|
"ทิสโก้"ซมพิษดอกเบี้ยไต่ระดับ "นิช แบงกิ้ง"โก้ เท่ แต่"ลำบาก"
ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 ตุลาคม 2548)
กลับสู่หน้าหลัก
ถ้าจับเอาบทวิเคราะห์ภาพรวมอุตสาหกรรมแบงก์ทั้งระบบในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้มาดูให้ถ้วนถี่ ก็จะพบว่า แบงก์เก่ารายใหญ่ๆทั้งหลายเริ่มจะเห็นแสงสว่างเจิดจ้า จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เริ่มจะถ่างออก ดอกเบี้ยฝั่งเงินกู้นั้นวิ่งขึ้นเร็ว ส่วนอีกด้านดอกเบี้ยเงินฝาก โดยเฉพาะออมทรัพย์ที่มีต้นทุนราว 50-60% กลับจอดแน่นิ่งไม่เคลื่อนไหว เพียงแค่นี้แบงก์ใหม่ ที่เพิ่งเลื่อนฐานะตัวเองจากไฟแนนซ์ก็เริ่มรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ไม่เว้นแม้แต่ "ทิสโก้" แบงก์น้องใหม่ ที่มีพอร์ตเช่าซื้อรถยนต์อยู่ในมือสัดส่วนสูงถึง 95%...
ถ้าเป็นสมัยที่ดอกเบี้ยต่ำเตี้ยเลี่ยพื้น โอกาสอาจจะตกอยู่กับแบงก์หน้าใหม่เหล่านี้ แต่พอถึงคราวที่ดอกเบี้ยถูกแรงกดดันให้ต้องวิ่งขึ้น โอกาสที่มีอยู่ก็กำลังจะเลือนหาย
แบงก์หน้าใหม่ๆ ที่ขยับตัวเองจากไฟแนนซ์ ส่วนใหญ่กำพอร์ตเช่าซื้อรถยนต์ไว้ไม่น้อย ไม่ว่า ธนชาต เกียรตินาคิน รวมถึงทิสโก้ ทั้งหมดตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกันคือ พอดอกเบี้ยโงหัวขึ้นธุรกิจเช่าซื้อก็ชะลอตัว เพราะยอดขายรถยนต์ไม่เดินไปตามคาด รายได้อาจยังโตอยู่ แต่อัตราการขยายตัวกลับเชื่องช้า
"แบงก์ใหม่กับ แบงก์เก่า ฐานรายได้ต่างกัน เพราะโครงสร้างธุรกิจแตกต่างกัน” ปลิว มังกรกนก ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารทิสโก้ เปรียบเปรยด้วยสีหน้าไม่สู้ดีนัก
ที่เห็นชัดเจนน่าจะเป็นเรื่องต้นทุนและการปล่อยกู้ ที่ดูได้จากช่วงที่ดอกเบี้ยอยู่ในทิศทางขาขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้จะขยับขึ้นตลอดเวลา ส่วนดอกเบี้ยเงินฝากโดยเฉพาะออมทรัพย์ที่มีต้นทุนสูงราว 50-60% กลับนอนนิ่ง
แบงก์เก่าจึงได้ประโยชน์จากส่วนต่างที่ถ่างกว้างขึ้น บวกกับการปล่อยกู้สั้น จากดอกเบี้ย MLR และMOR ก็ทำให้ได้เปรียบ เมื่อเทียบกับแบงก์ใหม่ที่นำเงินไปปล่อยกู้เช่าซื้อด้วยระยะเวลายาวกว่ามาก
" เทรนด์มาร์จิ้นช่วงนี้ อาจยากสักหน่อย” ปลิว เล่าถึง รายได้ที่จะเข้ามาในเวลาที่ดอกเบี้ยหันเหทิศทาง
ในจังหวะที่ดอกเบี้ยดิ่งหัวลงแตะพื้น ธุรกิจเช่าซื้อ ที่มีสัดส่วนในพอร์ตสูงสุดอาจได้ประโยชน์ไปเต็มเม็ดเต็มหน่วย มาร์จิ้นก็มากตาม แต่หลังจากดอกเบี้ยถีบตัวสูงเพราะแรงบีบคั้นรอบด้าน ผู้เคยยืนแท่นแชมป์ก็ถึงคราวลำบาก
ปลิว ยังยืนยันในหลักการ "นิช แบงกิ้ง" ธนาคารเฉพาะทางที่เชี่ยวชาญและช่ำชอง ในแนวทางถนัด โดยเฉพาะรายได้ที่เคยเก็บกวาดจากพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ซึ่งทำให้ทิสโก้เป็นที่รู้จักกว้างขวาง
ความเป็น "นิช” นอกจาก โก้ เท่ มีธุรกิจที่ชำนาญ ทำให้มีกำไร แต่ถึงจุดหนึ่ง คู่แข่งกระโจนเข้ามาเต็มสนาม ก็กลายเป็นการจุดชนวนให้เกิด "สงครามราคา” ได้เหมือนกัน
จุดเด่นของ "นิช” อยู่ที่ความเชี่ยวชาญก็จริง แต่จุดอ่อนก็มีอยู่ คือ การรักษาแชมป์ ไม่ให้ใครเลียนแบบได้ง่ายๆ ดังนั้นการรักษาแท่นผู้นำจึงกลายเป็นเรื่องลำบาก เพราะในขณะที่แบงก์เก่ารายใหญ่เริ่มได้ใจ หันมาให้ความสำคัญกับพอร์ตเช่าซื้อมากขึ้น ทั้งแบงก์เก่าและน้องใหม่ก็ตั้งหน้าตั้งตาเปิดสงครามช่วงชิงลูกค้ากันใหญ่
ปลิว บอกว่า แบงก์เก่ารายได้ดีตรงที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยขยายกว้างแต่ในขณะที่การรุกเข้าสู่ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ยังคิดเป็นเพียงแค่ 1% ภายหลังเริ่มดำเนินธุรกิจ "ธนาคารทิสโก้” มาตั้งแต่1 กรกฎาคม 2548 ทิสโก้ยังคงเลือกแนวทาง"นิชแบงกิ้ง" ที่เปิดรับลูกค้ารายใหญ่ในกลุ่มพาณิชย์กรรมและอุตสาหกรรมการผลิตอยู่เช่นเดิม ถึงแม้สัดส่วนของพอร์ตจะไม่สูงเท่าเช่าซื้อ เหตุนี้เองที่ทำให้การขยายสาขาเป็นไปแบบค่อยเป็นค่อยๆ ไม่หวือหวาเหมือนธนาคารธนชาต ที่ประกาศปูพรมรวดเดียว 100 สาขา
ปลิว บอกว่า สาขาอาจจำเป็นสำหรับลูกค้ารายย่อย เพื่อความสะดวกในการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเมื่อมีลูกค้ารายย่อยปริมาณมาก ก็ต้องเปิดสาขาให้มาก ยิ่งเร็วก็ยิ่งดี แต่มุมมองทิสโก้เห็นว่า รูปแบบ "นิชแบงกิ้ง” ที่ให้ความสำคัญกับลูกค้ารายใหญ่ การขยายสาขาอย่างรวดเร็วจึงไม่จำเป็น เว้นแต่เมืองรอบนอกที่อาจนำร่องสาขาอิเลคทรอนิคส์ ขณะที่ปัจจุบันมีอยู่เพียง 14 สาขา
" ลูกค้าเรามีทั้งหมด 4-5 พันราย โดยเป็นรายใหญ่ค่อนข้างมาก ดูจากบัญชีเงินฝากทั้งหมดที่มีอยู่มูลค่า 4.8 หมื่นล้านบาท เป็นลูกค้ารายใหญ่เฉลี่ยบัญชีละ 10 ล้านบาท ส่วนแบงก์เก่าจะมีลูกค้ารีเทลหรือรายย่อยปริมาณมากกว่า”
อย่างไรก็ตาม ภายหลังตั้งแบงก์ตัวเลขบัญชีเงินฝากก็วิ่งเข้ามามาก จนสภาพคล่องส่วนเกินเหลืออยู่มาก เหมือนกับแบงก์เก่าทั่วไปที่ยังประสบปัญหาสภาพคล่องส่วนเกินล้น อย่างไรก็ตาม 9 เดือนที่ผ่านมาการขยายตัวสินเชื่อไม่ว่า เช่าซื้อรถยนต์และสินเชื่อบริษัทก็ยังสูงระดับ 6 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อเช่าเช่าซื้อรถยนต์ 4.3 หมื่นล้านบาท
ปลิวบอกว่า ขึ้นชื่อว่า "นิช แบงกิ้ง"แต่ความจริงบทบาทของไฟแนนซ์ในอดีตกลับมีความเป็นยูนิเวอร์แซล แบงกิ้ง พอๆกับแบงก์เก่าที่ประกาศโครงสร้างธุรกิจครอบคลุมธุรกิจทุกประเภท นั่นคือ ไฟแนนซ์สมัยก่อนอาจสเกลไม่ใหญ่ ไม่มีเช็คกิ้ง แอคเคาท์ ไม่มีสาขาไว้นำเสนอสินค้า
แต่หากพูดถึงบทบาทการให้บริการกลับครบวงจรยิ่งกว่า ยูนิเวอร์แซล แบงกิ้งในปัจจุบันเสียอีก เพราะไฟแนนซ์ทำธุรกรรมได้เกือบทั้งหมด ยกเว้นอย่างเดียวคือ ไม่มีไลเซนส์ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เท่านั้นเอง ฉะนั้น ก็อย่าได้ดูแคลน "แบงก์ใหม่” ที่ดูยังไงก็ไรพิษสง เพราะหลังจากตั้งหลักได้ เราเจ้าของเงินออมหรือลูกค้าธนาคารเหล่านี้ ก็อาจจะได้เห็นการเปิดศึกที่เรียกว่า "เอาคืนบ้าง” จากสงครามช่วงชิงฐานลูกค้าในอนาคต ก็เป็นได้...
กลับสู่หน้าหลัก
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย
(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.
|