ฝ่ามรสุม "Super Brand Mall"


นิตยสารผู้จัดการ( ธันวาคม 2545)



กลับสู่หน้าหลัก

"ผมทำอะไรสำเร็จไม่เคยดีใจเกิน 1 วัน ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์เปิดใจกับบรรดานักข่าว หลังพิธีเปิดอันยิ่งใหญ่ของศูนย์การค้าใหญ่ครบวงจรมูลค่า 2 หมื่นล้านบาท "ซูเปอร์แบรนด์มอลล์" ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

เขาบอกว่าการก่อสร้างศูนย์การค้าขนาดใหญ่ในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจโลกนั้นว่ายากนักหนาแล้ว แต่เมื่อมองไปข้างหน้างานที่จะทำต่อไปยิ่งยากกว่าหลายเท่านัก งานที่ว่าก็คือการดึงลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการในโครงการให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกันก็ต้องคิดต่อว่าจะรักษาลูกค้าไว้ได้อย่างไร เขาหวังไว้ว่าอย่างแย่ที่สุดก็คือขาดทุนไปก่อน 3 ปี กำไรอีก 3 ปี ก็พอดีถึงจุดคุ้มทุน

ตลอดระยะเวลา 23 ปี ที่ลอดลายมังกรเข้าไปในประเทศจีน ธุรกิจของ ซี.พี. ส่วนใหญ่จะเน้นหนักไปในเรื่องการเกษตร เลี้ยงสัตว์ อุตสาหกรรม และธุรกิจค้าปลีก "โลตัสซูเปอร์มาร์เก็ต" ที่ขยายไปถึง 9 สาขา ในเมืองเซี่ยงไฮ้ ดังนั้นการบริหารศูนย์การค้าขนาด 240,000 ตารางเมตรนั้น จึงเป็นเรื่องใหม่ที่ค่อนข้างท้าทายความสามารถกลุ่มนี้อย่างมากๆ เหมือนกัน

ธนินท์สรุปให้ฟังว่าการทำธุรกิจใหญ่ๆ นั้นไม่ได้หมายถึงความสบายจะตามมาเป็นผลลัพธ์อย่างเดียว เพราะบางครั้งหากมีปัญหาเกิดขึ้นมาความรวดเร็วหรือความฉลาดก็ยังไม่สามารถแก้ได้ หากปัญหานั้นไปเกี่ยวข้องกับสังคมหรือไปเกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ

เมื่อเป็นการทำธุรกิจที่ค่อนข้าง "ระวัง" จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า หลังจากพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเพียงไม่กี่วัน นักข่าวบางคน กลับมาไม่ทันหายเหนื่อย สกู๊ปข่าวบางชิ้นเกี่ยวกับโครงการนี้ยังไม่ทันได้ลงมือเขียน ก็ปรากฎข่าวใหญ่ว่าธนินท์ได้ขายโครงการซูเปอร์แบรนด์มอลล์ ให้กับนักลงทุนในจีนไปเสียแล้ว แม้ทาง ซี.พี.จะออกมาปฏิเสธในตอนนั้นว่ายังไม่ได้ขาย แต่ก็ยอมรับว่ามีนักลงทุนหลายรายสนใจที่จะซื้อจริง และยังมีข่าวอีกหลายกระแสสอดรับว่าหากได้ราคาดีก็ไม่แน่เหมือนกันที่กลุ่มนี้จะยอมขายโครงการนี้ออกไป หากเรื่องนี้เป็นจริงก็เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่า วิธีคิดของเจ้าสัวคนนี้ได้เปลี่ยนไปแล้ว ธุรกิจที่สร้างมากับมือไม่จำเป็นต้องกอดกำไว้กับตัวจนตายอีกต่อไป เมื่อสิ่งที่เขาสร้างมา สร้างมูลค่าเพิ่มให้เขาอย่างรวดเร็ว เขาก็พร้อมที่จะขายทันทีเหมือนกัน

แม้จะเป็นวิถีของการทำธุรกิจที่ปลอดภัยที่สุด แต่ก็ต้องยอมรับว่าอีกแง่มุมหนึ่งนั้น ภาพของ ซี.พี.ได้กลายเป็นนักปั่นราคาที่ยิ่งใหญ่ไปแล้ว เพราะแน่นอนเม็ดเงินที่ได้มานั้นย่อมคุ้มค่ากว่าการรอคอยอย่างต่ำๆ เป็นเวลา 7 ปีเป็นแน่

ส่วนโครงการ "ซูเปอร์แบรนด์มอลล์" ก็ไม่ใช่โครงการเล็กๆ ทุกอย่างที่เขาสร้างยี่ห้อ ซี.พี.รับประกันได้ ดังนั้นไม่ว่าธนินท์จะตัดสินใจขายโครงการนี้ไปแล้วหรือไม่ก็ตาม "เนื้อแท้" ของโครงการนี้ก็ยังคงดำรงอยู่

ซูเปอร์แบรนด์มอลล์ ตั้งอยู่ในทำเลทองบนที่ดิน 20 ไร่ ที่ ลู่เจียจุ่ย ในเขตผู่ตง ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางการเงินและการค้าที่สำคัญของเมืองเซี่ยงไฮ้ อยู่ใกล้กับหอโทรทัศน์ โอเรียนทัล เพิร์ล ทีวี ทาวเวอร์ (Oriental Pearl TV Tower) และอาคารจิงเม่า ตึกสูงที่สุดของเมือง และไม่ไกลกันนักกับแม่น้ำ "หวงผู่" ที่สามารถมองออกไปเห็นฝั่ง "เดอะบันด์" (The Bund) ในเขตธุรกิจเก่าของเซี่ยงไฮ้ได้ถนัดตา

ตัวศูนย์การค้าประกอบไปด้วยอาคารสูง 10 ชั้น และชั้นใต้ดิน 3 ชั้น มีที่จอดรถ 1,200 คัน โดยตัวอาคารออกแบบโดยสถาปนิกที่มีชื่อเสียงจากสหรัฐอเมริกา คือ Jerde Partnership inc. พื้นที่ประมาณ 2.4 แสนตารางเมตรนั้น หากเทียบกับโครงการศูนย์การค้าในบ้านเราก็ไม่ได้น่าตื่นเต้นเท่าไรนัก เพราะมีขนาดพอๆ กับโครงการเดอะมอลล์บางกะปิ เดอะมอลล์บางแค ในขณะที่โครงการเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ซีคอนสแควร์ หรือโครงการฟิวเจอร์ พาร์ค รังสิต ก็มีพื้นที่มากถึง 400,000 ตารางเมตร

แต่จุดแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่เป็นศูนย์การค้าใหญ่ใจกลางเมือง เซี่ยงไฮ้ ที่มีจำนวนประชากรมากถึง 16 ล้านคนและยังเป็นเมืองที่ประชาชน ของเขาพากันเข้ามาท่องเที่ยวเยี่ยมชมอีกปีละเป็นจำนวนมหาศาล ในขณะที่กรุงเทพฯ มีประชากรประมาณ 6 ล้านคนเท่านั้น ซี.พี.จึงมั่นใจอย่างมากว่าจำนวนผู้คนที่จะเข้ามาในศูนย์การค้าแห่งนี้ประมาณ 8 หมื่น ถึงแสนคนต่อวัน

กลยุทธ์ที่สำคัญของศูนย์การค้าแห่งนี้ คือการจัดวางโพสิชั่นนิ่งให้เป็นศูนย์การค้าสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกระดับชั้น และทุกระดับราคา เพื่อให้เกิดการไหลเวียนของผู้คนมากที่สุด โดยวางหมากให้โลตัส ซูเปอร์มาร์เก็ต ธุรกิจค้าปลีกในเครือเป็นตัวดึงดูดลูกค้าที่สำคัญโดยยึดหัวหาดในพื้นที่ 2 หมื่นตารางเมตร บริเวณชั้นใต้ดิน 2 ชั้น คนมีรายได้น้อยอาจจะหาซื้อเสื้อผ้าในราคาตัวละ 60-70 หยวน ในโลตัส (1 หยวนประมาณ 5 บาทกว่าๆ) แต่หากซื้อเสื้อผ้าแบรนด์เนมราคาตัวละหลายร้อยหยวน ก็สามารถหาซื้อได้ในร้านสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังจากทั่วทุกมุมโลกที่บริเวณชั้น 1 ชั้น 3 ชั้น 4 เป็น Life & Family ชั้น 5 เป็นศูนย์อาหาร ประเภท Side Walk ซึ่งหากไม่ชอบบรรยากาศที่จอแจ ก็สามารถไปทานอาหารแบบเซี่ยงไฮ้แท้ในภัตตาคาร "หลานยี่ป๋าง" ที่โด่งดัง และเพิ่งมาเปิดสาขาที่นี่ หรือหากอยากจะทานเชสเตอร์กิลล์ พิซซ่าฮัท แมคโดนัลด์ แม้แต่ร้านกาแฟดังสตาร์บัคส์ก็มีให้เลือก และเครือ ซี.พี.เองก็ได้มาเปิดร้านอาหาร "ไทย ไทย" ที่มีทีเด็ดของต้มยำกุ้งและไข่เจียวที่อร่อยจนคนจีนยุคใหม่ทิ้งตะเกียบที่บ้านมายืนเข้าคิวต่อแถวรอซื้อกันยาวเหยียดในวันเปิดร้าน

บนชั้นนี้ยังมี "ไทย ฟู้ด มาร์ท" ซูเปอร์มาร์เก็ตศูนย์รวมสินค้าผลิตภัณฑ์ ประเภทอาหารและผลไม้ไทยแปรรูป ในพื้นที่ 500 ตารางเมตร ซึ่งนอกจากจะเป็นร้านค้าปลีกแล้ว ยังเป็นเสมือนห้องแสดงตัวอย่างสินค้าที่มาจากประเทศไทย แก่บรรดาผู้ค้าส่งของจีนอีกด้วย

บนชั้น 8 ยังมีศูนย์รวมความบันเทิงขนาดใหญ่ เช่น โรงหนังระบบดิจิตอล คาราโอเกะ อินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ส่วนชั้น 9 มีแกรนด์คอนเวนชั่นฮอลล์ขนาดใหญ่สำหรับจัดนิทรรศการ หรือแสดงสินค้าต่างๆ ศูนย์รวมความบันเทิง ฟู้ดเซ็นเตอร์ และโลตัส เป็นเสมือนแม่เหล็กที่ผู้บริหารหวังไว้ว่าจะคอยดึงดูดผู้คนและสามารถขยายฐานออกไปอย่างต่อเนื่อง

สมคิด ตันทัดวาณิชย์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทเซี่ยงไฮ้ คิงฮิลล์ จำกัด ผู้รับผิดชอบบริหารศูนย์การค้าแห่งนี้ได้ประเมินรายได้ไว้ว่าในพื้นที่ขายจริงประมาณ 120,000 ตารางเมตรนั้น ใน 3 ปีแรก น่าจะได้ค่าเช่าประมาณ 40 ล้านเหรียญสหรัฐ สัญญาเช่าเฉลี่ยระยะเวลาประมาณ 3 ปี คิดค่าเช่าคงที่ต่อเดือนต่อ ตร.ม. และแบ่งรายได้จากยอดขายคิดเป็นเปอร์เซ็นต์แล้วแต่ประเภทของสินค้าแตกต่างออกไป เฉพาะยอดขายประมาณการจะอยู่ที่ 200 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ถ้าเทียบเป็นเงินบาทก็ประมาณ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

ซูเปอร์แบรนด์มอลล์ จึงเป็นความกล้าท้าทายอย่างหนึ่งของ ซี.พี. ที่มั่นใจในวิถีชีวิตที่กำลังจะเปลี่ยนไปของชาวจีนยุคใหม่ที่กำลังจะก้าวผ่านระบบสังคมนิยมมาสู่ระบบทุนนิยมอย่างเต็มตัว ส่วนใครจะเป็นผู้บริหารต่อไปนั้นเป็นเรื่องที่ต้องคอยดูกันต่อไป



กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.