|
ก.ล.ต.ไฟเขียวMFCตังซูคุก ดันเป็นตราสารประเภทใหม่
ผู้จัดการรายวัน(31 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ก.ล.ต.ไฟเขียวเอ็มเอฟซีตั้งกองทุน SUKUK ลงทุนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุนตามหลักศาสนาอิสลาม เดินหน้าหารือต่อกับฝ่ายวิจัย เร่งศึกษารายละเอียด กำหนดคำนิยามตราสาร SUKUK พร้อมแก้ข้อ จำกัด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ก่อนดันขึ้นเป็นตราสารประเภทใหม่ ด้านเอ็มเอฟซี คาดจะสามารถระดมทุนใน ประเทศได้ในปีหน้า ก่อนขยายตลาด สู่ต่างประเทศ โดยเฉพาะแถบตะวันออกกลาง
นายศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาด-หลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เห็นชอบให้บริษัทสามารถจัดตั้งกองทุนตราสารกึ่งหนี้กึ่งทุน ที่เน้นลงทุนในพันธบัตรและตราสารหนี้อิสลามหรือซูคุก (SUKUK) ที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาได้เรียบร้อยแล้ว หลังจากที่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการศาสนาของกองทุนอิสลามิกฟันด์ ไปก่อนหน้านี้แล้ว
โดยหลังจากนี้ บริษัทจะหารือ ร่วมกับฝ่ายวิจัยของสำนักงานก.ล.ต. เพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์ที่เป็นข้อจำกัดบางอย่างเกี่ยวกับการจัดตั้งกอง ทุนซูคุก เนื่องจากพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 นั้น ไม่ได้มีการระบุถึงตราสารซูคุกเอาไว้ อีกทั้งรูปแบบของตราสารไม่ใช่ตราสารหนี้ ถึงแม้จะมีลักษณะใกล้เคียงกัน โดยจะต้องมีการนิยามถึงความหมายของตราสารซูคุกว่ามีรายละเอียดเป็นอย่างไร ทั้งนี้ เนื่องจากเอ็มเอฟซีได้เสนอให้ก.ล.ต. พิจารณาแยกกองทุนซูคุกออกมาเป็น กองทุนใหม่อีก 1 ประเภท โดยใช้ชื่อว่า ตราสารซูคุก นอกเหนือจากกองทุน ตราสารทุน กองทุนตราสารหนี้และกองทุนตราสารอนุพันธ์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากซูคุกเป็นตราสารที่มีลักษณะเฉพาะตัว
"เราคงต้องมีนวัตกรรมการเงินใหม่ๆ ให้แก่ผู้ลงทุนทั่วๆไป เพื่อเป็นการเอื้อต่อการพัฒนาการลงทุนของประเทศและเป็นการเปิดตลาดใหม่รองรับเงินลงทุนที่จะไหลเข้ามา เพราะมีกองทุนที่เปิดโอกาสให้คนมุสลิมเข้ามาลงทุนในตราสารอื่นๆได้ นอกเหนือจากกองทุนอิสลามิกฟันด์ที่ลงทุนในหุ้นเพียงอย่างเดียว" นายศุภกรกล่าว
สำหรับกระบวนการในการพิจารณานั้น เชื่อว่า ก.ล.ต.จะดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้หรือช่วงต้นปีหน้า โดยหลังจากได้ข้อสรุปแล้ว บริษัทก็จะหาซัปพลายหรือตราสารก่อน
โดยการเข้าไปหาบริษัทที่ต้อง การจะออกหลักทรัพย์ประเภทดังกล่าว เพื่อรองรับเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนที่เอ็มเอฟซีจะจัดตั้งขึ้น โดยในเบื้องต้นจะเป็นการระดมทุนในประเทศก่อน หลังจากนั้นอาจจะนำกองทุนไปแนะนำให้ผู้ลงทุนต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบตะวันออกกลางที่ลงทุนในกองทุนประเภทนี้อยู่แล้ว
ทั้งนี้ จากการสำรวจความต้อง การ มีผู้ลงทุนสถาบันในประเทศที่เป็น อิสลามให้ความสนใจกองทุนดังกล่าวพอสมควร เช่น ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สหกรณ์ที่เป็นของชาวมุสลิม เป็นต้น รวมถึงผู้ลงทุนรายย่อย ที่สนใจลงทุนด้วย ซึ่งสัดส่วนของชาวมุสลิมปัจจุบันประชากรประมาณ 6% ของประชากรทั้งประเทศ
"เราต้องตั้งกองทุนในประเทศให้มีตัวตนก่อน แล้วค่อยเอาไปเสนอให้นักลงทุนต่างประเทศ เพื่อดึงเงินลง ทุนเข้ามา โดยเฉพาะในแถบตะวัน ออกกลางที่ต้องการแสวงหาการลงทุน ใหม่ๆ ซึ่งนักลงทุนเหล่านี้มีเงินลงทุนสูง จากการขายน้ำมันอยู่แล้ว" นายศุภกร กล่าว
สำหรับประเภทของหลักทรัพย์ที่เข้าข่ายเป็นตราสารซูคุกนั้น จะคล้าย กับการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ (ซีเคียวริไทเซชัน) คือการนำค่าเช่า หรือรายได้อื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคตมา แปลงตราสารทางการเงิน ซึ่งเป็นไปได้ ทั้งการจัดตั้งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์) เครื่องมือแพทย์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์สำนักงาน ค่าเช่าอาคารหรือที่ดิน เป็นต้น โดยในส่วนของผลตอบ แทนนั้น ก็จะอยู่ในอัตราที่ใกล้เคียงกับตราสารแต่ละประเภทที่กองทุนเข้า ไปลงทุน เช่น พร็อพเพอร์ตี้ฟันด์ ที่ให้ ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 7-8% กองทุนก็น่าจะให้ผลตอบแทนในระดับที่ใกล้เคียงกันด้วย
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|