ทางเลือกในยุคค่าไฟแพง

โดย สุจินดา มหสุภาชัย
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

คำถามในใจของนักบริหารทุกคนขณะนี้คือ จะบริหารต้นทุนของกิจการอย่างไรในภาวะที่ราคาพลังงานถีบตัวสูงขึ้น และยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงในระยะเวลาอันใกล้ การหาทางเลือกที่จะอยู่รอดท่ามกลางต้นทุนพลังงานที่แพงขึ้น จึงเป็นเรื่องที่จำเป็น

บริษัทที่ปรึกษาอนุรักษ์พลังงาน ที่เมื่อก่อนหน้านี้อาจยังไม่เป็นที่รู้จักในวงกว้าง บ่อยครั้งการขายไอเดียการลงทุนบริหารประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ไม่เป็นที่ดึงดูดใจผู้บริหารกิจการที่อาจคุ้นเคยกับผลตอบแทนการลงทุนรูปตัวเงินที่จับต้องได้มากกว่าหน่วยที่ลดลงในบิลค่าไฟ

แต่ในปีนี้ วรุณ อัตถากร กรรมการผู้จัดการใหญ่ EDCO บริษัทที่ปรึกษาด้านอนุรักษ์พลังงาน กลับได้รับเชิญจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้เข้าบรรยายคอนเซ็ปต์การอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสร้างความรู้เข้าใจแก่บรรดาผู้บริหารของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดฯ

"มีคนเยอะเลยที่ไม่คิดว่าจะมีบริษัทอย่างพวกเราในเมืองไทย พอได้เจอเข้า พวกเขาก็งง แล้วก็บอกว่าเขาหาบริษัทแบบเรามานานแล้ว" วรุณเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง

จากท่าทีของรัฐบาลในการเข้ามาจัดการปัญหา โดยประกาศมาตรการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลที่เกิดจากการประหยัดพลังงานมาเป็นแรงจูงใจกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ และการปรับตัวเพิ่มต่อเนื่องของราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งในระยะต่อไปจะส่งผลถึงต้นทุนการผลิตพลังงานด้านอื่นๆ ในประเทศ อย่างเช่นไฟฟ้า

ความที่เริ่มตระหนักถึงพิษภัยธรรมชาติจากราคาพลังงาน อันเป็นต้นทุนผันแปรสัดส่วนที่ใหญ่โตอย่างที่สุดในกิจการ ผู้เป็นเจ้าของย่อมต้องเร่งหาวิธีควบคุมจัดการให้ดี เพื่อลดต้นทุนค่าใช้จ่าย และรักษาระดับรายได้ไม่ให้ตกต่ำเกินกว่าที่ควรจะเป็น หลายรายจึงหันมาพึ่งพาที่ปรึกษาฯ ให้เข้ามาช่วยจัดวางระบบบริหารจัดการการใช้พลังงานในองค์กร เพื่อรับมือกับอนาคตที่ไม่แน่นอนของราคาพลังงาน ทั้งในและนอกประเทศ

ภาพดังกล่าวทำให้วรุณเชื่อว่า บริษัทที่ปรึกษาฯ จะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น และธุรกิจในกลุ่มนี้น่าจะมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

"ผมว่าช่วงนี้เป็นโอกาสที่ดี แต่เราคงจะเดินคู่ไปกับลูกค้ากลุ่มเดิมๆ มากกว่าจะหาลูกค้ากลุ่มใหม่เข้ามา เพราะ หลายรายกำลังจะเปิดโรงงานใหม่ ตอนนี้เราไม่เน้นปริมาณแต่อยากเน้นคุณภาพมากกว่า" วรุณกล่าว

หากย้อนหลังไปก่อนหน้านี้ ยุคที่เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู การแข่งขันในตลาดกำลังทวีความรุนแรง ความใส่ใจในการลดต้นทุนด้านพลังงานของเอกชนรายใหญ่ไม่ค่อยมีให้เห็น

"ใหม่ๆ เราไปพูดเรื่องประหยัดพลังงานกับใครเขาก็ไม่เข้าใจ และไม่เห็นว่ามีอะไรที่ต้องทำกับเรื่องพลังงาน ตอนนั้นการลงทุนโครงการใหม่ๆ เพื่อให้ได้ยอดขายเพิ่ม มันย่อมต้องเร้าใจกว่าการลงทุนประหยัดพลังงานที่ช่วยเขาประหยัดค่าไฟได้ในแต่ละเดือ น" กรรมการผู้จัดการ EDCO ให้ภาพการเข้ามาจับธุรกิจนี้เมื่อ 6 ปีก่อน

ทั้งนี้ EDCO เป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านพลังงานที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานพัฒนาพลังงานและพลังงานทดแทน กระทรวงพลังงาน เมื่อปี 2542 โดยมีทุนจดทะเบียนเริ่มต้นที่ 30 ล้านบาท ปัจจุบันมีฐานลูกค้ากว่า 100 ราย กระจายตัวอยู่ในอุตสาหกรรมการผลิตและบริการ โดยหนึ่งในนั้นคือสนามบินนานาชาติภูเก็ต ซึ่งเป็นลูกค้าที่ภาคภูมิใจของบริษัท

ปัจจุบันบริษัทที่ปรึกษาฯ รายนี้ มีสินค้าที่พัฒนาขึ้นได้เองเพียง 1 ชนิด คือซอฟต์แวร์ DMS เพื่อใช้บริหารค่าความต้องการพลังงานไฟฟ้าแบบ real time นอกเหนือจาก สินค้าตัวอื่นๆ ที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบมาประกอบในประเทศ สูงถึง 90% โดยสินค้าทุกตัวจะได้รับประกันการประหยัดพลังงานในระดับเริ่มตั้งแต่ 10% จนถึง 40% ตามชนิดของตัวสินค้า

"ลูกค้าเราหลายรายยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มีหลายรายที่เข้าใจคอนเซ็ปต์มากขึ้น หรือพอใจกับผลที่ได้รับก็เริ่มจ้างให้เราเป็น outsource ทำงานรายเดือน ซึ่งนี่ก็เป็นอีก sector หนึ่งที่เรียกว่า real sector energy management แต่ยังมีกลุ่มธุรกิจ property ที่อยู่ระหว่างหารือให้เราทำหน้าที่เป็น technical team เข้าตรวจสอบประเมินต้นทุนการใช้พลังงานของโครงการที่เขากำลังจะซื้อ"

สำหรับแนวทางการทำธุรกิจ EDCO จะเสนอการให้ บริการที่ปรึกษาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในแบบ total solution เช่นการใช้อุปกรณ์ตรวจวัดระดับความร้อนที่เกิดจากการรั่วไหลของการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินจำเป็นในแต่ละจุด, การติดตั้งอุปกรณ์เสริมควบคุมการจ่ายไฟฟ้าในตัวอาคาร เนื่องจากการวางระบบโครงสร้างด้านวิศวกรรม ซึ่งได้จัดวางระบบไว้อย่างใหญ่โตเผื่อการใช้งานในอนาคต หรือการปรับเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรมีเทคโน โลยีอันทันสมัยและกินไฟน้อยกว่า รวมถึงอีกหลายวิธีที่จะนำมาใช้ในการจัดการ (อ่านล้อมกรอบ)

แต่กลยุทธ์สำคัญที่ได้นำมาใช้เพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจลงทุนได้เร็วยิ่งขึ้น อยู่ที่การยื่นข้อเสนอออกเงินลงทุน ล่วงหน้าแทนลูกค้าที่อาจยังลังเลใจที่จะลงทุน เพราะยังไม่มั่นใจกับผลตอบแทนที่จะได้รับคืนในอนาคต หรือผู้ที่สนใจจริง แต่ยังมีเงินไม่มากพอที่จะลงทุน

"ที่เรายอมออกเงินให้ก่อน เพราะเราอยากให้เขาเห็น ว่า มันมี return ในรูป saving จากการประหยัดค่าไฟได้เร็วจริงๆ บางทีลงทุนแค่ 3-4 เดือนก็ได้เงินคืนแล้ว แต่ขอแค่ว่าหากมี saving เพิ่มขึ้นในแต่ละเดือน ก็ให้กันส่วนที่เพิ่ม มาคืนให้เรา" วรุณเล่าถึงเหตุผลของการใช้กลยุทธ์นี้

"คิดดูเอาเถอะ เราให้ถึงขนาดนี้แล้ว บางรายยังไม่เอาด้วยเลย เพราะไม่เชื่อว่ามันจะ save ได้จริงๆ"

ทั้งนี้ การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ผู้ลงทุนสามารถดำเนินการได้เป็นจุดๆ ตามความจำเป็นเร่งด่วน แต่หลายกรณีอาจไม่ต้องจ่ายเงินติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลง อุปกรณ์ใหม่ เนื่องจากการแก้ไขปัญหาอาจทำได้ด้วยวิธีง่ายๆ เช่นหมั่นเช็กสภาพและทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้อยู่

เมื่อปี 2535 ธนาคารโลกได้เคยประเมินถึงปริมาณน้ำมันสำรองใต้ผิวโลก จะมีเหลือให้มนุษย์สูบขึ้นมาใช้ได้ในเวลาไม่เกิน 50 ปี สำหรับประเทศไทยอาจกล่าวได้ว่าความตระหนักถึงการขาดแคลนพลังงานบนโลกได้เริ่มเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2535 เมื่อพิจารณาถึงการกำหนดวิสัยทัศน์ด้านนโยบายการอนุรักษ์พลังงานระยะยาวสมัยรัฐบาลอานันท์ ปันยารชุน

โดยรัฐบาลขณะนั้นได้ประกาศใช้มาตรการ 2 ด้านมาสนับสนุนการดำเนินนโยบาย ด้านหนึ่งคือการผลักดันพระราชบัญญัติอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2535 ออกมาใช้บังคับ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือ การตั้งกองทุนอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนขึ้นมา เพื่อจัดสรรเงินกู้ราคาถูกให้แก่ภาคธุรกิจที่ต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานในองค์กรใหม่

การดำเนินนโยบายลักษณะดังกล่าวนี้ วรุณถือว่าเป็นจุดเด่นอย่างมากของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา หรือประเทศแถบยุโรป ซึ่งรัฐบาลมักกำหนดให้มีเพียงมาตรการอย่างหนึ่ง อย่างใดมาบังคับใช้ในระหว่างมาตรการทางกฎหมายและมาตรการทางภาษี แต่ขาดเงื่อนไขให้แรงจูงใจทางการเงินในการปรับเปลี่ยนของภาคธุรกิจ

ด้วยการกำหนดแนวทางเช่นนี้เอง ทำให้วรุณเชื่อว่าน่าจะต้องเอื้อต่อการทำธุรกิจที่ปรึกษาฯ แต่ในกาลต่อมาเขากลับพบว่ามันไม่ง่ายอย่างที่เคยคิดไว้ เนื่องจากการขาดช่วงในการสนับสนุนนโยบายในรัฐบาลชุดต่อๆ มา

"ธุรกิจนี้เป็นคอนเซ็ปต์ที่ดี แต่ทำยาก เดิมทีเดียวผมคิดว่ารัฐจะเข้ามาสนับสนุน แต่จริงๆ แล้ว เราก็ต้องยืนด้วยตัวเอง ซึ่งผมก็เลือกที่จะ fight กับมัน"

คงจะเป็นจริงกับคำกล่าวที่ว่า บ่อยครั้งที่วิกฤติของคน กลุ่มหนึ่ง มักจะสร้างโอกาสให้แก่คนอีกกลุ่มหนึ่งเสมอ และ 6 ปีกับการอดทนต่อสู้เพื่ออยู่รอดในธุรกิจ และเมื่อประเด็นพลังงานกลายเป็นวาระร้อนระดับโลกขึ้นมา หนทางในการเติบโตของ EDCO จึงเริ่มมีให้เห็นตรงหน้า

เมื่อไม่นานมานี้ วรุณเพิ่งได้รับการติดต่อจากหลายประเทศในเอเชีย เช่น มาเลเซีย อินโด นีเซีย และจีน ใให้ส่งสินค้าออกไปขาย ที่นั่น แต่ด้วยความที่ยังไม่พร้อมทั้งด้านเงินทุน ฐานลูกค้าในประเทศที่ยังไม่แน่นพอ ทั้งจำนวนสินค้าที่มีจำนวนน้อยและยังต้องพัฒนาต่อยอด อีกมาก แผนออกสู่ตลาดต่างประเทศ จึงเป็นอันต้องเลื่อนออกไป จนกว่าใน อีก 5 ปีข้างหน้า เมื่อวรุณพา EDCO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.