Take a longest flight flying to New York

โดย น้ำค้าง ไชยพุฒ
นิตยสารผู้จัดการ( พฤศจิกายน 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

"ตอนนี้ที่บ้านเราคงตีสามสินะ แล้วทำไมเรามาเดินอยู่กลางถนนล่ะเนี่ย?"

นี่อาจจะเป็นประโยคที่อยากจะบอกใครสักคน เมื่อตัวเลขดิจิตอลบนหน้าปัดนาฬิกาสีเขียวเรือนเก่าแก่แสดงเวลาว่าเป็นชั่วโมงที่ 4 ในยามเย็น ตามเวลาท้องถิ่นของมหานครนิวยอร์ก เพราะเมื่อเทียบกับนาฬิกาที่เมืองไทย ในยามนั้นนาฬิกาทุกเรือน (ยกเว้นเรือนที่เดินช้า เดินเร็ว หรือไม่เดินเลย) คงจะบอกเวลาตีสามเป็นแน่

คำพูดที่ว่าคนเรามีเวลาเท่ากัน คือ 24 ชั่วโมง จะไม่เป็นจริงอย่างที่เคยกล่าวกันไว้ ในเมื่อตอนนี้ผู้เขียนมีเวลาเพิ่มขึ้นมาอีก 11 ชั่วโมง อันเป็นผลมาจากการบินข้ามผ่านช่วงเวลาของไทยมาอยู่ที่นิวยอร์ก ที่มีเวลาช้ากว่าเมืองไทยถึง 11 ชั่วโมงเต็ม นั่นหมายความว่า หากใครเดินทางมานิวยอร์ก ก็เปรียบเสมือนย้อนเข็มนาฬิกาของตัวเองได้อีก 11 ชั่วโมงนั่นแหละ

ย้อนเวลากลับไปหนึ่งวันก่อนหน้านี้ เครื่องบินแอร์บัส A340 ของสายการบินไทย ออกเดินทางจากสนามบินดอนเมือง โดยที่ล้อหลังของเครื่องบินลำยักษ์พ่นพื้นรันเวย์ในเวลาตีหนึ่ง หรือชั่วโมงแรกของวันที่ 21 กันยายน และใช้เวลาเดินทางยาวนานตั้งแต่บินเข้าสู่ประเทศลาว ผ่านจีน ทะลุไปยังไซบีเรีย รัสเซีย ข้ามผ่านช่วงเวลาอันเหน็บหนาวภายนอกตัวเครื่องบิน ที่ตัวเลขอุณหภูมิบนหน้าจอโทรทัศน์ประจำเบาะระบุอุณหภูมิภายนอกที่ -60 องศา เพราะต้องบินผ่านขั้วโลกเหนือ ก่อนบินเข้าน่านฟ้าของแคนาดา และมุ่งหน้ามายังมหานครนิวยอร์ก ด้วยระยะเวลาที่ยาวนานถึง 17 ชั่วโมง ไม่มากไม่น้อยไปกว่านี้

ชีวิตของผู้โดยสารบนเครื่องบินลำใหญ่ ไม่ต่างอะไรกับคนที่ต้องยอมรับสภาพว่าคุณกำลังอยู่บนเครื่องบิน... นอกจากการกิน นอนดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ เดินไปเข้าห้องน้ำ หรือพูดคุยกับเพื่อนร่วมเดินทางข้างๆ แล้ว ก็ดูเหมือนไม่มีสิ่งอื่นที่จะน่าสนใจกว่านั้นอีกแล้ว

เราต้องยอมรับสภาพข้อบังคับจากสายการบินว่าถึงเวลากินข้าวแล้ว ด้วยการเปิดไฟสว่างจ้าแยงตา แม้เพิ่งจะข่มตาหลับได้ไม่กี่นาทีที่ผ่านมา และการรับผ้าร้อนมาทำความสะอาดหน้าตาและมือ ก่อนลงมือทานอาหารมื้อไหนก็ไม่ทราบ วนเวียนกันอย่างนี้หลายหน รวมแล้วต้องกินอาหารถึง 3 มื้อ และข่มตานอนได้ยาวนานที่สุด ดูหนังติดต่อได้กันยาวนานที่สุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

ตารางเส้นทางการบินเกือบหน้าสุดท้าย ของหนังสือที่แจกให้ผู้โดยสารอ่านฟรีบนเครื่องบอกระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปยังนิวยอร์กเกือบหมื่นไมล์ เป็นระยะทางของการ เดินทางที่ไกลมากที่สุดในบรรดาประเทศที่มีอยู่ทั้งหมดในลิสต์ตารางการบินของสายการบินแห่งนี้ด้วยในเวลาเดียวกัน

เสียงกัปตันเปรียบดังเสียงสวรรค์ทันที เมื่อประกาศว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า เครื่องบินจะลงจอดที่สนามบิน JFK อย่างปลอดภัยและบอกเวลาของมหานครนิวยอร์ก ขณะนั้นคือเวลา 6 โมงเช้าของวันที่ 21 กันยายน ขณะที่เวลาต้นทางในกรุงเทพฯ ได้ผ่านพ้นเป็นเวลา 5 โมงเย็นของวันที่ 21 กันยายนไปแล้ว

ยามเช้าของมหานครนิวยอร์กหนาแน่น ไปด้วยรถยนต์น้อยใหญ่ที่มุ่งหน้าไปยังที่หมายของแต่ละคน กว่าทริปของบรรดานักข่าวหลายสิบชีวิตและทีมงานที่ร่วมเดินทาง มาดูงานด้วยกันจะถึงโรงแรมที่พักบนถนน 7Ave 57W ก็ปาไปเกือบ 8 โมงเช้าเข้าไปแล้ว

จากคำแนะนำของคนทางบ้านและเพื่อนร่วมเดินทางบางคนที่บอกว่า จงฝืนความ รู้สึกให้เป็นไปตามนาฬิกาท้องถิ่น แม้จะรู้อยู่ลึกๆ ว่าไม่ใช่ก็ตามที เพราะนั่นจะทำใให้คุณสามารถรักษาการเจ็ตแล็ก เนื่องจากเดินทางด้วยเครื่องบินที่ยาวนานหลายชั่วโมงติดต่อ กันได้เป็นอย่างดี หากเป็นเช่นนั้น ในยาม 8 โมงเช้าของนิวยอร์กผู้มาเยือนอย่างเราก็ไม่ควรจะนอนพักเอาแรง และควรจะทำกิจวัตรประจำวันดังเช่นเวลากลางวันทั่วไป ด้วยสาเหตุเช่นนี้ แผนการการท่องเที่ยวในนิวยอร์กจึงผุดขึ้นมาในห้วงความคิดของผู้เขียนในทันที

ผู้เขียนตัดสินใจเริ่มแผนแรกด้วยการเดินทางไปยังร้าน B&H Photo Video ร้านขายอุปกรณ์ถ่ายภาพที่ได้รับการขนานนามว่าใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากช่างภาพ "ผู้จัดการ" และช่างภาพรุ่นน้องจากนิตยสารเพื่อนบ้านในเครือเดียวกันขอร้องให้หาซื้อกระเป๋ากล้องในรูปแบบต่างๆ กลับไปให้ที่เมืองไทย เพราะหากเมื่อเทียบกับการหิ้วไปจากสหรัฐฯ แล้วช่วยใให้ประหยัดกว่าการซื้อที่เมืองไทยหลายพันบาทเลยทีเดียว

แม้จะมีแค่ชื่อร้าน เพราะผู้เขียนลืมหยิบที่อยู่ของร้านติดมือมาด้วยจากเมืองไทย ก็ไม่ได้สร้างปัญหาแต่อย่างใด การสอบถามจากพนักงานโรงแรมเป็นแผนสำรองที่ดีที่สุดในยามนั้นเบอร์โทรศัพท์ที่ติดอยู่บนกระดาษ A4 ที่ปรินต์มาจากเว็บไซต์ของร้าน ช่วยให้พนักงานสามารถสอบถามเส้นทางและที่อยู่ของร้านได้ง่ายขึ้น

ร้านดังกล่าวตั้งอยู่บนถนน 9Ave พนักงานบอกว่าไม่ไกลจากโรงแรมมากนัก หากเดินไปก็น่าจะใช้เวลาประมาณ 20 นาที "Very Close" ชายแก่ร่างท้วมใส่ชุดพนักงาน โรงแรมที่เจอกันอีกหลายครั้งตลอดการนอนพักที่นี่ บอกเช่นนั้น

การเดินทางจึงเริ่มต้นเมื่อรู้ที่หมาย ผู้เขียนออกเดินโดยมีแผนที่ฉบับพกพาที่หยิบมาจากหน้าเคาน์เตอร์โรงแรมพกติดตัวไปด้วย ถนนในนิวยอร์กเดินง่ายมากเมื่อเทียบกับเมืองไทย เนื่องจากพื้นที่ของเมืองถูกแบ่งออกเป็นบล็อกๆ หนึ่งช่วงตึกเปรียบได้กับ 1 บล็อก ทุกบล็อกมักจะกั้นด้วยแยกสัญญาณไฟแดง และมีป้ายระบุถนน และเลขที่ของแต่ละแยกอย่างชัดเจน ซึ่งโดยมากแล้วมักจะต้องมองควบคู่กันไปทั้งสองตัวเลขเสมอ

การเดินเท้ามายัง 9Ave ไม่ง่ายอย่างที่คิด บนถนน 7Ave นั้นต้องผ่านย่านสำคัญอย่าง Broadway ซึ่งเต็มไปด้วยผู้คนที่ยืนรอบนถนนเพื่อเข้าชมละครบรอดเวย์ชื่อดังหลายเรื่อง

ขณะที่ Times Square ที่อยู่ถัดออกไปไม่กี่เมตร ถูกปิดเส้นทางไม่ให้เดินผ่าน เนื่องจากมีการถ่ายทอดสดรายการสำคัญอะไรสักอย่าง ทำให้ต้องข้ามไปยังอีกฝั่งถนนถึงจะเดินได้

20 นาที ที่บอกว่าใกล้กลับยืดเยื้อยาวนานเป็นเกือบ 40 นาที จาก 7Ave 57W กว่าจะถึง 9Ave นั้นต้องเดินมาจนถึงแยก 7Ave 34 W นั่นเท่ากับว่าต้องเดินผ่านซอยมาถึง 23 ซอย กันเลยทีเดียว กว่าจะรู้ว่าต้องเดินไกลขนาดนั้น ก็สายไปเสียแล้ว เพราะไม่อาจหันหลังเดินกลับได้ เมื่อในเวลานี้ผู้เขียนมายืนอยู่ตรงหน้าที่หมายเสียแล้ว

ตึกรูปทรงเก่าแก่ขนาด 2 ชั้น บนหัวมุมถนนคลาคล่ำไปด้วย ผู้ซื้อและผู้ขาย พนักงานขายใส่เสื้อกั๊กสัญลักษณ์ของร้านนายหนึ่งในจำนวนพนักงานขายอีกหลายชีวิต มองแล้วเกือบเท่าๆ กับคนซื้อ เดินมาหาลูกค้าหน้าเอเชีย และสอบถามความต้องการสินค้า เมื่อผู้เขียนยืนเก้ๆ กังๆ

กระดาษที่ระบุความต้องการสินค้าถูกยื่นให้พนักงานขายดังกล่าว ในเวลาต่อมา เราทั้งคู่จึงมายืนหน้าชั้นวางที่ต้องการ เมื่อสื่อสารกันด้วยภาษาที่พอจะเข้าใจและตกลงใจจะซื้อสินค้า พนักงานขายเดินนำไปยังเครื่องคอมพิวเตอร์ใกล้ๆ กัน พร้อมเข้าหน้าเว็บไซต์ ของทางร้าน สั่งซื้อของที่ต้องการ ไม่นานพนักงานขายอีกคนเดินมาสมทบ โดยในมือหอบกระป๋องขนาดย่อมที่มีสินค้าที่เพิ่งจะสั่งไปเมื่อตะกี้มายืนยันว่า เป็นของที่ต้องการโดยที่ผู้ซื้ออย่างเราได้แต่มองตาค้าง ทึ่งในความรวดเร็วของการสั่งของไปยังแผนกสต็อก โดยที่ไม่มีใครได้เดินไปไหนเลยด้วยซ้ำ

พนักงานขายแนะนำให้ไปจ่ายเงินที่เคาน์เตอร์แคชเชียร์ที่อยู่ถัดไป การจ่ายเงินกลับไม่ยากเย็นอย่างที่คิด บัตรเครดิตเป็นตัวเลือกที่ดีในยามที่ต้องจ่ายของมูลค่านับหมื่นเช่นนี้ ลายเซ็นบนกระดาษที่สั่งพิมพ์มาจากเครื่องรูดการ์ดอาจจะเชยสำหรับที่นี่ จึงเตรียมหน้าจอคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กให้ลูกค้า ใช้ปากกาคล้ายๆ กับสไตลัสของพ็อกเก็ตพีซี ใให้เซ็นแทน เสร็จแล้วพนักงานชี้ให้ไปรับของยังแผนกจำหน่ายด้านหลัง... เบ็ดเสร็จผู้เขียน สามารถซื้อของหลายชิ้นได้ในเวลาไม่ถึง 10 นาที...

การซื้อขายของด้วยวิธีการนี้ ผู้เขียนพบเห็นอีกหลายครั้งในนิวยอร์ก และเชื่อได้ว่า น่าจะเป็นเรื่องปกติธรรมดาของคนที่นี่ ต่างจากคนมาเยือนอย่างเรา ที่เห็นเป็นเรื่องน่าทึ่ง เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยใให้ได้รับความสะดวก ในการซื้อแล้ว ยังประหยัดเวลายิ่งนัก

เมื่อเดินออกจากร้าน นาฬิกาบอกเวลา 10 โมงครึ่ง ครั้นจะกลับไปโรงแรมก็กระไรอยู่ เพราะการนัดหมายทีมงานเพื่อทานอาหารเย็นจะเริ่มขึ้น ตอน 5 โมงเย็น การเดินเล่นไปเรื่อยๆ ตามแผนที่น่าจะช่วยฆ่าเวลาก่อนถึงเวลานัดหมายได้ดีไม่น้อย แม้ของในมือหนักอึ้งก็ตามที โชคดีแผนที่ที่หยิบมาจากเคาน์เตอร์โรงแรม ไม่เพียงแต่ระบุชื่อถนนและซอยเท่านั้น แต่ยังระบุสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญบนถนนแต่ละเส้นเอาไว้ด้วย หากเดินจาก 9Ave ก็จะผ่านถนน 8Ave, 7Ave, 6Ave และ 5Ave ในที่สุด

5Ave ดูจะคุ้นหูคน เพราะเลื่องชื่อในการเป็นแหล่งชอปปิ้งสินค้าแบรนด์ดังในนิวยอร์ก พอๆ กับการเป็นสถานที่ตั้งของอาคารสำคัญๆ หลายอย่าง ถึงตอนนี้ผู้เขียนก็มายืนอยู่หน้าตึก Empire State บนถนน 5Ave ซึ่งกลายเป็นตึกที่สูงที่สุดในนิวยอร์กแทนตึกเวิลด์เทรดในทันทีที่ตึกเวิลด์เทรดถูกวินาศ กรรมไปเมื่อหลายปีก่อน

ผู้เขียนไม่ลังเลที่จะเดินเข้าไปในตึก และตัดสินใจไปยังชั้นสองของอาคารเพื่อต่อแถวขึ้นไปชมชั้นบนสุดของตึก 86 ชั้นแห่งนี้ แม้จะใช้เวลาต่อคิวกว่า 1 ชั่วโมง และควักกระเป๋าจ่ายไป 14 เหรียญ สำหรับค่าเข้าชม พร้อมๆ กับเปิดกระเป๋าโน้ตบุ๊ก และส่งของเข้าเครื่องสแกนก่อนขึ้นตึกอีกชั้นหนึ่ง ใช้เวลาไม่กี่นาทีสำหรับการเดินเพื่อชมทิวทัศน์มหานครนิวยอร์กบนตึก Empire State พอใให้คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปผู้เขียนก็เดินผ่านถนน 5Ave ขึ้นมาเรื่อยๆ ผ่านสถานที่สำคัญมากมายทั้งตึกร็อกกี้เฟลเลอร์, มหาวิหารเซนต์แพททริก, หอสมุดแห่งชาติ, Trump Tower และตึกสำนักงานบริษัทชื่อดังอีกหลายแห่ง

ป้ายบอกทางว่ามาถึงถนน 5Ave 57W ซึ่งหากเดินย้อนกลับก็จะทะลุผ่าน 6Ave และมาถึง 7Ave 57W อันเป็นที่ตั้งของโรงแรม ยังเหลือเวลาอีกชั่วโมงเต็มก่อนเวลานัดหมาย ผู้เขียนตัดสินใจเดินผ่านด้านหลังโรงแรมเพื่อเดินชมบรรยากาศด้านข้างของ Central Park สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ ก่อน อาการปวดเท้าเริ่มแสดงผลจากการเดิน และแขนเริ่มล้าจากการแบกถุงใส่ของมาตลอดเวลาหลายชั่วโมง ทำให้ต้องรีบเดินกลับโรงแรม เพื่อพักผ่อนรอเวลานัดหมายในยามเย็น

สองวันถัดมาผู้เขียนใช้เวลาหมดไปกับการเดินทางข้ามรัฐเพนซิลวาเนีย และคอนเนกติกัต ร่วมกับคณะสื่อมวลชนเพื่อเข้าเยี่ยมชมสถานที่สำคัญตามคำเชิญของเจ้าภาพ กว่าจะว่างอีกครั้งก็คือช่วงวันที่สี่และห้า ซึ่งหมดไปกับการเดินเที่ยวและหาซื้อของฝากเสียส่วนใหญ่

ห้าวันที่ผ่านไปในนิวยอร์ก ผู้เขียนพบว่าเมืองนี้เดินไม่ยากอย่างที่คิด ความเป็นระเบียบของผังเมือง ทำให้คนงงทิศอย่างผู้เขียน กลับเดินไปไหนมาไหนในเมืองนี้ได้อย่างสบาย แม้จะเสี่ยงตายกับการข้ามถนนอยู่บ้างก็ตาม ที่นิวยอร์กคนส่วนใหญ่นิยมเดินฝ่าสัญญาณคนเดิน แม้จะมีสัญญาณห้ามข้ามถนนก็ตาม ต่างกับสิงคโปร์หรือบางประเทศที่ขึ้นชื่อในเรื่องการเดินเท้าเป็นอย่างยิ่ง นิวยอร์กยังเป็นเมืองที่ตึกคงจะมีสีสันน้อยที่สุดในโลก เพราะทั้งเมืองมีสีโทนเดียวกันหมด คือสีน้ำตาล ประวัติของนิวยอร์กที่ตึกถูกก่อสร้างมานานนับร้อยๆ ปี ทำให้นิวยอร์กมีมนต์ขลังจนถึงทุกวันนี้

เสียงหวอของหน่วยดับเพลิงที่ใครบางคนเล่าในภายหลังว่าเป็นหน่วยกู้ภัยไปในตัวดังทั้งวันทั้งคืน กลายเป็นสัญลักษณ์ของนิวยอร์ก พอๆ กับแท็กซี่สีเหลือง ที่ไม่ว่าไปทางไหนก็เป็นสีเหลืองชินตาไปตลอดทาง พิธีการที่ยุ่งยากในการเข้าชมสถานที่สำคัญ อาทิ ตึกสูง อาคารสำคัญ สถานที่ท่องเที่ยวชื่อดัง และการเข้าเมือง กลายเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว

คนที่เคยเดินทางมายังสหรัฐฯ แล้วหลายหนเปรยว่า นี่คือผลพวงของการหละหลวมในการตรวจสอบของสหรัฐฯ และส่งผลให้เกิดเหตุวินาศกรรมตึกเวิลด์เทรดในที่สุดนั่นเอง ผู้เขียนอำลานิวยอร์กในเย็นวันที่ห้าของทริปนี้

หลังจากที่ต้องเดินทางด้วยสายการบิน Delta สายการบินโลว์คอสอีกรายของสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะผ่านพ้นการประกาศล้มละลายก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน ด้วยทนพิษน้ำมันแพงไม่ไหว เพื่อเดินทางไปยังรัฐบอสตันเข้าเยี่ยมชมมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และสถาบันเทคโนโลยีแมสซาซูเซตส์หรือเอ็มไอที ในวันที่หก และเดินทางกลับไทยในวันที่เจ็ดอดทนอีก 17 ชั่วโมง บนเครื่องบินสายการบินเดียวกันกับขามาในวันที่ 28 กันยายน พร้อมเวลาที่ขาดหายไปอีก 11 ชั่วโมง โดยที่ผู้เขียนต้องใช้เวลา ถึง 4 วันเต็ม เพื่อเยียวยาอาการเจ็ตแล็กให้หมดไป


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.