"เคทีซี"เครียดต้นทุนระดมทุนพุ่ง เจ้าของบัตรเตรียมรับมือดอกเบี้ยวิ่ง


ผู้จัดการรายสัปดาห์(28 ตุลาคม 2548)



กลับสู่หน้าหลัก

ชั่วโมงที่เงินเฟ้อกระโดดสูง การฉีด "ยาขม" เพื่อสยบเงินเฟ้อ โดยการออกแรงบีบให้ธนาคารต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นัยหนึ่งเพื่อดูดซับเงินออม เป็นการช่วยชีวิตเจ้าของเงินฝาก แต่อีกมุมหนึ่งกราฟที่วิ่งขึ้นของอัตราดอกเบี้ยก็กำลังกลายเป็น "ยาพิษ" สำหรับภาคธุรกิจที่พึ่งพาเม็ดเงินจากการกู้เงินหรือระดมทุนมาขยายธุรกิจ เหมือนที่กำลังจะเกิดกับ "บัตรเครดิต"...

เจ้าของแบรนด์บัตรเครดิตหลายเจ้า มีอาการทุกข์ร้อนราวกับนัดหมายกันไว้เพียงเพราะดอกเบี้ยที่ค่อยๆเลื่อนขึ้นทั้งจากแรงส่งนอกประเทศ และในประเทศ

" เราอาจจะเห็นดอกเบี้ยจากการระดมทุนถึง 6% เร็วๆนี้ เพราะภาครัฐต้องรีบดันให้ดอกเบี้ยขึ้นเร็วที่สุด ขณะที่การดูดซับสภาพคล่องผ่านเครื่องมือระดมทุนก็ดูดซับได้กว่าแสนล้านบาทแล้ว”

นิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (เคทีซี) อธิบายถึง ภัยที่กำลังรุกคืบเข้ามาในรูปของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ที่เริ่มจะเห็นปัญหาผ่านต้นทุน ค่าใช้จ่ายที่พอกพูนขึ้น ในขณะที่เพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตยังถูกกดทับไว้เสียแน่น

ตามความเข้าใจของนิวัตต์ ธุรกิจบัตรเครดิตจัดเป็นสินค้าที่ต้องแกร่งและมีการสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้า แต่ถึงอย่างนั้นบัตรเครดิตก็ไม่มี "รอยัลตี้” หรือ ความจงรักภักดีต่อสินค้า บวกกับสนามแข่งขันรุนแรง และมีผู้ประกอบการที่แข็งแรงกระจายอยู่เต็มพื้นที และในทุกๆที่ ก็มี "กองทัพ" ขนาดมหึมาที่แข็งแกร่งเบอร์หนึ่ง และเบอร์สองของโลกรวมอยู่ด้วย

"ไม่เหมือนกับธุรกิจชาเขียว" นิวัตต์บอกว่า ชาเขียวยังมีทางหนีทีไล่ และหาทางออกได้ โดยการปรับสายผลิตภัณฑ์ แต่บัตรเครดิตได้กลายเป็นสินค้าพื้นฐานหรือ "คอมมอนิตี้" ที่มีต้นทุนกระทบโดยตรงคือ ดอกเบี้ย

เมื่อดอกเบี้ยค่อยๆเลื่อนขึ้น แบงก์ที่รับฝากเงินก็ต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยคิดเหมารวมต้นทุนด้านการหาเงินฝากและค่าใช้จ่ายสาขาเป็นต้นทุนเงินฝาก พูดง่ายๆก็คือ ค่าใช้จ่ายสาขาอยู่ที่เงินฝาก

"การทำธุรกิจบัตรเครดิตไม่ใช่ธุรกิจผิดกฎหมาย แต่เรายังเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นก็ควรกำหนดกฎระเบียบการปฎิบัติให้ชัดเจนด้วย”

นิวัตต์ ตัดพ้อเพราะ การปรับขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้ง เพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตยังไม่เคลื่อนไหว ขณะที่ภาครัฐก็ยังไม่มีหลักเกณฑ์ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตได้อย่างไร

ดอกเบี้ยที่ไต่ขึ้นแต่ละขยัก จึงกลายเป็นภัยที่คุกคามธุรกิจบัตรเครดิต จากการผลักให้ต้นทุนการดำเนินงานวิ่งเร็วขึ้น โดยเฉพาะหากมองจากแหล่งเงินทุนที่ไม่สมดุลกัน ในขณะที่การระดมทุนของธุรกิจคิดดอกเบี้ยลอยตัว แต่เพดานดอกเบี้ยบัตรเครดิตกลับถูกฟิกซ์ตายตัว

ขณะที่ในสนามแข่งขันกลับยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ครั้นจะจับมือกันเพื่อให้หยุดแข่งขันก็คงทำไม่ได้ตรงกันข้ามหลายบริษัทอาศัยจังหวะนี้ระเบิดแคมเปญถล่มคู่แข่ง ทั้ง การลด แลก แจก แถม ด้วยการหว่านงบส่งเสริมการขายไม่ขาดสาย

" การประกาศปรับดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตรหรือ อาร์พีอีก 0.5% จึงกดดันให้การทำงานต้องระวังด้านค่าใช้จ่าย แต่ไม่ขาดสภาพแข่งขัน เขาแจกทอง แจกรถได้ เราก็ต้องแจก ไม่งั้นสู้ไม่ได้”

นิวัตต์ ประเมินว่า ปีหน้าธุรกิจยังจะเป็นไปตามสภาพ จึงไม่อยากบุกแบบสุ่มสี่สุ่มห้า แต่จะขอดูตลาดในช่วง 2-3 เดือนที่จะถึงนี้ก่อน
ที่น่าห่วงจึงไม่ใช่เรื่องอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้นเท่านั้น นิวัตต์ บอกว่า ห่วงเรื่องสภาพคล่องที่ภาครัฐเร่งดูดกันไปเยอะแล้วมากกว่า ขณะเดียวกันการจะระดมทุนด้วยการออกหุ้นกู้ก็อาจเกี่ยงเรื่องดอกเบี้ยไม่ได้ แต่ที่กังวลอย่างมากคือ ถ้าเกิดออกหุ้นกู้มา จะขายได้หรือเปล่าเท่านั้น เพราะเงินถูกสูบเอาไปมากแล้ว

" ตอนนี้ตลาดต้องการดอกเบี้ยระดับ 6% แล้ว”

สิ่งที่กังวลไล่หลังตามมาก็คือ ภาคธุรกิจขนาดกลางและสูงจะถูกบีบให้ต้องกู้เงินจากธนาคารเพราะการออกหุ้นกู้ถูกบังคับให้ต้องจัดอันดับเครดิต หรือ "เรทติ้ง" นอกจากนั้นภาครัฐก็ต้องการนำเงินประชาชนไปปล่อยกู้โครงการใหญ่ การจะออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนในช่วงนี้สำหรับนิวัตต์จึงต้องเฝ้าจับตาดู และที่ขาดไม่ได้คือการสำรวจสภาพตลาด รวมถึงสภาพคล่อง

" ถ้าประกาศไปว่าจะออกหุ้นกู้ 5 พันล้าน แต่ขายได้ 800 ล้าน ก็เจ๊งเลยนะ...เราจึงต้องดูก่อนว่าจะระดมทุนมากแค่ไหน และคิดอัตราดอกเบี้ยเท่าไรตลาดจึงจะรับได้ " พอร์ตทั้งหมดสิ้นปีนี้ เคทีซีมีทรัพย์สินอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท และก่อนหน้านั้นได้ยื่นขอระดมทุนโดยการออกหุ้นก็ไปหลายพันล้าน จึงต้องค่อยๆทยอยออก ช่วงนี้จึงเป็นเวลาสำรวจตลาดและทำเครดิตเรทติ้ง

" สภาพตลาด ถ้ามีคนซื้อ เราก็อยากจะออกตราสารทั้งนั้น แต่ตอนนี้ถ้าออกไป เชื่อว่าต้องเห็นตัวเลขดอกเบี้ย 5-6% แน่ๆ เพราะตลาดตอบรับที่ดอกเบี้ยระดับนี้ โดยดูจากพันธบัตรกองทุนน้ำมันเป็นอัตราอ้างอิง"

นิวัตต์ บอกว่า ถึงแม้ต้นทุนการระดมทุนของนอนแบงก์อย่างเคทีซีจะแพงกว่าแบงก์ แต่แบงก์ที่หันมาเล่นธุรกิจบัตรเครดิตมากขึ้น ก็มีต้นทุนสูงพอกัน จากการคิดคำนวณด้านบุคลากรและสาขา ที่โชคดีอีกอย่างคือเคทีซีมีทรัพย์สินคุณภาพดี ที่สามารถเอาไปค้ำประกันได้ ถ้าจะตัดไประดมทุนด้วยการทำ "ซีเคียวรีไทซ์”หรือการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์

" ไม่แน่ว่าจะออกพันธบัตรรุ่นใหม่ๆ อาจจะเห็นดอกเบี้ยอยู่ที่ 6-7% ก็ได้”

นิวัตต์บอกว่า ต้นทุนที่ปรับสูงตามอัตราดอกเบี้ยทำให้ต้องศึกษาการออกหุ้นกู้ โดยยึดหลัก "ไม่ปลูกข้าวตามฤดู แต่ต้องรอดูฝนที่จะเทลงมาเสียก่อน" ขณะเดียวกัน การปล่อยหมัดชุดในกิจกรรมส่งเสริมการขายเหมือนช่วงแรกๆก็คงจะไม่มีให้เห็นอีกต่อไป ช่วงนี้จึงเห็นโฆษณาผ่านสื่อของเคทีซีน้อยลง ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ พยายามรักษาเนื้อตัวเหมือน "นักมวย" ที่เต้นอยู่ 5 ยก แต่ต่อยออกไปเพียง 1 ยกเพื่อเก็บแรงไว้ชกในจังหวะที่เห็นว่าได้เปรียบ เหมือนงบส่งเสริมการขายที่เก็บตุนไว้ใช้ในช่วงสิ้นปี

" เงินอาจเท่ากัน อยู่ที่ว่าจะชกหรือปล่อยหมัดเป็นหรือเปล่า”

เสียงระฆังบนเวทีประลองกำลังของธุรกิจบัตรเครดิตกำลังจะเริ่มต้นขึ้นอีกยกหนึ่งแล้ว...ผู้พกบัตรเครดิตอยู่กับตัว เตรียมรับมือไว้หรือยัง!!!...


กลับสู่หน้าหลัก

Creative Commons License
ผลงานนี้ ใช้สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลง 3.0 ประเทศไทย



(cc) 2008 ASTVmanager Co., Ltd. Some Rights Reserved.