป็นแป้งมันในโรงงาน

จากการเปลี่ยนกระบวนการหมักมาสู่ระบบปิด ยังช่วยให้มีก๊าซมีเทนเหลือมากพอ เพราะหลังส่งต่อไปยังโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าขนาดเล็กที่สร้างขึ้นเองภายใน เพื่อนำไปใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าแจกจ่ายต่อไปยังตัวสำนักงานแล้ว ปริมาณก๊าซมีเทน ก็ยังมีเหลืออยู่ และหากอนาคตโรงงานนี้คิดจะขายไฟฟ้าเข้าระบบเพื่อหารายได้เพิ่มอีกทาง อาจต้องใช้เงินลงทุนสร้างบ่อบำบัดอีกราว 30-40 ล้านบาท แต่สามารถใช้งานต่อไปนับเป็น 10 ปี และวรุณยังยืนยันว่า pay back การลงทุนสำหรับกรณีนี้จะอยู่ที่ 2 ปี


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.