TISCO Speciality Bank

โดย ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

การได้ใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์ ช่วยเปิดโอกาสทางธุรกิจของทิสโก้เพิ่มขึ้น นอกเหนือไปจากความแข็งแกร่งในบริการทางการเงินอื่น
ที่มีอยู่พร้อมแล้ว แต่การวางบทบาทที่จะแข่งขันในฐานะธนาคารรายใหม่ มีความสำคัญกับอนาคตของทิสโก้ไม่น้อยเลยทีเดียว

ทิสโก้ เปิดให้บริการลูกค้าภายใต้บทบาทธนาคารพาณิชย์ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังให้เปลี่ยนสถานะจากบริษัทเงินทุนขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ ต้องถือว่าเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจ สำหรับคนทิสโก้อยู่ไม่น้อย เมื่อย้อนคิดไปว่าเพิ่งไม่กี่ปีมานี้เองที่ทิสโก้ต้องฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ ครั้งใหญ่จนเกือบเอาตัวไม่รอด

อย่างไรก็ตาม การเป็นธนาคารพาณิชย์ ไม่เพียงจะนำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีความท้าทายใหม่ๆ ที่ รออยู่ด้วยเช่นกัน สถานะที่เปลี่ยนไปจากการเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในแวดวงบริษัทเงินทุนกลับกลายมาเป็นผู้เล่นรายเล็กในกลุ่มธนาคาร เล็กทั้งขนาดสินทรัพย์ จำนวนสาขาและฐานลูกค้า ยังไม่รวมถึงการรับรู้ของประชาชนในความเป็นธนาคารของทิสโก้ที่ต้องมาเริ่มสร้างกันใหม่

ปลิว มังกรกนก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทิสโก้ ตระหนักดีถึงข้อจำกัด เหล่านี้ เขายอมรับว่าทิสโก้ไม่ใช่คู่แข่งของธนาคารในปัจจุบัน

"คนมักจะถามว่าทิสโก้พอเป็นแบงก์แล้วจะไปแข่งกับแบงก์ใหญ่อย่างไร ผมก็บอกว่า ผมไม่มีความกล้าจะไปแข่ง แบงก์ปัจจุบันทำธุรกิจมาแล้ว 40-50 ปี ลงทุนกันไปเยอะแล้ว เราจะไปแข่งได้อย่างไร เพียงแต่ เราจะเอาธุรกรรมบนแพลตฟอร์มแบงก์มาช่วยธุรกิจปัจจุบันได้อย่างไร อันนั้นต่างหากที่สำคัญที่สุด" ปลิวกล่าวกับ "ผู้จัดการ"

จริงๆ แล้วแนวความคิดธนาคารครบวงจรหรือ Universal Banking ที่หลายธนาคารกำลังเร่งจะทำให้ได้นั้นเป็นสิ่งที่ทิสโก้ ทำมาก่อนแล้ว เพียงแต่ในเวลานั้นยังขาดธนาคาร ซึ่งเป็นแกนกลางสำคัญของคอนเซ็ปต์นี้ แต่นับจากนี้ไปทิสโก้ก็สามารถที่จะให้บริการได้อย่างครบวงจรมากขึ้น

ปลิวมองว่า การแข่งขันภายใต้แนวความคิดธนาคารครบวงจรนั้น ทิสโก้มีทั้งข้อได้เปรียบและเสียเปรียบ สิ่งที่ได้เปรียบก็คือ ประสบการณ์ในฐานะที่ทำมาก่อนแล้ว ธุรกิจของทิสโก้ล้วนประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับจากแวดวงการเงินเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นเช่าซื้อ ซึ่งปัจจุบันมียอดเกือบ 4 หมื่นล้านบาท ธุรกิจหลักทรัพย์ของทิสโก้ก็มีชื่อเสียงและได้รับรางวัลจากการจัดอันดับทั้งในและต่างประเทศแทบทุกปี แม้แต่ธุรกิจจัดการกองทุนรวมก็เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ทิสโก้ยังไม่สามารถสู้กับธนาคารอื่นได้เลยก็คือ ขนาดของธุรกิจและ ช่องทางในการเข้าถึงลูกค้า (distribution) ซึ่งปลิวมองว่า สิ่งนี้เป็นแอสเซ็ทที่สำคัญของธนาคาร ไทย เพราะการที่แนวความคิดธนาคารครบวงจรจะประสบความสำเร็จได้นั้น ธนาคารจะต้องมีบริการทางการเงินเสนอให้กับลูกค้าได้หลากหลาย รวมทั้งยังจะต้องมีเครือข่ายสาขาเพื่อให้สามารถเจาะเข้าถึงฐานลูกค้าในวงกว้างอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้เอง ทิศทางของธนาคารทิสโก้จึงจะมุ่งไปในธุรกิจที่มีความชำนาญอยู่แล้ว ทั้งการทำเช่าซื้อ ลีสซิ่ง ธุรกิจหลักทรัพย์ การจัดการกองทุนรวมและการปล่อยสินเชื่อ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีสิ่งใดที่ผิดแผกออกไปจากเมื่อครั้งยังเป็นบริษัทเงินทุน เพียงแต่เป้าหมายแรก ที่ผู้บริหารทิสโก้คาดหวังจะให้เกิดขึ้นก็คือความสามารถในการให้บริการลูกค้าเดิมควรจะดีและ สะดวกขึ้น จากการที่สามารถเพิ่มธุรกรรมบางอย่างของธนาคารเข้ามา เช่น บัญชีกระแสรายวัน การรับ-ออกเช็ค ขณะเดียวกันต้นทุนการทำธุรกรรมของทิสโก้ก็ลดต่ำลง เนื่องจากเดิมการเคลียร์เงินของลูกค้าต้องทำผ่านธนาคารอื่น แต่เมื่อทิสโก้เป็นธนาคารแล้วก็สามารถทำได้เอง นอกจากนี้การเป็นธนาคารยังช่วยให้ทิสโก้สามารถขยายฐานลูกค้าได้กว้างขึ้นและเปิดสาขาได้สะดวกขึ้น

"ทิสโก้เลือกทำอย่างนี้ ฟังดูอาจจะนึก ว่าโก้เก๋ แต่เป็นเพราะ we have no choice เพราะเรามีทรัพยากรแค่นี้ ธุรกิจแบงก์เป็นธุรกิจน้ำบ่อทราย เป็นเรื่องระยะยาว ถึงมีเงินหมื่นล้านมาทุ่มลงไปวันนี้จะให้เกิดผลออกมาภายในปีหน้ามันเป็นไปไม่ได้"

ปลิววิเคราะห์ว่า ปัจจัยสำคัญของธุรกิจธนาคารและเงินทุนมี 3 ประการด้วยกัน ข้อแรกคือ การควบคุมให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (spread) อยู่ในระดับที่สามารถทำธุรกิจ และแข่งขันได้ ปัจจัยถัดมาได้แก่ การควบคุม ต้นทุนในการดำเนินงาน และสุดท้ายคือ การ บริหารความเสี่ยง ซึ่งประการสุดท้ายนี้เขามั่นใจว่า ทิสโก้มีระบบบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุดในระบบธนาคารไทยในปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดตามมาจากการเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ รอบที่ผ่านมานี้เอง โดยในขณะนี้ทิสโก้สามารถ มอนิเตอร์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้ในทุกบริษัทในเครือ ทำให้สามารถจัดสรรเงินทุนสำรองหรือปรับเปลี่ยนนโยบายให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ถึงแม้ทิสโก้จะมีฐานลูกค้าในเครือทั้งหมดอยู่ราว 4 แสนราย แต่จำนวนดังกล่าวก็ถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับธนาคารอื่น การสร้างความน่าเชื่อถือให้กับกลุ่มทิสโก้ด้วยการสื่อสารกับลูกค้าและสาธารณชนให้รับรู้ถึงการยกระดับขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ รวมไปถึงการสร้างแบรนด์จึงเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ทิสโก้กำลังเร่งทำ ซึ่งเป้าหมายที่หวังเอาไว้ไม่เพียงแค่ให้รับรู้ถึงการเป็นธนาคารเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างอีกด้วย

ความแตกต่างของธนาคารทิสโก้จุดหนึ่งที่ปรากฏเป็นรูปธรรมก็คือ บัญชีกระแสรายวันที่มีดอกเบี้ย ซึ่งปัจจุบันทิสโก้จ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตรา 1.25%

"ผมคิดว่าทิสโก้เป็นแบงก์แรกที่ให้ดอกเบี้ยในบัญชีประเภทนี้ เราได้เงินฝากเข้ามาเยอะเลย แล้วต้นทุนของเราก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นด้วย เพราะตอนที่เราเป็นบริษัทเงินทุนเราก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราเท่านี้อยู่แล้ว พอมาเป็นแบงก์เราก็เปลี่ยนโปรดักท์เท่านั้นเอง ลูกค้าก็ชอบมาก" ปลิวกล่าว

นอกจากการสร้างแบรนด์ให้กับธนาคารแล้ว ทิสโก้ยังมีการสร้างแบรนด์ของทั้งกลุ่มเพื่อให้เกิดการรับรู้และมีภาพลักษณ์ไปในทิศทางเดียวกันด้วย

ถึงแม้จะเพิ่งเริ่มดำเนินงานในสถานะของการเป็นธนาคาร แต่วันนี้ปลิวเริ่มมองไปข้างหน้าแล้วว่า ทิสโก้ในอนาคตจะดำเนินธุรกิจอย่างไรต่อไป เมื่อการเปิดเสรีธุรกิจบริการทางการ เงินเริ่มมีผลอย่างจริงจัง ซึ่งนั่นหมายถึงการรุกเข้ามาของสถาบันการเงินจากต่างประเทศที่มีความได้เปรียบกว่าทั้งทางด้านเงินทุน โนว์ฮาว และเทคโนโลยี

ถึงแม้ตอนนี้เขาจะยังไม่สามารถหาคำตอบที่ชัดเจนได้ แต่เขาเชื่อว่าสิ่งแรกที่ต้องเตรียมตั้งแต่วันนี้ก็คือ การปรับโครงสร้างองค์กรให้ยืดหยุ่นต่อการดำเนินงานในอนาคตด้วยการตั้งบริษัทโฮลดิ้งของกลุ่มทิสโก้ โดยตามแผนงานที่วางไว้จะใช้บริษัท ไทยเพิ่มทรัพย์ จำกัด ที่เป็นบริษัทในเครือมาตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้งและให้ถือหุ้นโดยตรงในธนาคารและบริษัทอื่นในกลุ่ม

ซึ่งตามโครงสร้างนี้หากในอนาคตบริษัทในกลุ่มทิสโก้แห่งใดมีความจำเป็นต้องไปร่วมทุนหรือควบรวมกิจการกับสถาบันการเงินอื่นก็จะไม่กระทบกับบริษัทอื่น ทำให้มีความคล่องตัว ในการดำเนินงานมากขึ้น โดยคาดว่าจะใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปีกว่าจะแล้วเสร็จ

ที่มาของแนวความคิดนี้ก็เป็นผลพวงมาจากเมื่อครั้งวิกฤติเศรษฐกิจเช่นกัน ประสบการณ์ ที่ปลิวออกไปเจรจาหาเม็ดเงินมาเพิ่มทุนในทิสโก้ครั้งนั้นทำให้ได้รู้ว่า มีบางสถาบันการเงินที่ปฏิเสธการเข้าถือหุ้นทิสโก้ทั้งที่สนใจในธุรกิจเงินทุน แต่เนื่องจากไม่ต้องการธุรกิจหลักทรัพย์ และมีบางรายที่ต้องการธุรกิจหลักทรัพย์แต่ไม่สนใจธุรกิจเงินทุน การปรับโครงสร้างให้เป็นโฮลดิ้งจึงเอื้อต่อแนวทางการทำธุรกิจในอนาคตมากที่สุด


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.