"กองทุนMFC"จัดทัพรบนอกบ้าน ทิ้งคัมภีร์"MSCI"แลกผลตอบแทนตลาดเกิดใหม่


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

กองทุนลงทุนในต่างประเทศ (FIF) ของ "บลจ.เอ็มเอฟซี" ที่เคลื่อนทัพออกรบนอกบ้านก่อนหน้านั้น 2 กอง ถือเป็นการส่งเงินไปขนเอาเงินตราต่างประเทศเข้าบ้านที่ไม่ค่อยหวือหวาสักเท่าไร หากเทียบกับกองใหม่ "กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล อัลฟ่า ฟันด์" หรือ "เอ็มจีเอ" ที่คาดกันว่าจะมีโอกาสสร้างผลตอบแทนเหนือเบนช์มาร์กคือ "ดัชนี เอ็มเอสซีไอ"ที่เปรียบเหมือน "คัมภีร์" ลงทุนนอกประเทศ สำหรับนักลงทุนประเทศต่างๆ

กองทุน FIF กองแรกที่เปิดตัวไปก่อนนั้น คือ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล อควิตี้ ฟันด์หรือ เอ็มจีอี ที่ลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลก มูลค่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ ปีที่ผ่านมาได้ผลตอบแทนถึง 12%

ขณะที่อีกกอง กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี โกลบอล ออพพอร์ทูนิตี้ ฟันด์หรือ เอ็มจีบี ที่เลือกลงทุนในตราสารหนี้รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ มูลค่า 25 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้ผลตอบแทน 6-7% และปีนี้ก็จ่ายเงินปันผลไปแล้ว 2 ครั้ง ครั้งละ 2.5%

ส่วนกองใหม่ประเมินกันว่า ผลตอบแทนอาจมากถึง 15% โดยวัดจากแบบจำลอง ที่นำเอาตัวเลขสถิติการลงทุนในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก ทั้งแถบละตินอเมริกา ยุโรปและเอเชียแปซิฟิกมาเทียบกัน

กองทุน "เอ็มจีเอ" ที่ดูเหมือนเป็นการเตรียมตัวเคลื่อนทัพออกรบนอกประเทศครั้งนี้ จะต่างจากกองทุน 2 กองแรก คือเลือกลงทุนในหน่วยลงทุนของกองทุนหุ้นระดับโลก โดยมีมูลค่าวงเงิน 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะเปิดขายหน่วยลงทุนระหว่างวันที่ 27 ตุลาคมถึง 11 พฤศจิกายน 2548 นี้ ที่มูลค่าขั้นต่ำการสั่งซื้อครั้งแรก 1 หมื่นบาท

ที่ต่างเพิ่มขึ้นไปอีกก็คือ ได้เลือกให้ "สมิธ บรานีย์" สถาบันการเงินระดับต้นๆของโลก ช่วยคัดเลือกกองทุนกว่า 2-3 พัน กองทุนในแต่ละกลุ่มประเทศมาให้ "กองทุนเอ็มจีเอ" เลือกลงทุน โดยสมิธบรานีย์เป็นคนจัดเรทติ้ง ส่งป้อนข้อมูลให้ จากนั้นทีมทำงานฝ่ายวิจัยการลงทุนต่างประเทศของบลจ.เอ็มเอฟซีจะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกลงทุน

สมิธ บรานีย์ ปัจจุบันมีทรัพย์สินภายใต้การบริหาร 233 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมีเค้กก้อนใหญ่ในธุรกิจให้คำปรึกษาการลงทุนสูงถึง 28%

แต่ที่ต่างจากกองทุนอื่นอย่างเห็นได้ชัดก็คือ กองทุนนี้จะไม่เกาะดัชนีเอ็มเอสซีไอ ที่เปรียบเสมือน"คัมภีร์การลงทุน" ที่ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกต้องพกติดตัวเป็นประจำ

ถ้าจะให้ภาพชัดเจนขึ้น อาจเทียบดูได้จาก "กองทุนเอ็มจีอี" ที่เกาะติดดัชนีเอ็มเอสซีไอ ชนิดไปไหนไปกัน เช่น ถ้าบังเอิญเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่าง 9-11 ผู้จัดการกองทุนจะเคลื่อนย้ายเงินสดไปไหนไม่ได้ ถึงแม้จะมีข้อดีคือระยะยาวผลตอบแทนค่อนข้างมั่นคง เพราะผู้เขียนดัชนีเลือกหุ้นไว้ในรายการ เป็นหุ้นบลูชิพเสียเป็นส่วนใหญ่

ตรงกันข้ามกองทุน“กองทุนเปิดเอ็มจีเอ” จะคล่องตัวกว่า เวลามีเหตุการณ์หนักๆไม่คาดฝัน ผู้จัดการกองทุนก็สามารถหันมากำเงินสดและโยกการลงทุนออกมาจากดัชนีเอ็มเอสซีไอได้

"ดูจากแบบจำลองการลงทุนจะพบว่า การลงทุนไปทั่วโลกผลตอบแทนอาจไม่หวือหวา 50 หรือ100% แต่โอกาสขาดทุนก็น้อย”

ศุภกร สุนทรกิจ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็มเอฟซี (MFC)แสดงแบบจำลองการทำดัชนี เอ็มเอฟซี ในหลายรูปแบบโดยเน้นพุ่งลูกศรไปที่ตลาดเกิดใหม่ในแต่ละกลุ่มประเทศ เช่น ในละตินอเมริกา อย่างบราซิล ชิลี อาเจนติน่า ที่พบว่าช่วง 2 ปีก่อนตลาดค่อนข้างบูม ไม่ต่างจากในยุโรป อาทิ รัสเซีย ฮังการี และสาธารณรัฐเช็ค ที่ราคาปรับตัวแรงมาก ขณะที่สหรัฐอเมริกาตลาดแทบไม่เคลื่อนไหว แต่ปีหน้าตลาดอเมริกากลับน่าสนใจ

ปีนี้ ตลาดละตินอเมริกาให้ผลตอบแทน 26% ตลาดเกิดใหม่ในยุโรป ก็ขยับสูงถึง 50.4%ส่วนอเมริกานิ่งอยู่ที่ 2.7%

ศุภกร บอกว่า ตลาดหุ้นทั่วโลกมีไดนามิก และภาวะตลาดหุ้นแต่ละภูมิภาคก็แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง บางประเทศเช่นสหรัฐอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเหมือนกับบ้านเรา แต่บางประเทศที่ภาวะเศรษฐกิจไม่ดีต้องหยุดอัตราดอกเบี้ยเอาไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดังนั้นจึงเป็นภาวะที่ทำนายได้ลำบาก เพราะถึงแม้ตลาดหุ้นใหญ่อย่างสหรัฐ ก็ยังแบ่งเป็นหุ้นเล็กและหุ้นใหญ่ ที่มีผลตอบแทนจากการลงทุนต่างกัน หุ้นโกรธ์ หรือหุ้นแวลู ก็จะเคลื่อนไหวต่างกัน

" การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีจึงอยู่ที่เลือกลงทุนได้ถูกจังหวะเวลา บางปีหุ้นดอทคอมบูมหุ้นโกรธ์ ก็จะเอาท์เพอร์ฟอร์ม แต่ถ้าลงทุนถูกไทม์มิ่ง รู้เทรนด์ ก็สามารถสร้างแวลูได้”

รูปแบบการลงทุนของ "กองทุนเปิดเอ็มจีเอ" จึงเน้นการเทน้ำหนักไปที่ "รีจีนัล โลเคชั่น"และไม่ลงทุนแบบ "ฟลูลี่ อินเวสเมนต์" ขณะเดียวกันก็ทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ต้นทุนไม่มาก เพื่อแลกกับการแกว่งตัวของผลตอบแทนให้น้อยลง

ศุภกร อธิบายว่า ต้นทุนการทำประกันความเสี่ยงจะเป็นเปอร์เซ็นต์ค่าใช้จ่ายไม่มาก หากเทียบกับการทำกำไรจากการลงทุนสูงๆแล้วมาหักออกจากความผันผวนที่เหวี่ยงขึ้นลงแรงๆ

ขณะเดียวกันการทำเฮดจิ้งหรือประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนก็ไม่ได้ทำตลอดเวลา ต้นทุนที่เสียไปจึงคุ้มกับการพยายามรักษาไม่ให้ผลตอบแทนร่วงลงแรงๆในช่วงที่คาดคะเนภาวะเศรษฐกิจในแต่ละประเทศไม่ง่ายนัก ผสมโรงกับอัตราดอกเบี้ยที่ขยับขึ้นมาปราบเงินเฟ้อ การลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงๆจึงคลำทางได้ลำบาก

โอกาสที่จะเรียนรู้การลงทุนในตลาดระดับโลก จึงอยู่ใกล้แค่เอื้อม นับตั้งแต่เทคโนโลยีข่าวสารเปิดพรมแดนการค้า เพียงแต่ต้องท่องจำให้ขึ้นใจว่า อยู่เสมอว่า "

การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง"!!!...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.