โรดแมพเอฟทีเอใกล้คลอด ช่วยกลุ่มทุนไทยลุยตลาดคู่ค้า


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ผู้แทนการค้าไทย เตรียมทำโรดแมพ เอฟทีเอ ช่วยนักลงทุนไทยที่จะผลิตและขายสินค้าได้ตรงตามความต้องการของประเทศคู่ค้า ขณะเดียวกันศึกษาหาช่องทางตลาดใหม่ ๆ พร้อมทั้งหาช่องทางใช้ประเทศคู่ค้าเปิดตลาดสู่ประเทศใกล้เคียง ชี้อินเดียน่าสนใจอันดับหนึ่ง ทั้งธุรกิจคอมพิวเตอร์ ไอที และรับเหมาก่อสร้างกำลังพุ่งแรง !

หลังจากที่ไทยได้เจราจาทำเขตการค้าเสรี (FTA) 8 ประเทศ 2 เขตเศรษฐกิจ ต่างมีเสียงสะท้อนตามมาอีกหลายประเด็นเรื่องการทำเอฟทีเอ กับประเทศต่างๆ จึงทำให้กระทรวงพาณิชย์กำลังรวบรวมข้อมูลทำ Road Map เพื่อเป็นกรอบแนวทางให้ภาคเอกชนเดินตามเส้นทางเอฟทีเอ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานบรรลุประโยชน์จากข้อสัญญามากที่สุด

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร ผู้แทนการค้าไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการส่งเสริมการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ได้กล่าวกับผู้จัดการรายสัปดาห์ว่า ตอนนี้กำลังเร่งทำแผนRoad Map เพื่อเป็นแผนการลงทุนของนักธุรกิจไทยในการหาช่องทางการค้าและการลงทุนใน 8 ประเทศที่ไทยไปทำข้อตกลง เอฟทีเอด้วยโดยโรดแมพที่จะเกิดขึ้นนี้เป็นการประมวลเพื่อหาช่องทางโอกาสให้กับนักธุรกิจไทย โดยจะมีในรูปแบบข้อมูลทั่วไปและข้อมูลเฉพาะด้านการทำธุรกิจ

Data Base ช่วยนักลงทุน

ในการจัดทำข้อมูลนั้น จะมีการแบ่งสองแบบคือการหาข้อมูลตลาดที่ทำเอฟทีเอและการดูแลข้อกำหนดการกีดกันทางการค้าในรูปแบบที่ไม่ใช่ภาษี ในด้านการตลาดนั้น ทางองค์กรจะมองว่ายังมีสินค้าอะไรที่แต่ละประเทศต้องการเป็นอย่างมาก และการดูข้อสัญญาข้อห้ามสินค้าต่างๆเอฟทีเอของแต่ละประเทศเพื่อนำมาปรับใช้ให้กับผู้ผลิตแต่ละภาคการผลิต และ นั้นคือการเข้าไปดูแลให้ข้อมูลด้านข้อกำหนดที่ถูกต้องแก่นักลงทุนในทางปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบแผนชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะนอกจากภาษีแล้วแต่ละประเทศก็มีข้อกีดกันทางการค้าที่แตกต่างกันไป ซึ่งเป็นหน้าที่ของความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบเอฟทีเอจะต้องเป็นผู้ดูแลให้นักธุรกิจไทยทราบและเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์

หากเป็นสินค้าเกษตร จะมีการประสานกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าการเกษตรให้ได้มาตรฐานแต่และประเทศ เช่นจะเน้นประเทศที่ให้มาร์จินทางการเกษตรที่สูงอย่าง ญี่ปุ่น ก่อน แม้จีนจะมีความต้องการที่สูงมากกว่า แต่ก็เป็นตลาดคนละเซ็กเม้นท์กับญี่ปุ่นที่ต้องการมาตรฐานที่สูงกว่าและเมื่อไทยมีผลผลิตที่ได้มาตรฐานที่สูงแล้วก็ง่สยในการทำตลาดในประเทศอื่นๆ

" ญี่ปุ่น เขามีความต้องการผักและผลไม้ไทยมาก แต่เขาจะมีมาตรฐานสินค้าของเขาที่แตกต่างไปจากประเทศอื่น เราต้องอินฟอร์มให้ผู้ค้าทราบและปรับตัวให้ทันเพื่อได้ประโยชน์จากการทำเอฟทีเอมากที่สุด"

หาตลาดผ่าน เปรู& บาห์เรน เพิ่ม

นอกจากการทำข้อมูลให้กับนักลงทุนแล้ว ดร.ปานปรีย์ยังเตรียมการหาตลาดใหม่ๆให้กับนักลงทุนไทยด้วย เช่นการเข้าไปสำรวจตลาดในประเทศต่างๆเพื่อดูความต้องการสินค้าของผู้คนในประเทศนั้น และมีสินค้าอะไรบางที่มีความต้องการสูงแต่ไทยยังไม่ได้เข้าไปทำตลาด ตรงจุดนี้จะเป็นการสร้างตลาดให้ผู้ค้าไทยมีโอกาสในการทำตลาดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดีตลาดใหม่ๆอย่าง บาห์เรน และ เปรู แม้ว่าจะเป็นตลาดใหม่และไม่ค่อยมีผู้ค้าไทยมากนัก แต่จะเป็นโอกาสให้กับนักลงทุนไทยในอนาคต เพราะทั้งสองประเทศต่างเป็น Gate way ที่จะเข้าสู่แต่ละภูมิภาค เช่นบาห์เรนจะเป็น Gate way เข้าสู่ ภูมิภาคตะวันออกกลาง เปรู เข้าสู่อเมริกาใต้ ซึ่งทั้งสองภูมิภาคต่างกำลังพัฒนาและมีการบริโภคที่สูง จึงเป็นโอกาสของไทยที่จะเข้าไปแย่งตลาดมาให้ได้ โดยเฉพาะบริเวณตะวันออกกลางที่มีความต้องการด้านสินค้าเกษตร เป็นจุดที่น่าสนใจไม่แพ้กับบริเวณอเมริกาใต้ที่ต้องการเครื่องอุปโภคบริโภคสำเร็จรูป ตรงจุดนี้ความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบเอฟทีเอ จะช่วยหาข้อมูลและอำนวยความสะดวกให้

ขณะเดียวกันในประเทศที่บางผลิตภัณฑ์ของประเทศไทยเข้าไปในตลาดนั้นแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา หรือญี่ปุ่น แต่ทางสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนภายใต้กรอบเอฟทีเอ ได้มองเห็นว่าในตลาดเก่าสามารถหาช่องทางตลาดสินค้าใหม่ๆและมีสิทธิพิเศษทางภาษีจากข้อสัญญาเอฟทีเอ ก็จะต้องบอกกล่าวให้กับผู้ผลิตได้ทราบ การทำเช่นนี้จะทำให้เกิดปริมาณขายสินค้าได้หลากหลายขึ้น เปิดโอกาสให้กับนักลงทุนรายใหม่

"เราทำหน้าที่เหมือนทัพหน้าเข้าไปหาตลาดให้กับนักลงทุนก่อน และจะแยกข้อมูลให้อย่างเด่นชัดว่ามีข้อห้ามจุดไหน หรือพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร การที่เราแยกออกมาจะทำให้เราทำงานคล่องตัวมากยิ่งขึ้น"

บุกขายคอมพิวเตอร์อินเดีย

นอกจากนี้จะต้องสร้างประโยชน์จากข้อสัญญาเอฟทีเอกับประเทศต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นช่องทางลดต้นทุนการผลิตให้กับไทยได้ในอนาคต

" เมื่อไทยทำข้อตกลงเอฟทีเอกับญี่ปุ่น ให้ลดภาษีชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ไทยก็อาจจะเลือกส่งเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ผ่านเทรดเดอร์ญี่ปุ่นเพื่อส่งต่อไปอินเดียอีกทอด เมื่อไทยไม่มีกำแพงภาษีแล้ว ยังได้มูลค่าการตลาดที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งการศึกษากำลังดำเนินการอยู่เพื่อหาเส้นทางที่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ค้าและนักลงทุนไทย คาดว่าจะชัดเจนยิ่งขึ้นในอีกไม่ช้า"

ดร.ปานปรีย์ ระบุว่า ตลาดที่น่าสนใจสำหรับนักธุรกิจไทยในทุกภาคการผลิตก็คือประเทศอินเดีย เพราะขณะนี้อินเดียมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สูง และสูงยิ่งกว่าประเทศจีน

"จีนเป็นแค่ฐานการผลิต แต่อินเดียมีความเด่นที่เป็นผู้ผลิตด้านคอมพิวเตอร์ มีความรู้และการวิจัยมากกว่าจีน ซึ่งลูกค้าจีนและอินเดียก็แตกต่างกัน ขณะที่อินเดียต้องเร่งพัฒนาประเทศ ทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาศักยภาพของคนในประเทศ"

อย่างไรก็ดีการพัฒนาคุณภาพคนในประเทศนั้น อินเดียกำลังเร่งพัฒนาขีดความสามารถของคนในด้านไอที ซึ่งเขาต้องใช้คอมพวิเตอร์ราคาถูกเป็นจำนวนมากเพื่อกระจายไปยังชนบททั่วอินเดีย คาดว่าจะต้องมีความต้องการคอมพิวเตอร์อย่างมากในอินเดีย จึงเป็นโอกาสของผู้ผลิตไทยน่าจะเข้าไปชิงเค้กก้อนใหญ่ก้อนนี้ได้ คาดว่าจะมีความต้องการเป็นจำนวนหลายสิบล้านเครื่องเป็นมูลค่ากว่าหลายพันล้านบาท

นอกจากนั้นไอทีในด้านอื่นเช่น จานดาวเทียมและโทรศัพท์เคลื่อนที่กำลังจะเป็นที่ต้องการของประชาชนอินเดียในอนาคต เพราะอินเดียยังไม่สามารถลงทุนโทรศัพท์พื้นฐานในประเทศได้ทันทีเพราะอินเดียมีพื้นที่ชนบทอยู่เป็นจำนวนมาก การที่จะเพิ่มช่องทางการสื่อสารให้มากขึ้นโดยเสียค่าใช้จ่ายน้อยก็คือการให้ประชาชนในประเทศมีโทรศัพท์มือถือใช้ ซึ่งอุปกรณ์ไอทีเหล่านี้ต่างเป็นเค้กก้อนใหญ่ของผู้ค้าไทยที่ต้องการจะเข้าไปเปิดตลาดที่นี่

ลงทุนรับเหมาก่อสร้าง

ด้านการลงทุนที่อินเดียยังเป็นสิ่งที่ดึงดูดผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ถือเป็นโอกาสทองที่มีมูลค่าหลายพันล้านบาทสำหรับผู้รับเหมาไทย เพราะอินเดียต้องการจะพัฒนาประเทศโดยเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็น ถนน เขื่อน และตึกสูง เชื่อได้ว่าอินเดียยังต้องการผู้รับเหมาต่างประเทศเข้าไปซับงานตรงจุดนี้

ขณะนี้มีบริษัทรับเหมาไทยที่เข้าไปรับงานจากอินเดียแล้วคือ บริษัทอิตาเลี่ยนไทย จำกัด (มหาชน) แต่คาดว่ายังมีความต้องการในตลาดเหลือมากพอให้รายเล็กเข้าไปรับช่วงงานต่อได้ แต่สิ่งที่ควรตะหนักคือผู้รับเหมาไทยควรมีพันธมิตรที่เป็นคนในท้องถิ่นเพื่อความสะดวกในข้อกฏหมายการก่อสร้างอาคารในแต่ละพื้นที่ อีกทั้งรับทราบพฤติกรรมผู้บริโภคที่ถูกต้องจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการเอกชนอย่างยิ่ง


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.