|
ปลิว มังกรกนก The Unique Banker
โดย
ปัณฑพ ตั้งศรีวงศ์ ณัฐวัฒน์ หอมจิตต์
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ปลิว มังกรกนก เพิ่งได้เป็นนายแบงก์อย่างเป็นทางการเพียงไม่ถึง 6 เดือน แต่เขากลับมีความชำนาญในสิ่งที่นายแบงก์ปัจจุบันหลายคนกำลังขวนขวายอยากจะทำอยู่ในขณะนี้ มาแล้วถึง 30 ปีเต็ม
ปลิว มังกรกนก อาจเป็นนายแบงก์ที่เหลืออยู่เพียงไม่กี่คน ที่ได้ผ่านปรากฏการณ์ ที่เกิดขึ้นในตลาดการเงินของไทยมาแล้วอย่าง โชกโชน พบเห็นการเปลี่ยนแปลงของผู้คนใน แวดวงการเงิน ทั้งในยุคที่รุ่งเรืองสุดขีด และตกต่ำสุดขั้ว
อาจเป็นด้วยปัจจัยดังกล่าวหรือไม่ ที่ทำให้บุคลิกของเขา ดูเหมือนชอบจะ low profile และค่อนข้างถ่อมตัว
ตลอดการสนทนาอย่างยาวนานกับ "ผู้จัดการ" ถึง 2 รอบ หลังจากทิสโก้เปลี่ยน ฐานะจากบริษัทเงินทุนขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ เต็มรูปแบบ เขามักยกเครดิตความสำเร็จทั้งหมดให้กับเพื่อนร่วมงาน รวมถึงอดีตผู้บริหาร และบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายคน มากกว่าการพูดถึงเรื่องของตัวเอง
"ผมไม่ค่อยอยากพูดเรื่องของตัวเองมาก มันไม่ค่อยสนุกเท่าไร ผมเคยพูดอยู่ตลอดเวลาว่าต้องทำตัวเป็นผักตบ มันดูไม่มีค่า แต่ว่าเวลาน้ำขึ้นมันก็ขึ้น เวลาลงก็ลงไปตามกระแส เวลาเขาลงกันเราจะมาขึ้นได้ยังไง เวลาขึ้นเราก็ขึ้นตามเขาไปเรื่อยๆ"
สิ่งที่ปลิวพูดขึ้นมาข้างต้น สะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นกับทั้งเรื่องราวของเขา และสิ่งที่เกิดขึ้นกับทิสโก้ โดยเฉพาะในช่วง 15 ปีหลังก่อนที่จะได้ยกระดับขึ้นเป็นธนาคาร พาณิชย์
ทิสโก้เป็นบริษัทเงินทุนแห่งแรกที่ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ภายหลังจากแผนแม่บทพัฒนาสถาบันการเงิน ของธนาคารแห่งประเทศไทย ถูกประกาศใช้ อย่างเป็นทางการเมื่อต้นเดือนมกราคม 2547
และเช่นกัน ทิสโก้ก็เป็นบริษัทแรกที่เข้ามาทำธุรกิจเงินทุนหลักทรัพย์ในประเทศไทย ตั้งแต่ยุคเริ่มต้นและเป็นบริษัทแรกที่ได้ รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจเงินทุนจากกระทรวง การคลัง (ทิสโก้จดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2512 ได้รับใบอนุญาตประกอบ ธุรกิจเงินทุนจากกระทรวงการคลังเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2516 และได้ยกฐานะขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2548)
แม้ว่าในยุคแรก ทิสโก้เป็นบริษัทที่มี Bankers Trust จากสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่วัตถุประสงค์ตั้งแต่เริ่มต้นของทิสโก้ คือการเป็นสถาบันการเงินสัญชาติไทยที่มีระบบบริหาร จัดการได้มาตรฐานตามแบบตะวันตก (ชื่อทิสโก้ มาจากชื่อย่อภาษาอังกฤษของบริษัทคือ Thai Investment and Securities Co.Ltd : TISCO)
ระบบงานภายใน โดยเฉพาะระบบเอกสารถูกกำหนดให้ใช้เป็นภาษาอังกฤษ รวมถึงพนักงานส่วนใหญ่ของที่นี่ ก็ล้วนเป็นอดีตนักเรียนนอก
สภาพดังกล่าวทำให้ทิสโก้ได้รับการยอมรับว่าเป็นสถาบันการเงินที่ดีที่สุด และเป็นองค์กรที่บัณฑิตใหม่อยากเข้ามาร่วมงานด้วยมากที่สุดแห่งหนึ่งในยุคนั้น
ขณะเดียวกัน ทิสโก้เองก็เปรียบเสมือนสถาบันที่ได้สร้างนักบริหารมืออาชีพให้กับองค์กร ธุรกิจขนาดใหญ่ รวมถึงสถาบันการเงินไม่ว่าจะเป็นบริษัทเงินทุน และธนาคารพาณิชย์อีกหลาย แห่ง
ชุมพล ณ ลำเลียง ที่กำลังจะเกษียณตัวเองจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เครือซิเมนต์ไทยในปลายปีนี้ถือเป็นตัวอย่างของกรณีนี้ได้ดีที่สุด
"ทิสโก้เป็นเหมือน melting pot สมัยนั้นคนเก่งเยอะมาก ตั้งแต่ยังไม่มีไลเซนส์ ไฟแนนซ์ ยังไม่เกิด เราเกิดก่อนแล้ว คุณศิวะพร (ทรรทรานนท์) ก็เก่งมาก ไปขาย B/E ทำอันเดอร์ไรต์หุ้น บาจา ขายหุ้นเสริมสุข คุณบันเทิง (ตันติวิท) ก็เก่งมากทางด้าน corporate ทำ lending แล้ว ผมก็ได้เรียนรู้จากท่านมาก แต่ละคนเป็นครูที่ดีมากๆ ก็สอนกันมาแล้วต่อเนื่องไป" ปลิวเล่า
ปลิวได้รับการชักชวนให้เข้ามาทำงานกับทิสโก้ตั้งแต่ในสมัยที่เขายังทำปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด สหรัฐอเมริกา โดยผู้ที่เอ่ยปากชวนเขาเข้ามาคือศิวะพร ทรรทรานนท์ ซึ่งขณะนั้นมีตำแหน่งเป็น vice president ของทิสโก้
เขาจบปริญญาตรีวิศวอุตสาหการ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ (วศ.11) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นวิศวะรุ่นเดียวกับอนันต์ อัศวโภคิน แห่งแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ กับบุญคลี ปลั่งศิริ ของชินคอร์ป
หลังจบปริญญาตรี ปลิวได้เดินทางไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาเดียวกันที่มหาวิทยาลัย สแตนฟอร์ด โดยมีศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ เป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย และเป็นคนชักนำให้เขาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต โดยการแนะนำให้เขาเรียนปริญญาโท MBA สาขา Finance ต่ออีกใบ จาก UCLA
"คุณศิรินทร์แกมา convince ผมมากตอนที่อยู่ที่สแตนฟอร์ด ตอนนั้นผมเรียนปริญญาโทวิศวะอยู่ ท่านมาคุยว่าเรียนวิศวะมันแคบ สุดท้ายกลับมาผมจบ MBA เฉยเลย"
ปลิวรู้จักกับศิวะพรในช่วง summer ที่กลับมาเยี่ยมบ้านในเมืองไทย โดยศิรินทร์เป็นผู้ชักชวนปลิวให้มารู้จักกับศิวะพร ที่สนิทสนมกับธารินทร์ นิมมานเหมินท์ พี่ชายของเขาตั้งแต่ทั้งศิวะพร และธารินทร์เรียนอยู่ ด้วยกันที่สหรัฐอเมริกา
"คุณศิรินทร์บอกว่าให้มารู้จักคนในเมืองไทยหลายคนที่ดังๆ ผมก็มาทานข้าวก็มาเจอหลายคน มีคุณศิวะพร คุณจันทรา (อาชวานันทกุล) มาทานที่ค็อฟฟี่ช็อป โรงแรม ดุสิตธานีนี่แหละ มาคุยกันก็ถูกคอ กลับไปสักพักเขาก็ offer งานให้เลย"
ศิวะพรส่งตั๋วเครื่องบินให้ปลิวบินไปสัมภาษณ์กับผู้บริหารของ Bankers Trust ที่นิวยอร์ก หลังจากนั้นอีก 6 เดือน เมื่อปลิวทำวิทยานิพนธ์เสร็จ ได้รับปริญญากลับมาเมืองไทย ก็ได้เริ่มงานกับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ ในปี 2518
ทิสโก้ในขณะที่ปลิวเริ่มต้นทำงาน ยังมีกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นฝรั่ง ส่วนผู้บริหาร ที่เป็นคนไทย มีโดดเด่นที่สุด 4 คน ซึ่งถูกเรียกว่าเป็น 4 ทหารเสือของทิสโก้ คือศิวะพร ทรรทรานนท์ ซึ่งดูแลสายงานวาณิชธนกิจ บันเทิง ตันติวิท ดูแลสายงานสินเชื่อรายใหญ่ สิริฉัตร อรรถเวทย์วรวุฒิ ดูแลสายงานสินเชื่อ ระยะสั้น และจันทรา อาชวานันทกุล ดูแลทางด้านเงินฝาก
ต่อมาเมื่อผู้บริหารชาวต่างชาติเริ่มวางมือ และต้องการแต่งตั้งคนไทยขึ้นมาเป็น กรรมการผู้จัดการ แต่เนื่องจากความสามารถ ของทั้ง 4 คน ทัดเทียมกันอย่างมาก จนไม่รู้ว่าจะตัดสินใจเลือกใคร Bankers Trust จึงตัดสินใจแต่งตั้งทั้ง 4 คนให้เป็นกรรมการผู้จัดการ ดูแลสายงานที่แต่ละคนรับผิดชอบ
ปลิวเริ่มต้นทำงานในสายงานของบันเทิง โดยมีตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายสินเชื่อ
เมื่อทำงานอยู่กับบันเทิงได้ระยะหนึ่งได้เกิดกรณีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ต้องเข้าไปฟื้นฟูกิจการบริษัทลีกวงมิ้ง ทรัสต์ จึงได้ชักชวนบันเทิงให้ไปเป็นผู้บริหารบริษัทดังกล่าว ที่ต่อมาภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนชาติ
ส่วนสิริฉัตรก็ลาออกจากทิสโก้ไปเป็นผู้บริหาร แบงก์ ออฟ อเมริกา ที่เข้ามาตั้งสาขาในประเทศไทย ก่อนที่จะย้ายไปอยู่กับบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์สินเอเซีย และธนาคารแหลมทอง
โครงสร้างการบริหารงานในทิสโก้ในช่วงนั้น จึงเริ่มชัดเจนขึ้น โดยศิวะพรได้ขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการ ขณะที่จันทราเป็นกรรมการผู้จัดการ และร่วมงานอยู่กับทิสโก้จนเกษียณ
ส่วนปลิวย้ายสายงานจากฝ่ายสินเชื่อมาดูแลงานด้านวาณิชธนกิจ ซึ่งอยู่ในสายของศิวะพรโดยตรง
ปี 2521-2522 เกิดวิกฤติศรัทธาของสถาบันการเงินรอบแรก อันเนื่องมาจากกรณีการปั่นหุ้นบริษัทราชาเงินทุน จนต้องถูกทางการสั่งปิดกิจการ ส่งผลให้การดำเนินงานของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทั้งหลายตกอยู่ในภาวะซบเซา
ในปี 2525 ศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ซึ่งขณะนั้นทำงานอยู่ที่ธนาคารเอเชีย ได้รับการ ทาบทามให้ไปบุกเบิกงานด้านบัญชีและการเงินให้กับการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย (ปตท.) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่เพิ่งเกิดใหม่จากการรวมตัวกันขององค์การก๊าซธรรมชาติ และกรมเชื้อเพลิง ทหาร
ศิรินทร์ได้มาชักชวนปลิวให้ไปร่วมงานที่ ปตท.ในตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน โดยมีศิรินทร์เป็นผู้ช่วยผู้ว่าการ
ก็ชวนกันอยู่นาน ผมมาตัดสินใจครั้งสุดท้ายก็ตอนไปงานที่บ้านคุณศิวะพรนั่นแหละ แกจัดงานบาร์บีคิว แล้วเชิญคุณศิรินทร์มาด้วย แกก็นั่งคุยกับภรรยาผม เพราะรู้จักกันดี ตอนนั้นคุณศิวะพรก็ยั๊วะนิดหน่อยว่า ทำไมมา offer กันเวลาอย่างนี้
เหตุผลหนึ่งที่ปลิวตัดสินใจไปอยู่ ปตท.กับศิรินทร์นั้น เขาออกตัวกับ "ผู้จัดการ" ว่าเป็นความเห็นแก่ตัวของเขาเอง เพราะเห็นว่าหลังจากวิกฤติศรัทธารอบแรกทำให้การทำธุรกิจของบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ซบเซาจนไม่มีความท้าทายใหม่ๆ เกิดขึ้น
งานหลักของปลิวที่ ปตท.ในช่วงนั้นคือการเปิด L/C เพื่อสั่งซื้อน้ำมัน ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสเซ็นเช็คครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิต เพราะการสั่งซื้อน้ำมันในระยะนั้น อย่างต่ำๆ ก็คราวละ 20 ล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ยังต้องเจรจาขอกู้เงินกับนายแบงก์ต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการขยายงานของ ปตท. ขณะเดียวกันต้องดูแลการจัดเก็บหนี้ค่าก๊าซ และน้ำมันที่ส่งให้กับหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) การรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์ การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)
"ผมไปทวงหนี้ EGAT ไปกับลูกน้องอีกคน ไปถึงทาง EGAT มากันมีทั้งรองผู้ว่าฯ อีก 3 ผู้ช่วยฯ 7 ฝ่าย 12 กอง นั่งกันเต็มห้องประชุมเลย ไปเก็บหนี้การรถไฟฯ เขาก็ไม่มี ต้องทำเรื่องตั้งงบประมาณย้อนหลังให้ ขสมก.ก็เหมือนกัน"
การทำงานที่ ปตท.ในครั้งนั้น นอกจากประสบการณ์ทำงานที่ได้แล้ว ปลิวยังได้สร้างสายสัมพันธ์เอาไว้ที่ ปตท.อีกด้วย ซึ่งเขาเล่าว่า ทุกวันนี้เขายังคบหากับเพื่อนสมัยที่ยังทำงานที่ ปตท.เอาไว้ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม ในปี 2532 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริหารระดับสูงและระดับกลางของ ปตท. ทยอยลาออกเพื่อไปทำงานในภาคเอกชน ปลิวก็เป็นคนหนึ่งในนั้น ตำแหน่งสุดท้ายที่ปตท. คือผู้ช่วยผู้ว่าการด้านการบัญชีและการ เงิน โดยตัดสินใจกลับมาทำงานที่ทิสโก้อีกครั้ง
"ตอนที่ออกไปคุณศิวะพรบอกให้ไปอยู่ปีเดียว แล้วก็เก็บห้องทำงานของผมเอาไว้ให้ ผมก็เพลินทำอยู่ 7 ปี ท่านก็มาตามบอกว่ากลับมาได้แล้ว"
การกลับมาที่ทิสโก้รอบใหม่ ปลิวได้รับบทบาทที่สูงขึ้น โดยดำรง ตำแหน่งเป็นรองกรรมการอำนวยการ อยู่ในอันดับ 3 ของผังผู้บริหาร รองจากศิวะพร และจันทรา
คณะกรรมการของทิสโก้ในยุคนี้ นอกจากบัญชา ล่ำซำ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการกิตติม-ศักดิ์แล้ว ยังมีชุมพล ณ ลำเลียง, ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล, อัศวิน คงศิริ และศิรินทร์ นิมมานเหมินท์ ร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย
ถัดมาอีก 2 ปี ในปี 2534 ปลิวก็ได้ตำแหน่งกรรมการของบริษัทเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งตำแหน่ง
ทิสโก้ในยุคที่ปลิวกลับเข้ามาใหม่ อยู่ในช่วงที่กำลังขยายตัวอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจของไทยที่เริ่มเข้าสู่ยุคขาขึ้น ผลกำไรของทิสโก้มีการเติบโตปีละ 20-25% ติดต่อกันหลายปี
แต่การเติบโตของทิสโก้ในช่วงนี้ ภาพส่วนใหญ่จะโฟกัสไปที่ตัวของศิวะพร ทรรทรานนท์ จนแทบจะทำให้เขากลายเป็นสัญลักษณ์ของทิสโก้
ปลายปี 2536 มุมมองต่อแนวทางการขยายตัวของทิสโก้ ระหว่างผู้บริหารกับ Bankers Trust ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ เริ่มไม่ลงรอยกัน เพราะ Bankers Trust ต้องการให้ทิสโก้มีการขยายตัวในลักษณะ worldwide แต่ศิวะพรต้องการให้ทิสโก้โตอยู่เฉพาะภายในประเทศ ความ ไม่ลงรอยดังกล่าวนำไปสู่การตัดสินใจเกษียณอายุก่อนกำหนดของศิวะพร ในปี 2537 ทั้งๆ ที่ขณะนั้น เขาเพิ่งมีอายุไม่ถึง 50 ปี
ปลิวขึ้นรับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการอำนวยการแทน
"ช่วงนั้นก็ปั่นป่วนพอสมควรเหมือนกัน ผมขึ้นมาเป็นแทนช่วงปี 1994 แต่คุณศิวะพรแกทำไว้เยอะแล้ว ผมเข้ามาก็โชคดี และยังมีคนเก่งๆ ช่วยอีกมากในระดับบริหาร จนกระทั่งถึงปีที่เกิดวิกฤติ"
ปี 2537 ที่ปลิวขึ้นเป็นกรรมการผู้อำนวยการ บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้ เป็นช่วงที่ฟองสบู่ของเศรษฐกิจไทยกำลังเริ่มโป่งพองจนเกือบจะถึงจุดระเบิด
ปลิวเป็นเบอร์หนึ่งของทิสโก้ได้เพียง 3 ปี ก็ต้องเปลี่ยนบทบาทจากผู้นำมาเป็นผู้หาทางรอดในการแก้ไขวิกฤติให้กับบริษัท หลังฟองสบู่ดังกล่าวแตกลงในปี 2540
"วิกฤติครั้งก่อนหน้านั้น ผมเป็นลูกน้อง สมัยราชาเงินทุนผมก็อยู่กับคุณศิวะพรกับคุณบันเทิง ผมก็ช่วยเขาทำ ก็ยังไม่ลึกซึ้งถึงความลำบากว่ามันมีปัญหามากขนาดไหน พอมาครั้งนี้ เหลือผมคนเดียว เหลียวซ้ายแลขวา ไม่เจอใครเลยสักคน"
หากเปรียบเทียบไปแล้ว ในช่วงวิกฤติ เศรษฐกิจที่เริ่มต้นจากการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในเดือนกรกฎาคม 2540 ปรากฏ การณ์ที่เกิดกับทิสโก้ กลับแตกต่างจากสถาบัน การเงินแห่งอื่นๆ ที่ถูกปิดกิจการไปแล้วอย่าง มาก
จากในช่วงเริ่มต้น ที่มีการประกาศให้บริษัทเงินทุน 12 แห่ง ยุติการดำเนินงานชั่วคราวก่อนลอยตัวค่าเงินบาท และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อบริษัทเงินทุนทั้งระบบ มีการถอนเงินออกจากบริษัทเงินทุนที่เหลือกันอย่างมาก แต่ที่ทิสโก้กลับเป็นในทางตรงข้าม เพราะมีเงินฝากไหลเข้ามาอยู่กับทิสโก้เป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุที่คนส่วนใหญ่ยังเชื่อมั่นในทิสโก้ ในฐานะสถาบันการเงินที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง และมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นสถาบันการเงินต่างชาติอย่าง Bankers Trust และธนาคารกสิกรไทย
ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้วฐานะของ Bankers Trust ขณะนั้น ก็ง่อนแง่นไม่แพ้กัน เพราะกำลังถูกธนาคารกลางสหรัฐฯ จับตา และตั๋วเงินที่ Bankers Trust ออกมาขายให้กับประชาชนในสหรัฐอเมริกา กำลังถูกทบทวนอันดับเครดิตให้ลดลง แต่เรื่องนี้กลับไม่เป็นที่รับรู้ในประเทศไทย
ปลิวยอมรับว่าเขาค่อนข้างโกรธ Bankers Trust ที่ในขณะซึ่งต้องเผชิญกับวิกฤติร่วมกันนั้น กลับไม่ยอมบอกความจริงถึงฐานะของตนเองกับเขาในฐานะพาร์ตเนอร์
แต่เขาก็ยอมรับว่า Bankers Trust ก็มีคุณูปการอย่างยิ่งกับทิสโก้ โดยเฉพาะในช่วงก่อน เกิดวิกฤติ เพราะ Bankers Trust ได้ส่งสัญญาณเตือนทิสโก้มาเป็นระยะ ตั้งแต่ปี 2539 เนื่องด้วยเห็นว่าค่าเงินบาทของไทยในขณะนั้น แข็งผิดปกติ ซึ่งจากคำเตือนดังกล่าว ทำให้ปลิวตัดสินใจปองกันความเสี่ยงในเงินกู้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศตั้งแต่ปลายปี 2539 จนหมด ก่อนที่จะมีการประกาศลอยตัวค่าเงินบาทในกลางปีถัดมา
ดังนั้น ณ วันที่ค่าเงินบาทลอยตัว ทิสโก้จึงไม่ได้รับผลกระทบเลยแม้แต่น้อย ในทางตรงกันข้าม กลับได้เงินฝากเพิ่มขึ้น
ทิสโก้มาได้รับผลกระทบจริงๆ ในอีก 1 ปีถัดมา หลังจากวันที่ผู้บริหารบริษัทเงินทุนภัทรธนกิจตัดสินใจคืนใบอนุญาตกับทางการในปลายปี 2541
"ตอนวิกฤติ คนส่วนใหญ่ขาดความเชื่อถือบริษัทเงินทุน ก็จะมีเหลือแต่เรากับภัทรฯ ที่คนมองว่ายังพอเชื่อถือได้ แต่พอภัทรตัดสินใจคืนใบอนุญาตก็ส่งผลลามมาถึงเราทันที เพราะคนมองว่าขนาดภัทรฯ ยังอยู่ไม่ได้ แล้วทิสโก้จะเป็นยังไง"
ช่วงนั้นมีเงินนับพันล้านบาท ที่ไหลออกจากพอร์ตเงินฝากของทิสโก้
Bankers Trust ที่น่าจะเป็นความหวังเดียวในขณะนั้น ก็ถึงจุดที่ปัญหาภายในของเขาสุกงอมที่สุด โดยการถูก Deutche Bank เทกโอเวอร์ ดังนั้นจึงไม่สามารถนำเงินมาเพิ่มทุนให้กับทิสโก้ได้ เช่นเดียวกับธนาคารกสิกรไทย และไดอิชิ คังเงียวจากญี่ปุ่น ที่ร่วมถือหุ้นอยู่ในทิสโก้ขณะนั้นเหมือนกัน
ทางออกเดียวขณะนั้น ก็คือการเข้าสู่โครงการ 14 สิงหาคม ที่เป็นมาตรการช่วยเหลือของทางการ ในยุคที่มีธารินทร์ นิมมาน เหมินท์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยการให้ภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุน จัดการ เรียกชำระเงินเพิ่มทุนโดยกระทรวงการคลังจะเข้าไปช่วยซื้อหุ้นด้วยเท่ากับจำนวนทุนที่เพิ่มเข้ามาได้ โดยทิสโก้เป็นสถาบันการเงินรายที่ 2 ที่เข้ารับความช่วยเหลือตามโครงการ นี้ต่อจากธนาคารไทยพาณิชย์
กับเรื่องนี้ ปลิวยกเครดิตให้กับ ม.ร.ว. จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในขณะนั้น
"ตอนนั้นสรุปตัวเลขกันในห้องท่านผู้ว่าฯ ใช้เวลาประมาณ 15 นาทีเท่านั้น ผมทำตัวเลขไปว่าต้องการเงินเพิ่มทุน 4,000 ล้าน บาทก็พอ แต่ผู้ถือหุ้นอีกบางกลุ่มประเมินว่าต้องใช้ถึง 8,000 ล้าน หม่อมเต่าก็เลยบอกว่าพบกันครึ่งทางแล้วกัน ตกลงที่ 6,000 ล้าน เอกชนเพิ่มเข้ามา 3,000 ล้าน แบงก์ชาติใส่ให้อีก 3,000 ล้าน"
เมื่อพ้นวิกฤติมาได้แล้วปลิวจึงเรียกระดมสมองทีมงานเพื่อหาแนวทางที่ทิสโก้จะเดินต่อไป ซึ่งสุดท้ายแล้วได้ข้อสรุปว่า ทิสโก้ควรจะทำในสิ่งที่เป็นความชำนาญเฉพาะด้าน นั่นคือธุรกิจเช่าซื้อ หลักทรัพย์และกองทุนรวม ซึ่งก็เกือบจะไม่แตกต่างอะไรจากคอนเซ็ปต์ Universal Banking ที่ธนาคารหลายแห่งตั้งเป้าจะทำให้ได้ในยุคนี้ เพียงแต่ทิสโก้ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เท่านั้น
ด้วยเหตุนี้เอง เมื่อธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินที่เปิดโอกาสให้บริษัทเงินทุนที่มีความพร้อมขอยกระดับขึ้นเป็นธนาคารพาณิชย์ได้ ทิสโก้จึงไม่รอช้าที่จะยื่นขอใบอนุญาตดังกล่าว
ปัจจุบันปลิวอยู่ในวัย 57 ปี ทั้งที่จริงแล้วเขาควรจะเกษียณไปตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อน เพราะตามระเบียบพนักงานของทิสโก้กำหนดเกษียณเมื่ออายุครบ 55 ปี แต่คณะกรรมการต่ออายุให้เขาไปจนถึงสิ้นปี 2549
ถึงแม้วันนี้วิกฤติเศรษฐกิจจะผ่านพ้นไปแล้ว ฐานะของทิสโก้ก็เรียกได้ว่ามั่นคงขึ้นอย่างมาก แต่ปลิวยอมรับว่าทุกวันนี้เขายังเครียดอยู่เช่นเดิม
"แต่ไม่เหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนมันทั้งเครียดและเบลอ ตอนนี้มันเครียดและกังวลว่าเราเดินถูกทางหรือเปล่า"
เขาเชื่อว่าจากสิ่งที่ทำมาในอดีตทั้งในธุรกิจเงินทุน หลักทรัพย์และจัดการกองทุนรวมจะส่งผลให้ทิสโก้ก้าวเดินไปได้ด้วยดีอย่างน้อย 3 ปีข้างหน้า แต่หลังจากนั้นแล้วยังมองทิศทาง ไม่ออกว่าควรจะเป็นเช่นไร ระหว่างการทำธุรกิจต่อไปด้วยตัวเอง ถูกควบรวมกับสถาบันการเงินอื่นหรือไปเทกโอเวอร์รายอื่นมารวมกัน
ถือเป็นโจทย์ใหม่ ข้อใหญ่สำหรับประธานกรรมการบริหาร (CEO) คนแรกของธนาคาร ทิสโก้ ที่จำเป็นต้องเร่งหาคำตอบให้ได้ โดยมีการเปิดเสรีธุรกิจการเงิน ที่จะทำให้มีสถาบันการเงินต่างประเทศรุกเข้ามาแข่งขันในไทย ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเป็นแรงกดดัน
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|